เปิดผลวิจัยการประเมิน 'เด็กและเยาวชน' กระทำความผิด
วช.-รร.นรต. เปิดผลวิจัยการประเมิน 'เด็กและเยาวชน' กระทำความผิด ด้านการส่งเสริมอาชีพ พร้อมข้อเสนอ 3 มิติ เชื่อมั่นผลการประเมินการันตีเด็กและเยาวชน กลับตัวเป็นคนดี พร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) จัดประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง 'การประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายภาคเอกชน'
โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสำเร็จของความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและสร้างพลังใจเชิงบวกผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ และส่งเสริมการกล้าแสดงจุดยืนในสังคม
ตลอดจนถอดบทเรียนชีวิตเด็กและเยาวชนผู้เคยกระทำความผิดที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายสถานประกอบการ รวมถึงน้องๆ เด็กและเยาวชน เข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Kick off! '3B-JOB' แอปพลิเคชันช่วยเด็กและเยาวชนมีอาชีพ
เครือข่ายงดเหล้า สสส. ปลื้ม! ฟุตซอลเยาวชนสอดแทรกสุขภาพทั้งทางกาย-ทางใจ
'เยาวชน' เจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม บอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก
พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด
พ.ต.ต. ดร.ปริญญา สีลานันท์ อาจารย์ (สบ2) คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากความร่วมมือของ รร.นรต.และ วช. มีเป้าหมายที่จะมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ซึ่งรายงานสถิติคดี ประจำปี 2563 – 2565 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
พบว่า เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ในระยะเวลา 3 ปี มีจำนวนสูงถึง 46,255 คดี โดยกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนดังกล่าวถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากในขณะนี้ ดั
งนั้น กระบวนการฟื้นฟูพฤตินิสัยและการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนโอกาสและการชี้นำแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญที่มีคุณค่า ต่อสังคมในอนาคต
ความสำเร็จในการดำเนินโครงการ มากว่า 2 ปี มีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการ จำนวน 32 แห่งทั่วประเทศ ที่รับเด็กและเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 150 คน เข้าฝึกงานและบรรจุเป็นพนักงานประจำ
โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในความสำเร็จของการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิตให้กลับตัวเป็นคนใหม่ ซึ่งสะท้อนได้จากการมีวิสัยทัศน์และนโยบายในการรับเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 รุ่น สอดคล้องกับการประเมินความสำเร็จในเชิงปริมาณที่พบว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก
3 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดูแลเด็กและเยาวชน
ขณะที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ก็มีความพึงพอใจต่อการมอบโอกาสทางอาชีพของหน่วยงานต่างๆ ในระดับมากเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าวจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า โครงการวิจัยฯ ที่ได้ดำเนินการมาสามารถสร้างความตระหนักในคุณค่าชีวิตของเด็กและเยาวชน เกิดความมุ่งมั่นในการกลับตัวเป็นคนดี มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
พ.ต.ต.ดร.ปริญญา กล่าวต่อไปว่าโครงการได้สรุปผลการวิจัยและการประเมินโดยมีข้อเสนอแนะจากการดำเนินโครงการวิจัยใน 3 มิติ ได้แก่
1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนควรขับเคลื่อนการดำเนินงานในเชิงนโยบายในด้านต่างๆ เช่น การบูรณาการร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการศึกษาสถิติแนวโน้มความต้องการทางอาชีพและตลาดแรงงาน เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและสายงานอาชีพที่ขาดแคลน
ตลอดจนการบูรณาการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหา และการปลดล็อกข้อจำกัดในการประกอบอาชีพด้านต่างๆ
2) ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ โดยการจัดทำทะเบียนหน่วยงานเครือข่ายการส่งเสริมอาชีพทั่วประเทศ ในรูปแบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ซึ่งสามารถขยายผลเครือข่ายโดยใช้กลไกการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจฯ ในการประชาสัมพันธ์
เชิญชวนให้หน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมทักษะและสร้างโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยแล้ว รวมไปถึงการพัฒนาระบบการติดต่อประสานงานระหว่างเครือข่ายสถานประกอบการให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น
3)ข้อเสนอแนะในการต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนของงานวิจัย ควรศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์รวมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Hub of Social Entrepreneur) ด้านการให้โอกาสและการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือ หรือมอบโอกาสทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจนพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital platform) เป็นสื่อกลาง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์รวมต้นแบบเยาวชนคนกล้าเปลี่ยน (Hub of Change Maker) เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกษาและจุดประกายความคิดให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพด้วยพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็ง และประเด็นหนึ่ง
"ที่สำคัญคือการศึกษาแนวทางการผลักดันมาตรการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่นำข้อมูลการกระทำความผิดในขณะที่เป็นเด็กและเยาวชนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับราชการหรือเข้าทำงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางอาชีพ อันจะเป็นมาตรการเสริมเชิงบวกในการสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างยั่งยืน"
สื่อสารภาพลักษณ์เชิงบวก ส่งเสริมอาชีพแบบเชิงรุก
ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ดังนั้น การขยายผลเพื่อต่อยอดการดำเนินงานให้เกิดผลกระทบ (Impact) ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องเน้นการสื่อสารภาพลักษณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสทางอาชีพแบบเชิงรุก พร้อมกับการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอาชีพให้มากขึ้น
รวมถึงการผลักดันมาตรการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่นำประสบการณ์ในอดีตที่เคยกระทำความผิดในขณะที่เป็นเด็กและเยาวชนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกคนเข้ารับราชการหรือเข้าทำงาน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างยั่งยืน
เพิ่มโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด
ในการจัดประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยได้มีการเปิดการเสวนาในหัวข้อ 'Move on จากความผิดพลาด สร้างพลังใจเชิงบวก สร้างโอกาสสู่อนาคต'
ร.ต.จิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยา กล่าวตอนหนึ่งในช่วงของการเสวนาว่า ในวันนี้ประสบความสำเร็จในการเรียนและเป็นการเรียนจากการให้ทุนของเครือข่าย ทำให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะสนับสนุนเด็กคนนี้ รู้สึกภูมิใจในตนเอง และดีใจที่หลาย ๆ คนภูมิใจกับตัวเอง ทั้งคนในครอบครัว เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก หรือเครือข่ายต่างๆ ที่สนับสนุนและให้โอกาสตน
ปัจจุบัน 'ร.ต.จิรัฎฐ์' สอบเข้ารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้ภูมิใจ และมองว่าการที่มายืนในจุด ๆ นี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้หลายๆ คนได้เห็นว่าเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดสามารถเป็นแบบอย่างได้เราสามารถทำได้ เพียงแค่ตั้งใจที่จะก้าวออกมาจากจุดนั้น
