กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศช่วงเริ่มเปลี่ยนถ่ายจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ สภาพอากาศช่วง 10 วันล่วงหน้าระหว่าง 25 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566 เผยช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดูจากฤดูร้อนจะเข้าสู่ "ฤดูฝน"
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 10 วันล่วงหน้าระหว่าง 25 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566 เผย สภาพอากาศ ช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดูจากฤดูร้อนจะเข้าสู่ "ฤดูฝน" อัปเดตศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป
ในระยะนี้ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2566 ทิศทางลมและอากาศแปรปรวน เป็นช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดู (จากฤดูร้อนจะเข้าสู่ฤดูฝน) วันนี้ยังมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางจุดบางพื้นที่ของไทย และอากาศยังร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ เนื่องจากยังมีลมใต้ตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ส่วนด้านตะวันตกของประเทศ ยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม
ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออก พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต้องระวังทั้งสภาพอากาศร้อนและร้อนจัดและพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่าและลูกเห็บที่ยังเกิดขึ้นได้ ต้องเตรียมรับมือ
ฝนที่ตกพอจะช่วยคลายร้อนและเพิ่มความชื้นในอากาศได้บ้าง และฝนจะยังตกต่อเนื่องช่วงบายถึงค่ำไปถึงต้นเดือนหน้า แต่ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง
สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุม ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง แต่ระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ จริงหรือ?
- กรมอุตุฯ เตือน 'พายุฤดูร้อน' ฉบับ 7 วันนี้ถล่ม 51 จังหวัด กทม.ปริมณฑลโดนด้วย
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 25 - 26 เม.ย.2566
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย.2566 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค.2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 25-26 เม.ย.2566 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองสำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย