นิวนอร์มอล ชีวิตคนไทยหลังโควิด-19 | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
คนไทยทั่วไปเป็นคนมีความสุข เพราะมีความเชื่อมั่นอยู่กับข้อเท็จจริงและความคิดแบบอนุรักษ์ และความเชื่อที่แพร่หลาย เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบสุข เป็นมหาอำนาจด้านเกษตร คนไทยมีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน และยึดถือคุณค่าชุดเดียวกัน
ข้อความนี้บางส่วนก็คงยังจะจริงอยู่มาก เช่น เรื่องคนไทยมีน้ำใจ แต่โลกเปลี่ยนไปมากและในช่วงโควิด-19 พฤติกรรมของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล คนไทยที่รับสื่อสากลโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ก็เปลี่ยนไปตามกระแสโลกเร็วขึ้น ในด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ผู้เขียนขอแบ่งปันข้อค้นพบจากงานวิจัย “แผนงานคนไทย 4.0” เกี่ยวกับสถานการณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคนไทยว่า ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปมากกว่าเดิมแล้วแม้แต่ในชนบท ซึ่งมีจำนวนหลายสิบเรื่อง
มาสะท้อนให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของชีวิตคนไทย และสถาบันหลักในครอบครัวไทยในปัจจุบัน แต่ขออภัยที่ไม่อาจอ้างอิงนักวิจัยได้ครบทุกท่านเพราะชิ้นงานวิจัยมีจำนวนมาก
เริ่มต้นที่คนไทยเป็นผู้ที่มีความสุข โดยเปรียบเทียบกับประชาชนในบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ความสุขของคนไทยในระยะหลังนี้ก็ลดลงมากและลดลงอย่างต่อเนื่องมา 5-6 ปีแล้ว จากการสำรวจของ World Happiness Report แต่ครอบครัวยังเป็นสถาบันที่เป็นเสาหลักที่เข้มแข็งของสังคมไทย (วรวรรณ และสาวิณี 2565)
แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากรูปแบบครัวเรือนที่เริ่มเปลี่ยนไป ครอบครัวเล็กลง ความต้องการมีบุตรลดลง มีจำนวนครัวเรือนที่อยู่คนเดียว ครัวเรือนคู่รักเพศเดียว ครัวเรือนพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น เพราะมีการหย่าร้างมากขึ้น ครัวเรือนขยายประเภทสามรุ่นมากขึ้น
ครัวเรือนที่มีสมาชิกหลายรุ่นมีแนวโน้มจะเกิดความไม่ลงรอยระหว่างสมาชิกต่างรุ่น ซึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของผู้ปกครองกับชีวิตจริงของโลกที่เปลี่ยนไปตามคุณค่าใหม่
ครอบครัวมีแนวโน้มจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยน้อยลง และสมาชิกครัวเรือนยังมีแนวโน้มที่จะเจอความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจที่มีสาเหตุมาจากปัญหาครอบครัว โดยที่ผู้ก่อความรุนแรงนั้นเป็นคนใกล้ชิดเช่น แม่ พ่อ หรือคู่รัก
“วัด” ยังเป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยสายบุญ และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาในสังคมผ่านการอุทิศกองทุนและแรงงานของพระสงฆ์ ทั้งยังคงบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้สึกรู้ผิดชอบชั่วดีและลดการฆ่าตัวตายอันเพราะเป็นเรื่องผิดเรื่องบาป
แต่บทบาทของวัดในฐานะพื้นที่ที่ 3 ที่บุคคลทั่วไปที่สามารถใช้เพื่อพบปะสังสรรค์ พูดคุยกัน ทำกิจการร่วมกัน แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างอิสระได้เปลี่ยนไปแล้ว วัดถูกทำให้กลายเป็นสถานที่ที่สร้างรายได้ด้วยวิธีที่หลากหลายยิ่งขึ้น
นอกจากพุทธพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและวัตถุมงคลต่างๆ แล้ว จากมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นของวัดในเมืองก็เริ่มทำให้พื้นที่ของวัดที่เคยใช้ร่วมกันเช่นเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์
พื้นที่ในวัดเคยเป็นพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้านนำมาหากินก็ถูกดัดแปลงมาใช้ประโยชน์ กลายเป็นให้ร้านค้าเช่า เป็นที่จอดรถ พื้นที่ของวัดไม่ใช่พื้นที่ส่วนรวมอีกต่อไปและไม่ใช่ที่พักพิงของคนชายขอบอีกต่อไป วัดเริ่มเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กลายเป็นพื้นที่ที่ 3 ของนักท่องเที่ยว
ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 ที่ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่การค้าและพาณิชย์รวมไปถึงร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อได้ค่อยๆ แทรกตัวเข้ามาทดแทนวัดในบทบาทของสถานที่ที่ 3 สำหรับผู้มีรายได้
คนรุ่นใหม่สนใจไปถ่ายรูปที่วัดมากกว่าไปฟังธรรมหรือไปทำทาน และเริ่มหันไปลงทุนในกิจกรรมที่เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นมากกว่าทำบุญเพื่อชาติหน้า สถาบันศาสนาคงต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อที่จะอยู่เคียงข้างคนไทยอย่างมั่นคงในอนาคต
ในชนบท ชุมชนที่หวังความก้าวหน้าได้เริ่มสร้างแหล่งเรียนรู้เป็นสถานที่ที่ 3 ที่ไม่ใช่วัดทั้งในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะจึงน่าจะเป็นโอกาสที่รัฐจะต้องมีการลงทุนในเรื่องอินเทอร์เน็ตและ Wi-Fi ให้เป็นศูนย์กลางที่ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกกว้างได้เต็มที่
“สถาบันการศึกษา” ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งเข้าสู่ยุคสูงวัยและมีจำนวนเด็กเกิดต่ำ ทำให้ต้องมีการหลอมรวมโรงเรียนของรัฐและการล้มละลายของสถาบันศึกษาเอกชน ในขณะเดียวกันความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของการจัดการศึกษาของรัฐ
ทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี (รวมทั้งผู้ที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลาง) พยายามจะส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติทั้งที่ค่าเล่าเรียนแพงมาก เพราะเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนนานาชาติเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ รู้คิด ไม่ท่องจำ มีความเป็นสากล และสามารถสร้างการเรียนรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียนได้
ส่วนปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่แม้จะเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางก็จริง แต่การประท้วงต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียนของนักเรียนทั่วราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าหลักคิด “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ยังเป็นแค่นามธรรม
สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็จะประสบความท้าทายเช่นเดียวกับระดับโรงเรียน จากการลดลงของจำนวนนักศึกษา ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเข้าสู่กระบวนการดิจิทัลภิวัตน์ การปรับกระบวนการสอนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นและมุ่งไปสู่การลดการจ้างงานอย่างจริงจัง
คนในชนบทได้เริ่มรับวิถีชีวิตเมืองมากขึ้น เช่น มีร้านกาแฟแบบสมัยใหม่ เบิกเงินจากตู้เอทีเอ็ม ซื้อหาของจำเป็นจากร้านสะดวกซื้อแทบทุกวัน จนร้านสะดวกซื้อแทบจะกลายเป็นสถาบันหลักในชนบท
ในปัจจุบันคนไทยเข้าร้านสะดวกซื้อบ่อยกว่าไปวัด มีการประเมินว่าเฉพาะร้าน 7-11 มีคนเข้าร้านวันละ 11.8 ล้านคน
นักวิชาการเช่น ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เห็นว่ากระบวนการเซเวนภิวัตน์ ที่มุ่งสร้างความสะดวกจะลดทอนเป้าหมายและคุณค่าอื่นของเมืองและชีวิตเมือง ยกตัวอย่างเช่น การซื้อขายกันในร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์มากเท่าการซื้อขายกันในตลาดระหว่างคนซื้อและคนขายด้วยกัน และลดโอกาสการเกิดขึ้นอย่างหลากหลายของธุรกิจท้องถิ่น
เมื่อเห็นนิวนอร์มอลของชีวิตคนไทยแล้ว สถาบันหลักโดยเฉพาะวัดกับโรงเรียนคงต้องรีบปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ใหม่ เพื่อจะยังคงเป็นสถาบันหลักของชาติต่อไป.