ทำความเข้าใจ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ต่างจาก 'ครอบครัวบุญธรรม' อย่างไร

ทำความเข้าใจ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ต่างจาก 'ครอบครัวบุญธรรม' อย่างไร

'ครอบครัวอุปถัมภ์' ในประเทศไทยมีมานาน แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย เพราะจะได้ยินคำว่า ครอบครัวบุญธรรมเป็นส่วนใหญ่ ครอบครัวอุปถัมภ์เรียกว่าสามารถเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานและให้เด็กได้รับการพัฒนาเติบโตตามวัย

Key Point :

  • ข้อมูลจาก Care for Children พบว่า เด็กๆ ต้องการพ่อแม่และความรักจากครอบครัว  หากเด็กในสถานสงเคราะห์ได้มีโอกาสได้รับการดูแลจาก ครอบครัวอุปถัมภ์ จะทำให้ได้รับความรัก ความอบอุ่นอย่างใกล้ชิด
  • 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ซึ่งจะแตกต่างกับ ครอบครัวบุญธรรม ตรงที่ว่า เป็นครอบครัวทดแทนที่ดูแลเด็กเป็นการชั่วคราว ไม่มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
  • ครอบครัวอุปถัมภ์จะได้รับค่าตอบแทน การเลี้ยงดูเดือนละ 2,000 บาทต่อเด็กหนึ่งคน รวมถึง ค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับเด็ก และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ปัจจุบัน ไทยมีเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ 223 คน ใน 174 ครอบครัว

 

 

หลายคนอาจจะคุ้นชินกับคำว่า ครอบครัวบุญธรรม ซึ่งเป็นครอบครัวทดแทนถาวรสำหรับเด็ก มีฐานะเป็นผู้ปกครอง ซึ่งมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อเด็กตามกฎหมาย นอกจากครอบครัวบุญธรรมแล้ว ยังมี คำว่า 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่ว่า เป็นครอบครัวทดแทนที่ดูแลเด็กเป็นการชั่วคราว ไม่มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย

 

ข้อมูลจาก กองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความหมาย ครอบครัวอุปถัมภ์ ว่า เป็นการจัดสวัสดิการสำหรับเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ ให้ได้รับการดูแลในสภาพแวดล้อมคล้ายครอบครัว ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และความอบอุ่น โดยมีผู้อุปถัมภ์เป็นผู้ให้การอบรมเลี้ยงดูและคุ้มครองสวัสดิภาพตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้เด็กได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและได้รับการพัฒนาเติบโตตามวัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้รับความร่วมมือในการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์ ร่วมกับ Care for Children ประเทศอังกฤษ มากว่า 11 ปี โดยปัจจุบัน มีเด็กในสถานรองรับเด็ก 17 แห่ง เข้ารับการเลี้ยงดูในครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวนทั้งสิ้น 223 คน ใน 174 ครอบครัว

 

จากการศึกษาวิจัยของ Care for Children พบว่า สถานสงเคราะห์ขนาดใหญ่เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็ก เจ้าหน้าที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถมอบความอบอุ่น ความเข้าใจ และความรักแก่เด็กๆ ได้ดีนัก แต่ถ้าเด็กได้มีโอกาสเติบโตในครอบครัว พ่อแม่อุปถัมภ์จะสามารถให้การดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะเด็กๆ ต้องการพ่อแม่และความรักจากครอบครัว

 

Care for Children คืออะไร

 

สำหรับ Care for Children เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสวัสดิการและการพัฒนาเด็กจากประเทศอังกฤษ โดยโครงการแรกของ Care for Children เริ่มต้นที่ประเทสจีนเมื่อปี พ.ศ. 2541 และขยายการดำเนินงานสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 เวียดนามในปี พ.ศ. 2560 และ ล่าสุดในกัมพูชาในปี พ.ศ. 2564 โดยมีแผนการระยะยาวในการขยายขอบข่ายครอบคลุมเด็กและครอบครัวทั่วโลก ทำงานกับภาครัฐโดยตรง เพื่อนำเด็กไปสู่ครอบครัวในท้องถิ่นที่พร้อมจะมอบความรักและการดูแลที่เหมาะสม

 

โดยโครงการแต่ละประเทศ ยังแบ่งกระบวนการพัฒนาออกเป็นสี่ขั้น มีเป้าหมายปลายทางคือการสร่างโครงการอุปถัมภ์ในระดับประเทศ ให้บ้านพักพิงเดกกลายมาเป็นศูนย์กลางแหล่งทรัพยากรใหม่ที่มีพลวัตสูงของชุมชน และมีการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเนื้อหาการฝึกอบรมที่ออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจง

 

ทำความเข้าใจ \'ครอบครัวอุปถัมภ์\' ต่างจาก \'ครอบครัวบุญธรรม\' อย่างไร

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการในประเทศไทย Care for Children ได้ทำการฝึกอบรมให้กับทุกสถานสงเคราะห์และบ้านพักเด็กในกำกับของรัฐที่มีอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย มีการฝึกเจ้าหน้าที่จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรากฐานมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบการดูแลเด็กกำพร้าและเด็กกลุ่มเปราบาง ที่อยู่ในความคุ้มครองของรัฐ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง และเชิญชวนผู้ที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์มากขึ้น

 

ดร.โรเบิร์ต โกลเวอร์ โอบีอี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ Care for Children กล่าวในงานแถลงข่าว FOSTER CARE โดยระบุว่า Care for Children ผลักดันให้เกิดแผนการดูแลเด็กอย่างถาวร และการอุปถัมภ์เด็กในระยะยาว สามารถมอบโอกาสในการเติบโต ในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่มีความมั่นคงและความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ในขณะที่เด็กยังอยู่ภายใต้การดูแลคุ้มครองของรัฐตามกฎหมายและในด้านการเงินและการสนับสนุนอื่นๆ การดูแลระยะสั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการอุปถัมภ์เด็กในประเทศไทย

 

บ้านพักพิงและสถานสงเคราะห์ในยามฉุกเฉิน อาจมอบการสนับสนุนในระดับพื้นฐานแก่เด็กๆ ได้ แต่ครอบครัวอุปถัมภ์ สามารถเติมเต็มได้มากกว่าด้วยความรัก การอบรมสั่งสอน และการดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม อย่างที่เด็กต้องการ ท่ามกลางบรรยากาศของครอบครัวที่มีความรัก ความอบอุ่น

 

“การอุปถัมภ์ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กๆ และช่วยเตรียมพร้อมให้เด็กสามารถกลับคืนสู่การดูแลของพ่อแม่ที่แท้จริง หรือให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต และในขณะเดียวกัน ก็มอบโอกาสให้พ่อแม่อุปถัมภ์ได้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมผ่านกระบวนการที่มีพันธะผูกพัน และค่าใช้จ่ายน้อย แต่สร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาล” ดร.โรเบิร์ต กล่าว

 

สร้างทางเลือกให้เด็ก ท้องถิ่น เอกชนมีส่วนร่วม

 

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวถึงการพัฒนาแผนงานด้านการเลี้ยงดูเด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์ ว่า กระทรวง พม. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ด้วยการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็ก ปี พ.ศ. 2560 - 2564 โดยคำนึงถึงการเลี้ยงดูทดแทนแก่เด็กในรูปแบบสถานรองรับเด็กตามความเหมาะสม จำเป็น และเอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของเด็ก

 

อีกทั้ง พัฒนาระบบการดำเนินงานของครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นการสร้างทางเลือกที่ดีสำหรับเด็ก โดยส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและจัดสวัสดิการแก่เด็ก และเปลี่ยนบทบาทสถานรองรับเด็กให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดสวัสดิการแก่เด็กและเยาวชนในระยะต่อไป

 

กระทรวง พม. โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้จัดให้มีสถานสงเคราะห์ เพื่อให้บริการ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ พัฒนาและฟื้นฟู และจัดบริการสังคมแก่เด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา โดยมีสถานรองรับกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่แรกเกิด - 24 ปี จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสถานสงเคราะห์เด็ก แต่ด้วยการกำหนดนโยบายที่จะลดจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กลงร้อยละ 10 ต่อปี

 

โดยการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเลี้ยงดูทดแทนของประเทศไทย ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care Roadmap) ร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวโดยกำเนิดของเด็ก

 

ทำความเข้าใจ \'ครอบครัวอุปถัมภ์\' ต่างจาก \'ครอบครัวบุญธรรม\' อย่างไร

 

เด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ 223 คน ใน 174 ครอบครัว

 

เตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย ดย. ได้รับความร่วมมือในการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์ ร่วมกับองค์การ Care for Children ประเทศอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 2554 นับเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี ของการเป็นหุ้นส่วนการทำงาน เพื่อให้เด็กที่ประสบปัญหาทางสังคมในสถานรองรับเด็กของภาครัฐ ได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวทดแทน โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จากอดีตจนถึงปัจจุบันรวม 3 ฉบับ เพื่อทำงานร่วมกันในการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในความอุปการะของสถานรองรับเด็ก

 

ด้วยรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์แบบ Foster Care ในชุมชน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานรองรับจำนวน 29 แห่ง และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีเด็กในสถานรองรับเด็ก 17 แห่ง เข้ารับการเลี้ยงดูในครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวนทั้งสิ้น 223 คน ใน 174 ครอบครัว นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญพัฒนาคู่มือเป็นแนวปฏิบัติการดำเนินงานครอบครัวอุปถัมภ์ได้สำเร็จเมื่อปี 2565

 

รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน บอกเล่าถึง ตัวอย่างความประทับใจจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในจังหวัดหนึ่ง มีคนจูงมือเด็ก 4-5 ขวบเข้ามาถามว่าทำอย่างไรที่จะสามารถเลี้ยงเด็กคนนี้ แม่เขาคลอดเสร็จก็นำมาฝากเลี้ยงและหนีหายไป ตามหาแม่เขาไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ จึงมีการทำกระบวนการเรื่องสังคมสงเคราะห์

 

“เขาประกอบอาชีพค้าขาย ขายของชำ เรามองว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีฐานะดีถึงจะรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยง ทั้งๆ ที่เขามีใจ สุดท้าย ก็ให้เขาลงทะเบียนเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นเวลากว่า 20 ปี โดยวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา น้องอายุ 25 ปี ได้บวชให้คุณแม่ เด็กคนนี้ได้รับการศึกษาสายอาชีพ และอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์มาโดยตลอด และสุดท้ายก็ได้บวชทดแทนคุณ เขารู้ว่าไม่ใช่ลูกที่แท้จริง แต่จุดที่สำคัญ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ แค่เขามีใครสักคนที่กลับมาหาได้ หากเกิดอะไรขึ้นเขาก็รู้สึกว่ามีบ้านให้กลับ”

 

ทำความเข้าใจ \'ครอบครัวอุปถัมภ์\' ต่างจาก \'ครอบครัวบุญธรรม\' อย่างไร

 

ครอบครัวอุปถัมภ์ เติมเต็ม สร้างคุณค่าให้เด็ก 

 

ด้าน จันทร์เพ็ญ ภิรมย์ลาภา ครอบครัวอุปถัมภ์จากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เล่าว่า ส่วนตัวมีลูก 4 คน ครอบครัวทำอาชีพค้าขาย ไม่เคยรู้จักคำว่าอาสาสมัคร หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2549 มีประกาศบ้านเด็กปากเกร็ดรับสมัครอาสาสมัครดูแลเด็ก จึงลองเข้าไปทุกสัปดาห์ ตอนนั้นตัดสินใจจะรับเด็กคนหนึ่งมาอุปถัมภ์ แต่พอจะเข้าไปอุ้มเขากลับร้องไห้

 

“ตอนนั้นคิดว่าทำไมเขาถึงร้องไห้ จึงเดินทางไปทุกวันจนกว่าจะทำให้เด็กยิ้มให้ ตามเขามาเรื่อยๆ จน คิดว่าเมื่อเราอยากให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องช่วยเขาให้ดีที่สุด การให้ความรักคน นอกจากเด็กจะมีความสุขแล้ว การให้ความรักความเมตตา ก็ทำให้ตัวเรามีความสุข เราไม่จำเป็นรักแค่ลูกของเรา"

 

นิรันทร์ ภิรมย์ลาภา ผู้เป็นสามีเล่าเพิ่มเติมว่า จากการทำงานและได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กเยาวชนที่ทำผิด พบว่า ตอนเด็กเขาขาดมาก เขาบอกว่าไม่เคยได้รับการกอด การเห็นคุณค่าในตัวเขา ดังนั้น การสร้างคุณค่าให้เด็กเป็นสิ่งสำคัญ การเติมเต็มให้เขา พอโตขึ้นเขาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และเชื่อว่าจะส่งต่อให้สังคมดีขึ้น

 

คุณสมบัติของครอบครัวอุปถัมภ์

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีอายุมากกว่าเด็กไม่น้อยกว่า 15 ปี
  • มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
  • มีนิสัยและความประพฤติเหมาะสม ที่จะเป็นผู้อุปการะเด็ก
  • มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
  • มีเวลาในการดูแลเด็ก และสมาชิกในครอบครัวเห็นชอบที่อุปการะเลี้ยงดูเด็ก
  • มีรายได้ที่แน่นอน สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้
  • มีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ ตามมาตรฐานขั้นต่ำ
  • มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูเด็กและมีความพร้อมในการเข้ารับการอบรมเพิ่มเติม
  • อ่านและเขียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้
  • ไม่มีประวัติเคยกระทำความผิดกฎหมายอาญา และการใช้สารเสพติด จนได้รับโทษจำคุก

 

สิ่งที่ครอบครัวอุปถัมภ์จะได้รับ

  • ค่าตอบแทน การเลี้ยงดูรายเดือน เดือนละ 2,000 บาทต่อเด็กหนึ่งคน
  • ค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับเด็ก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษา และค่าเดินทางไปโรงเรียน
  • สิ่งของเครื่องใช้ สำหรับเด็กตามความจำเป็น

 

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน

  • ผู้ที่สนใจยื่นใบสมัครที่หน่วยงานรับสมัคร
  • เจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้านและปฐมนิเทศ
  • เจ้าหน้าที่แจ้งให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม
  • เจ้าหน้าที่ประเมินผู้สมัครและครอบครัวอย่างเป็นทางการ
  • คณะทำงานครอบครัวอุปถัมภ์จังหวัดพิจารณาการขึ้นทะเบียนครอบครัวอุปถัมภ์

 

การดูแลเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์

  • มีคณะทำงานครอบครัวอุปถัมภ์จังหวัดพิจารณาจัดให้เด็กได้อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เหมาะสม (Matching)
  • ครอบครัวอุปถัมภ์จำได้รับการอบรมให้ความรู้และทักษะในการทำหน้าที่เป็นครอบครัวทดแทนชั่วคราว ในการอุปการะเลี้ยงดูเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว
  • ครอบครัวอุปถัมป์จะได้รับการสนับสนุนและการติดตามการเลี้ยงดูเด็กโดยเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

 

เอกสารการสมัคร

  • แบบสมัครครอบครัวอุปถัมภ์
  • แสดงบัตรประจำตัวประชาชน และกรณีเป็นชาวต่างชาติ แสดงหนังสือเดินทาง หนังสือตรวจลงตรา (Visa 1 ปี) และใบอนุญาตทำงาน
  • รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป

 

หน่วยงานรับสมัคร

  • สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
  • บ้านพักเด็กและครอบครัว
  • สถานรองรับเด็กทั่วประเทศ