โอกาสการครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (1) | ฐาปนา บุณยประวิตร
ตลาดเศรษฐกิจเวลเนสโลก ที่รวมอุตสาหกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ขยายตัวอย่างมากในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ด้วยพฤติกรรมของประชากรที่เปลี่ยนไปและจากการการเพิ่มขึ้นของความตระหนักด้านสุขภาพ รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
รายงานของ Global Wellness Institute (GWI) (2565) ได้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเวลเนส 10 สาขาอย่างมีนัยสำคัญ การขยายตัวของเศรษฐกิจเวลเนสโลก ส่งผลให้แผนยุทธศาสตร์ของหลายประเทศหันมาบรรจุเศรษฐกิจสาขานี้เป็นหมุดหมายหลักของการพัฒนา
แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นคำถามสำคัญสำหรับไทยที่ต้องค้นหาคำตอบว่า เรามีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการแย่งส่วนแบ่งการตลาดและเราจะใช้โอกาสนี้นำเศรษฐกิจเวลเนสเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างไร
GWI (2566) รายงานว่า ปี พ.ศ. 2562 เศรษฐกิจเวลเนสโลกมีมูลค่า 4.4 ล้านล้านเหรียญ แบ่งเป็นสาขาผลิตภัณฑ์ความงามและการชะลอวัย (Personal Care & Anti-Aging) มูลค่า 955 พันล้านเหรียญ สาขาอาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก (Healthy Eating, Nutrition and Weight Loss) มูลค่า 946 พันล้านเหรียญ
สาขากิจกรรมทางกาย (Physical Activity) มูลค่า 738 พันล้านเหรียญ สาขาท่องเที่ยวสุขภาพ (Wellness Tourism) มูลค่า 436 พันล้านเหรียญ สาขาการแพทย์สมัยใหม่และการฟื้นฟูสุขภาพเฉพาะบุคคล (Preventive, Personalized Medicine and Public Health) มูลค่า 375 พันล้านเหรียญ
สาขาการแพทย์ทางเลือก (Traditional, Complementary Medicine) มูลค่า 413 พันล้านเหรียญ สาขาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) มูลค่า 275 พันล้านเหรียญ สาขาสุขภาพจิต (Mental Wellness) มูลค่า 131 พันล้านเหรียญ สาขาเศรษฐกิจสปา (Spa Economy) มูลค่า 68 พันล้านเหรียญ
สาขาสุขภาพในที่ทำงาน (Workplace Wellness) มูลค่า 49 พันล้านเหรียญ และสาขาน้ำพุร้อน (Thermal Mineral Spring) มูลค่า 39 พันล้านเหรียญ
ช่วงการระบาดของโควิด-19 GWI พบว่า พบกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสที่ยังขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขา Wellness Real Estate ซึ่งเป็นสาขาที่เติบโตสูงสุด โดยในปี พ.ศ. 2563 ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 22 ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัวเพียงแค่ร้อยละ 2.5
ส่วนสาขา Physical Activity ที่ GWI ประมาณการมูลค่าไว้ 1.2 ล้านล้านเหรียญในปี พ.ศ.2568 เป็นสาขาที่เติบโตรองลงมา เช่นเดียวกับสาขา Mental Wellness ที่มีมูลค่าตลาดในปี พ.ศ.2563 มากถึง 131 พันล้านเหรียญหรือขยายตัวร้อยละ 7.2
เช่นเดียวกับสาขา Healthy Eating, Nutrition and Weight Loss ที่ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 5 ใกล้เคียงกับสาขา Public Health, Preventive, & Personalized Medicine ที่ยังขยายตัวร้อยละ 4.5
สำหรับกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสที่หดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้แก่สาขา Traditional & Complementary Medicine สาขา Workplace Wellness สาขา Wellness Tourism สาขา Spa Economy และสาขา Thermal/Mineral Springs
โดยสาขา Wellness Tourism จัดเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลเกือบทุกประเทศประกาศห้ามการเดินทาง
ส่วนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่นับว่ามีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ โดยกรุงไทย Compass (2565) รายงานว่า ปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่า 104.7 พันล้านเหรียญ จากการคาดการณ์ในปี พ.ศ.2570 เชื่อว่าตลาดจะมีมูลค่า 237.7 พันล้านเหรียญ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.8
โดยตลาดเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าและมีอัตราการเติบโตสูงสุด หรือมีมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่านับจากปี พ.ศ. 2562
เมื่อจำแนกตามประเภทการรักษาพยาบาลในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ใน 8 สาขาย่อย พบว่า โรคมะเร็งมีมูลค่า 56,644 ล้านเหรียญ ศัลยกรรมกระดูก 42,167 ล้านเหรียญ ศัลยกรรมความงาม 36,817 ล้านเหรียญ
การรักษาภาวการณ์มีบุตรยาก 32,150 ล้านเหรียญ โรคหัวใจและหลอดเลือด 30,521 ล้านเหรียญ การรักษาระบบประสาท 27,639 ล้านเหรียญ ทันตกรรม 21,456 ล้านเหรียญ และการรักษากลุ่มโรคอื่นๆ มีมูลค่า 24,876 ล้านเหรียญ
กล่าวโดยภาพรวม แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสจนถึงปี พ.ศ.2568 GWI (2566) คาดการณ์ว่า ตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 7.0 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มเกือบเท่าตัวนับจากปี 2563
ทำให้สัดส่วนของกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสเมื่อเทียบกับมูลค่าของเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวด้านการแพทย์สมัยใหม่ที่มีอัตราการขยายแบบก้าวกระโดด
ในบทความตอนที่ 2 และตอนที่ 3 จะกล่าวถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ รวมทั้งโอกาสของไทยในการครองส่วนแบ่งตลาดเวลเนสและการท่องเที่ยวการแพทย์ ด้วยขีดความสามารถที่ไทยมีอยู่ และขีดความสามารถที่กำลังจะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ 12 บริเวณ
พร้อมด้วยเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง 8 บริเวณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Economic Wellness Corridor หรือ TWC) และหัวเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ
คอลัมน์ Wellness Districts Focus
ฐาปนา บุณยประวิตร |
นายกสมาคมการผังเมืองไทย
เลขานุการกฎบัตรไทย
[email protected]