Checklist เครื่องมือช่วยบริหารชีวิต | วรากรณ์ สามโกเศศ
มีเครื่องมือง่ายๆ หลายอย่างในโลกที่ช่วยทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกและราบรื่นขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “เช็กลิสต์” (checklist) ซึ่งมีความสำคัญขนาดมี National Checklist Day ในสหรัฐ มาดูกันว่ามันช่วยอย่างไรและเป็นเรื่องธรรมดามากๆ หรือไม่
มีท่านผู้อ่านถามเข้ามาว่า เดี๋ยวนี้คอลัมน์ “อาหารสมอง” ไม่เขียนไปทางเรื่องเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์แล้วหรือ คำตอบก็คือได้เขียนคอลัมน์รายสัปดาห์ต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว ตอนนี้ผู้เขียนอยากนำเสนออาหารจานที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น อาหารจานเศรษฐกิจก็ไม่ทิ้ง นานๆ มีอะไรที่แปลกและเป็นประโยชน์ก็จะนำเสนอครับ
มีเครื่องมือง่ายๆ หลายอย่างในโลกที่ช่วยทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกและราบรื่นขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “เช็กลิสต์” (checklist) ซึ่งมีความสำคัญขนาดมี National Checklist Day ในสหรัฐ มาดูกันว่ามันช่วยอย่างไรและเป็นเรื่องธรรมดามากๆ หรือไม่
มนุษย์ทุกคนมีความผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น เฉพาะคนที่ไม่เคยทำอะไรเลยหรือทำน้อยมากเท่านั้นที่จักไม่มีความผิดพลาดเลย แต่ความผิดพลาดก็มีหลายระดับ สำคัญที่สุดในชีวิตก็คืออย่าไปทำอะไรผิดพลาดที่ฉกรรจ์ เช่น เลือกเส้นทางชีวิตสีเทาหรือดำ เลือกคู่ชีวิตที่อันตราย (บรื๋ออออ) ใช้ชีวิตอย่างประมาทและสุ่มเสี่ยง ใช้การพนันเป็นเครื่องบันเทิงใจ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ความผิดพลาดบางอย่างจะไม่ร้ายแรง แต่ก็ทำให้เราเสียทั้งเวลาเงินทองและความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ชีวิตมันยุ่งยากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็น สิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือความเครียด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
Dr.George Everly แห่ง The John Hopkins School of Medicine เขียนเรื่องการใช้เช็กลิสต์ช่วยทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นใน Psychology Today (May 15, 2023) โดยกล่าวว่า
เช็กลิสต์เป็นเรื่องสำคัญขึ้นเป็นลำดับในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ นับตั้งแต่เครื่องบิน Boeing B-17 ตกระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะกัปตันผิดพลาดลืมกดปุ่มสำคัญของระบบการยก จนทำให้ระบบอื่นๆ ล้มเหลว ดังนั้น จึงเกิดความคิดที่จะต้องมีเช็กลิสต์ของแต่ละเรื่องตามลำดับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานก่อนที่จะบินโดยไม่พึ่งความจำของกัปตันอีกต่อไป
ในปี 2001 นายแพทย์ Peter Pronvose แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย John Hopkins เริ่มสร้างเช็กลิสต์ให้ทีมแพทย์ใช้ในการรักษาพยาบาล และนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เช็กลิสต์สำหรับแพทย์และครู เพื่อดูแลผู้ป่วยและนักเรียนก็เกิดขึ้น
ต่อมาไอเดียเรื่องการใช้เช็กลิสต์ในเรื่องสำคัญต่างๆ ก็ตามมา และแพร่ระบาดไปในโลก
ตัวอย่างแรกคือ เช็กลิสต์ก่อนการบิน นักบินต้องเช็กระบบการทำงานต่างๆ ของเครื่องบินตามเช็กลิสต์ที่ระบุไว้ตามมาตรฐานการบิน และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความปลอดภัย ตัวอย่างที่สองคือ เช็กลิสต์วิธีการตรวจสอบบัญชีและการเงินเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบ ไม่เกิดการผิดพลาดขึ้นในการตรวจสอบ
เอกสารเช็กลิสต์สามารถนำไปอ้างอิงต่อสู้กันในศาลได้ ตัวอย่างที่สาม เช็กลิสต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งของการบริหาร ช่วยทำให้สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการที่ซับซ้อน เตือนให้กระทำตามลำดับขั้นตอนเพื่อความสมบูรณ์ของผลงาน ปัจจุบันใช้เช็กลิสต์กันอย่างกว้างขวางในโครงการก่อสร้าง ตลอดจนการบริหารโครงการต่างๆ
ตัวอย่างที่สี่ เช็กลิสต์เกี่ยวกับยานการบิน ไม่ว่าการควบคุมดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องบินตลอดจนยานอวกาศ ล้วนเป็นไปเพื่อให้แน่ใจว่ามิได้ละเลยลำดับขั้นตอนของการทำงาน ตัวอย่างที่ห้า การผ่าตัดจำเป็นต้องใช้เช็กลิสต์อย่างละเอียดในทุกเรื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์องค์การอนามัยโลกในตอนต้นทศวรรษ 2000
ประกาศเช็กลิสต์สำหรับการผ่าตัดที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้อัตราการตายลดลง 23% และปัญหาต่อเนื่องจากการผ่าตัดลดลง 40% ตัวอย่างที่หก การดำน้ำ การโดดร่มและกิจกรรมที่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่อุบัติเหตุและความตายได้ล้วนใช้เช็กลิสต์ด้วยกันทั้งนั้น
นอกจากเช็กลิสต์ที่ทำกันเป็นเรื่องจริงจังและมีมาตรฐานกำหนดดังกล่าวแล้ว ยังมีเช็กลิสต์อีกลักษณะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต นั่นก็คือ “To Do List” ของคนทั่วไป
เครื่องมือเตือนความจำของทุกคนชิ้นนี้คงมีมานานนับเป็นพันปีแล้ว แต่อาจถูกมองข้ามปัจจุบัน นักจิตวิทยายืนยันว่า การจดบันทึกว่าจะทำอะไรต่อไปนั้นมีผลทำให้เกิดความสบายใจขึ้น และทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกมากขึ้น
“To Do List” เพิ่มคุณภาพชีวิต เพราะช่วยลดความเครียดได้อย่างตรงจุด โดยปกติมนุษย์มีความเครียดจากความกังวลว่า อาจลืมและไม่ได้กระทำบางสิ่งซึ่งสำคัญไปในอนาคตอันใกล้ จนอาจทำให้นอนไม่หลับ
ดังนั้น การเขียนรายการไว้ หรือการลุกขึ้นมาเขียนสิ่งที่ต้องทำลงบนกระดาษกลางดึกเพราะนึกขึ้นได้ จึงเป็นวิธีที่ช่วยอย่างได้ผล (การมีกระดาษกับปากกาวางไว้หัวนอนเสมอ จึงเป็นวิธีลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับคนช่างเครียดอีกระดับหนึ่ง หากกังวลว่าหมึกปากกาอาจหมดก็ควรใช้ดินสอวางไว้แทน)
การเขียน “To Do List” และกระทำตามที่จดไว้เสมอ เป็นนิสัยที่ช่วยจัดการให้ชีวิตสะดวกมากขึ้น ลดความเครียดและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็น เช็กลิสต์อย่างจริงจัง หรือ “To Do List” ต่างช่วยให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น เวลา โอกาสและเงินทอง อีกด้วย
30 ต.ค.ของทุกปี คือ National Checklist Day ของสหรัฐ ถ้านวัตกรรมชิ้นนี้ไม่สำคัญจริง คงไม่มีวันพิเศษเช่นนี้เพื่อให้สะท้อนคิดเรื่องความสำคัญของเช็กลิสต์เป็นแน่.