นายชลชาติ พานทอง เยาวชนต้นแบบ กล่าวว่า การที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ แม้เราจะค่อนข้างล้มเหลวหลายครั้ง แต่โอกาสก็ยังมีให้เราอยู่เสมอ จึงส่งผลให้เราต้องถีบตัวเองมากขึ้น ทำให้เขาเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้เพื่อจะให้เขากลับมาให้โอกาสเราอีกครั้งหนึ่ง การได้ฝึกฝนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านกีฬา ดนตรี แข่งขันเรียงความ จนได้รับรางวัลเป็นการสร้างโปรไฟล์ที่ดี
"โอกาส สำคัญสำหรับผมมาก ฉะนั้น ผมขอตอบแทนโอกาสที่ผู้ใหญ่ให้มา โดยการมาขยายต่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับน้องๆ รุ่นต่อๆ ไปได้มีโอกาสเหมือนผม"
นายธิติบดี รัมเนตร นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ศูนย์ฝึกฯ บ้านมุทิตา กล่าวว่า ในฐานะครูมีความภาคภูมิใจ มีความสุข โดยเป้าหมายของคนกรมพินิจฯ ทุกคน อยากเห็นเด็กประสบความสำเร็จมีงานทำมีความมั่นคงในชีวิตสามารถอยู่ในสังคมได้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว และพัฒนาประเทศได้ และที่สำคัญไม่หันกลับไปทำความผิดซ้ำไม่กลับเข้ามาหาเราอีกในรอบที่ 2 รอบที่ 3 หรือการไปเจอเด็กอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็น Mindset ของทุกคนในกรมพินิจฯ ที่เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้
“เด็กหนึ่งคนที่เข้ามาในกรมพินิจฯ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลต่อเดือนประมาณ 9,000 บาทต่อคน ในหนึ่งปีมีจำนวนเด็กที่เข้าในกรมพินิจฯ จำนวนมาก ดังนั้น ถ้าเราทำให้เด็กไม่กลับมากระทำผิดซ้ำโดยการสร้างอาชีพ ส่งเสริมให้เด็กมีงานทำ จะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณและนำงบประมาณจากตรงนี้ไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ได้” นายธิติบดี กล่าว
ส่วนนายมงคล งามเจริญวงษ์ หัวหน้างานเครือข่ายจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หน่วยงานมีภารกิจในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ โดยภารกิจหนึ่งคือการสร้างตัวอย่างการจัดการน้ำในชุมชนกว่า 60 ชุมชน จากการลงไปทำงานร่วมกับชุมชนในเรื่องของการจัดการน้ำให้เกิดผลสำเร็จเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาความยากจน
เชื่อว่าปัญหาความยากจนเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดของเด็กและเยาวชนหลายคน จึงค้นพบว่าเรื่องของการจัดการน้ำชุมชนหลายคนมองว่าต้องเป็นผู้ใหญ่ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ แต่ในความเป็นจริงสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ก็คือน้อง ๆ เยาวชน เพราะผู้ใหญ่ทำได้วันนี้
ส่วนในวันพรุ่งนี้และปีต่อไปในวันข้างหน้า คือโอกาสของเด็กและเยาวชน ที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำโดยการนำวิธีคิดแนวคิดเหล่านี้ไปต่อยอดพัฒนาชุมชนต่อได้ในอนาคต ดังนั้น คนที่สำคัญที่สุดคือเยาวชนในชุมชนที่จะทำให้การจัดการน้ำในชุมชนประสบความสำเร็จ โดยทุกคนให้การยอมรับและให้โอกาส เพราะเราทุกคนอยากเห็นสังคมที่มีคุณภาพ แต่การที่จะมีคุณภาพได้นั้นเราก็ต้องยอมรับและให้โอกาสน้อง ๆ เหล่านี้ได้กลับเข้าสู่สังคมก่อน
น.ส.พิชญ์สินี พรหมยานนท์ เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์อาวุโส บริษัท อูซูอิ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้ทำงานร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ประมาณ 8 ปี และทำโครงการคืนคนดีสู่สังคมมากว่า 6 ปี มีเด็กและเยาวชน ประมาณ 12 รุ่น ที่เข้ามาร่วมในโครงการฯ จำนวน 25 คน
ปัจจุบันบริษัทรับเข้าเป็นพนักงาน 5 คน และมาทำงานแต่ยังไม่ได้บรรจุ จำนวน 10 คน ที่เหลือจำนวน 10 คน ก็ยังมีบ้างที่กลับไปทำผิดซ้ำ แต่ 15 คน ที่อยู่กับเราก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ เราไม่ได้คาดหวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับมาได้แบบ 100 %
ดังนั้น ใครที่เติบโตได้เราก็ไปกันต่อ ส่วนใครที่พลาดไปแล้วเราก็อยู่เป็นพี่น้องกันต่อไป โดยบริษัทของเราที่เข้ามาร่วมในโครงการฯ ด้วยเพราะผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ที่เป็นอนาคตของประเทศ ถ้าเราไม่ให้อนาคต ไม่ให้โอกาสได้ทำงาน แล้วพวกเขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร จึงเป็นความพยายามทำตรงนี้มาโดยตลอด