เช็กสิทธิ 'บัตรทอง' สปสช. ประกาศรายชื่อสถานพยาบาล 129 แห่ง ให้บริการนอกเวลา
สปสช. ประกาศรายชื่อสถานพยาบาล 129 แห่ง ที่ให้บริการนอกเวลาราชการแก่ผู้มีสิทธิ "บัตรทอง" ที่มีอาการป่วยกะทันหัน หรือเหตุจำเป็นแต่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาครัฐโดย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับปรุงบริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการการรักษาพยาบาลกรณีป่วยฉุกเฉินที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินนโยบายจัดบริการห้องฉุกเฉินคุณภาพในหน่วยบริการ ด้วยการสนับสนุนให้โรงพยาบาลจัดห้องบริการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการนอกเวลาราชการด้วยอาการเจ็บป่วยกระทันหัน หรือด้วยเหตุจำเป็นอื่นที่คัดกรองแล้วยังไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยแยกผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกจากห้องฉุกเฉินที่เป็นพื้นที่สำหรับ ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจริง ๆ
ภายใต้นโยบายจัดบริการห้องฉุกเฉินคุณภาพนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน โดยให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอาการป่วยที่มีอาการป่วยกระทันหัน หรือมีความจำเป็นที่ไปโรงพยาบาลนอกเวลาราชการ เมื่อคัดกรองพบว่าไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการได้ที่ห้องซึ่งแยกต่างหากจากห้องฉุกเฉินโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ และถือว่ากรณีนี้เป็นเหตุจำเป็น โดยที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลที่ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการนอกเวลาราชการดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน สปสช. ซึ่งหลังจากได้นำร่องโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 สปสช. ก็ได้ประกาศเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ประชาชนผู้ถือ "บัตรทอง" สามารถเข้ารับบริการได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ณ วันที่ 3 เม.ย. 66 ได้ออกประกาศ เรื่อง รายชื่อหน่วยบริการที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนหน่วยบริการ/โรงพยาบาลที่ให้บริการรวมทั้งหมด 129 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด
ทั้งนี้ สามารถอ่านประกาศฉบับเต็มและรายชื่อหน่วยบริการ/โรงพยาบาลทั้ง 129 แห่งได้ที่นี่ คลิก
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพนี้ เนื่องด้วยในอดีตที่ผ่านมา มักจะมีผู้ป่วยกลุ่มไม่ฉุกเฉินไปรักษาที่โรงนอกเวลาราชการ โดยเข้าใจว่าอาการที่ตนเองเป็นคืออาการฉุกเฉิน ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้เป็นความผิดของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยเองรู้เพียงว่าตนป่วยกะทันหันแต่ไม่ได้ทราบว่าเกณฑ์ใดเป็นการป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ทำให้เกิดความแออัดในห้องฉุกเฉิน เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจริงๆ เข้ารักษาก็ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ ซึ่งข้อมูลจากสถานการณ์จริงที่ผ่านมานั้นพบว่า เกือบร้อยละ 60 ของการใช้บริการห้องฉุกเฉินในไทยเป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน
“การที่ สปสช. ออกประกาศเพิ่มจำนวนหน่วยบริการเป็น 129 แห่งนี้จะช่วยให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับบริการกรณีป่วยฉุกเฉิน หรือด้วยเหตุจำเป็นที่มีคุณภาพ ขณะที่หน่วยบริการก็จัดบริการที่ได้มาตรฐาน มีหลักเกณฑ์การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ที่ชัดเจน ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุและวิกฤตฉุกเฉินได้ในระยะยาว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว