'ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป'ผลักดัน พัฒนาศักยภาพผู้นำข้ามเพศ
เมื่อพูดถึงคนข้ามเพศ หลายคนนึกภาพคนในวงการบันเทิงหรือกลุ่มเซเลบริตี้ที่มีชื่อเสียงตามหน้าสื่อ แล้วมองว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาส ร่ำรวย โด่งดัง แต่แท้จริงแล้วคนข้ามเพศทั่วโลกยังคงประสบกับความยากลำบากในการเข้าถึงการจ้างงานและโอกาสอันเท่าเทียมในการก้าวสู่บทบาทความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะคนข้ามเพศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องในวันสนับสนุนสิทธิคนข้ามเพศสากล (International Transgender Visibility Day) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ภายใต้การสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดงานเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำข้ามเพศมืออาชีพขึ้นเป็นครั้งแรกในอาเซียน โดยร่วมมือกับ บริษัทไอบีเอ็ม, ซานดิเอโกไพรด์, สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์, เครือข่าย ASEAN Youth Advocate Network และ เดอะ เนชั่น (ประเทศไทย) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนข้ามเพศในด้านความเป็นผู้นำ การจัดการโครงการและบุคลากร ตลอดจนเทคนิคการก้าวหน้าทางอาชีพด้วยวิสัยทัศน์ให้กับคนข้ามเพศ 44 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตก้าวหน้าทั้งในด้านส่วนตัวและอาชีพการงาน
นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาในหัวข้อ “Inclusivity in action: Insights from Trans-inclusive ERG (Employee Resource Group)” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การโอบรับความหลากหลายในประเด็นคนข้ามเพศในที่ทำงานพร้อมลงมือปฏิบัติจากข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มพนักงานอาสาเพื่อพนักงาน (ERG) รวมถึงข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ในการทำงานของคนข้ามเพศในธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี, บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด, บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีดี แอนด์ เฟรนด์ เอสซีเค จำกัด หยิบยกกรณีศึกษาที่มีประโยชน์สำหรับการสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อคนข้ามเพศ ช่วยพัฒนาให้แบรนด์หรือองค์กรสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ในวงเสวนา นิกกิ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้ง ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อ LGBTQ+ แห่งแรกของประเทศไทย ระบุ
“ในการที่จะเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย เน้นการมีส่วนร่วม และส่งเสริมความยั่งยืนอย่างแท้จริง ผู้นำองค์กรควรปรับวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านความหลากหลาย(diversity) ความเสมอภาค(equity) และการมีส่วนร่วม (inclusion) หรือที่เรียกว่า DE&I ซึ่งเป็นกลยุทธ์จัดการปัญหาโดยการใช้มุมมองที่เข้าใจปัญหาที่ทับซ้อนทางอัตลักษณ์ (intersectionality lens) เพื่อปรับปรุงองค์กรภายในและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนธุรกิจที่กว้างขึ้น”
ในปัจจุบันยังคงมีธุรกิจเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่ได้นำ DE&I มาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการประกอบธุรกิจ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลกำไร ตลอดจนพัฒนาบุคลากรและเป้าหมายของธุรกิจได้เป็นอย่างมาก ผู้นำคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสร้างวิสัยทัศน์และการเปลี่ยนแปลง
“ที่ IBM เราได้พัฒนารูปแบบความเป็นผู้นำที่ยอมรับความหลากหลายผ่านการฝึกอบรมระดับผู้บริหารของเราในฐานะกลุ่มคนที่มีความสำคัญ โดยได้ฝึกอบรมเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องอคติ ความฉลาดทางวัฒนธรรม ความใคร่รู้เกี่ยวกับผู้อื่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมุ่งมั่นที่เป็นรูปธรรม และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้นำสามารถเข้าใจต้นตอของปัญหาแต่ละข้อก่อนที่จะสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพขององค์กร” เจส โรเบิ้ลส์ ผู้นำด้านความหลากหลายตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทไอบีเอ็มกล่าว
ขณะที่ มาร์ค แมดดอกซ์ ผู้อำนวยการโครงการจากซานดิเอโกไพรด์ แนะนำ “เมื่อผู้นำมีอำนาจในมือ คุณควรใช้โอกาสจากอำนาจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ เช่น นโยบายการยอมรับความหลากหลายและการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งมีความก้าวล้ำและลึกซึ้งนอกเหนือจากการสร้างห้องน้ำสำหรับทุกเพศ เป็นต้น” ณัฐชรัตน์ พลรบ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ บริษัท ดีดี แอนด์ เฟรนด์ เอสซีเค จำกัด กล่าวเสริมว่า ผู้นำยังควรพิจารณานำหลัก Qs มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพขององค์กรและสภาพการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย IQ (เชาวน์ปัญญา) EQ (เชาวน์อารมณ์) และ LQ (เชาวน์ความรัก)
จากการศึกษาหลายโครงการยังพบว่า สถานที่ทำงานที่ยอมรับความหลากหลายมักจะมีประสิทธิภาพ นวัตกรรม และผลกำไรทางธุรกิจมากกว่าสถานที่ทำงานที่ไม่ยอมรับในความหลากหลาย ในปัจจุบัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจรวมถึงพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ มักประกอบไปด้วยคนรุ่นต่างๆรวมตัวกัน และพวกเขาก็ให้ค่ากับการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคมมากขึ้น แคทรียา ฐิติวงศ์เศวต หัวหน้าฝ่าย DE&I ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า ในการเริ่มต้นสร้างสถานที่ทำงานที่ยอมรับความหลากหลาย “ผู้นำควรเริ่มนำระบบ ERG หรือ กลุ่มพนักงานอาสาเพื่อพนักงาน (Employee Resource Group) มาใช้ในบริษัท และให้พวกเขาเสนอแนวคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ โดยบทบาทของผู้นำคือสนับสนุนและส่งเสริมพวกเขา”
อนามิกา เพียรเจริญรัตน์ ผู้ตรวจสอบบัญชีและจ่ายเงินในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของระบบ ERG ในบริษัทของเธอว่า “เราทุกคนควรกล้าพูดในสิ่งที่ถูก เพราะทุกอย่างจะไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าคุณจะพูดมันออกมา เราสามารถเปลี่ยนที่ทำงานให้ดีขึ้นไปอีกได้” ขณะที่ วรินทร ณ บางช้าง ผู้จัดการแผนกพาร์ทเนอร์ชิพ บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังได้แนะนำกลยุทธ์เพื่อให้มีการนำเอา DE&I มาปฏิบัติมากขึ้น
“บริษัทควรจ้าง LGBTQ+ เพิ่มขึ้นในแผนกทรัพยากรบุคคลเพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของกลุ่ม LGBTQ+ ตลอดจนนำ LGBTQ+ ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานให้มากขึ้นภายในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
แนวคิดริเริ่มในการพัฒนาศักยภาพอีกประการหนึ่งที่ธุรกิจควรคำนึงถึงก็คือ การทำงานร่วมกับชุมชน LGBTQ+ หรือที่ปรึกษาภายนอกองค์กร ให้เข้ามาเพื่อช่วยปรับปรุงโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และความยั่งยืนต่างๆ ในองค์กร ผศ.ดร. ดรูว์ บี มัลลอรี่ ในฐานะ Inclusion Ambassador และอาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของแนวคิดริเริ่มที่ยอมรับความหลากหลาย (IDEAL) ของศศินทร์ ได้ร่วมมือกับ ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป เพื่อเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึก บทสนทนาและความต้องการของชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนความพยายามเพื่อความเท่าเทียม ตลอดจนช่วยเหลือกลุ่มคนข้ามเพศที่ยังขาดโอกาสในการก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำ”
นิกกิ ย้ำในตอนท้ายว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ หรือการเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เป็นการสนับสนุนอย่างเสมอภาคให้เกิดความเท่าเทียมกับกลุ่มคนชายขอบเช่นคนข้ามเพศ เพื่อลดอุปสรรคของระบบ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลดล็อกศักยภาพของคนข้ามเพศที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมต่อไป
"เรามาร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จากนโยบายสร้างห้องน้ำทุกเพศ ขยับสู่นโยบายสร้างผู้นำที่มีความหลากหลาย จนกว่าเราจะได้เห็นคนข้ามเพศในระดับผู้นำหรือ CEO ในหลายภาคส่วนมากขึ้นในอนาคต”