ทางจักรยานสายหลักในกรุงเทพ กับ กรุงเทพฯเมืองจักรยาน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ทางจักรยานสายหลักในกรุงเทพ กับ กรุงเทพฯเมืองจักรยาน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เราทุกคนคงตระหนักรู้กันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือ เพื่อจะแก้ปัญหาที่ยุ่งยากนั้น เดี๋ยวนี้โลกกำลังหันไปหาทางออกที่ดูจะง่ายดายมาก นั้นคือการเดินและการใช้จักรยาน

นั่นคือ การเดินทางในรูปแบบที่เป็นทางเลือก (alternative mobility) หรือการเดินทางอัจฉริยะ (smart mobility) กันมากขึ้นๆ และหนึ่งในนั้นคือการเดินและการจักรยาน ที่ฮิตติดระดับจนไปถึงขั้นมีวันจักรยานโลก World Bicycle Day ขององค์การสหประชาชาติ

การใช้จักรยานเพื่อการเดินทางนั้น ไม่ใช่เพื่อการเดินทางข้ามจังหวัด ข้ามอำเภอ อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่หมายรวมและเน้นไปเฉพาะที่การใช้จักรยานในละแวกบ้าน ในระยะทางเพียงแค่ 2 -4 กิโลเมตรในเขตเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ไม่ใช่ของนักจักรยาน

มาวันนี้ก็เลยอยากจะเล่าถึง “ทางจักรยานในกรุงเทพฯ” ที่เวลาเราชวนใครก็ตามให้ใช้จักรยาน ไม่ว่าจะเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อการเดินทางในเมือง คำถามแรกที่เราจะได้ยินเสมอ คือ มีทางจักรยานไหม

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองเช่นกันเมื่อได้ออกมาเริ่มรณรงค์เรื่องการใช้จักรยานในเมืองใหม่ๆ เมื่อราว 35 ปีก่อน เพราะคิดเอาเองว่าถ้ามีทางจักรยานแล้วคนจะออกมาใช้จักรยานกันเต็มบ้านเต็มเมือง

และถ้าจะให้คนออกมาใช้จักรยานเต็มบ้านเต็มเมืองในกรุงเทพฯจริงอย่างที่คาดฝันไว้เราก็ต้องมีทางจักรยานที่เป็นเสมือนทางหลวงจักรยานกระจายไปทั่วทุกเขตในเมือง

ทางจักรยานสายหลักในกรุงเทพ กับ กรุงเทพฯเมืองจักรยาน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ผมจึงได้นั่งวิเคราะห์ว่าทางจักรยานสายหลักในเมืองนี้ควรอยู่บริเวณใด ใช้คู่กับถนนเมนที่มีอยู่แล้วในกรุงเทพมหานครตรงไหนได้บ้าง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเวนคืนให้ยุ่งยาก

แล้วจัดทำเป็นแผนที่เส้นทางจักรยานสายหลัก (main bicycle-path map) ออกมานำเสนอแก่รัฐ (ดูรูปประกอบ) โดยหวังว่าผู้บริหารเมืองรวมไปถึงรัฐบาลกลางจะนำเอาข้อคิดนี้ไปดำเนินการต่อ

แผนที่นี้ผมทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 หรือ 30 ปีมาแล้ว ใช่ครับ! สามสิบปีแล้วจริงๆ คือ ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คิดไว้นานแล้ว

แต่หลังจากนั้นไม่นานผมก็เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าผมคิดผิด ผมไม่มีความเข้าใจเลยเกี่ยวกับระบบจักรยานและวิถีชีวิตชาวบ้าน รวมทั้งขีดจำกัดของเมือง ผมจึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการผลักดันเรื่องนี้

จากนั้นผมก็เปลี่ยนวิธีคิด ถ้าสายหลักมันทำไม่ได้เราก็เปลี่ยนมาเป็นยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองจะดีกว่าไหม

ยุทธศาสตร์ที่ว่านั้นก็คือการทำอย่างไรก็ได้ให้มีการใช้จักรยานในชุมชน จะมีทางจักรยานหรือไม่มีก็ไม่จำเป็น ขอให้มีคนออกมาใช้จักรยานในละแวกใกล้บ้านของชุมชนก็แล้วกัน

ซึ่งนี่ก็มาพบภายหลังว่าวิธีนี้ตรงกับข้อคิดของผู้เชี่ยวชาญของ ECF (European Cyclists' Federation) ซึ่งเป็นองค์กรที่เก่งที่สุดในโลกในประเด็นจักรยาน ที่แนะนำผมว่า อย่าไปก็อบปี้ของเขามาตรงๆ ของเราเป็นระยะเพิ่งเริ่มแรก ให้ไปบุกเบิกที่พื้นที่เล็กๆในชุมชนก่อนจะดีกว่า ความสำเร็จจะมีมากกว่า

ทางจักรยานสายหลักในกรุงเทพ กับ กรุงเทพฯเมืองจักรยาน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ถ้าเราทำสำเร็จได้จริงๆ สักสิบยี่สิบชุมชนในระยะเริ่มแรกนี้ แล้วขยายผลไปให้ได้ทั่วทั้งกรุง เมื่อถึงตอนนั้นเราจะมีพวกแยะ มีพลังสังคมและมวลวิกฤติ (critical mass) ที่มากพอ มาช่วยกันขับเคลื่อนได้อย่างมีเสียงดัง

ที่ดังจนนักการเมืองต้องหันมาให้ความสนใจและใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง และเมื่อเขาได้เป็นรัฐบาลก็นำไปดำเนินการให้เป็นจริงต่อไป

เมื่อมาถึงจุดนั้นได้แล้วเราก็เอาเส้นทางจักรยานสายหลักตามเส้นในแผนที่ที่ได้ร่างเอาไว้หรือที่จะทำขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมาทำ เราก็จะมีโครงข่ายจักรยานที่ครอบคลุมทั้งในละแวกชุมชนใกล้บ้านและที่ผ่าเมืองไปไกลๆ

แล้วเราก็จะได้ “เมืองจักรยาน” ขึ้นมาสมใจอยากของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่อยากใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแบบที่คนต่างชาติเขาทำกัน

โลกจะได้ร้อนน้อยลง ฝุ่นพิษจะได้บรรเทาลง อากาศจะได้ดีขึ้น และสุขภาพของลูกหลานทั้งทางกายและทางใจก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ขอพวกเรารวมทั้งนักการเมืองทั้งหลายมาช่วยสร้างเมืองจักรยานของไทยกันนะครับ ไม่ต้องเฉพาะกรุงเทพฯก็ได้ ขอบคุณครับ