'ซื้อบ้าน' จากกรมบังคับคดี ทำอย่างไร ไม่ให้ภัยถึงตัว
สภาผู้บริโภค ชี้ ‘กรมบังคับคดี’ ต้องแจ้งข้อมูลกับผู้บริโภคให้ครบถ้วน ก่อนซื้อขายบ้านจากการบังคับคดี เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการใช้ตัดสินใจเลือก ซื้อบ้าน
จากกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าของบ้านคนใหม่ ซื้อบ้าน ในเขตอำเภอธัญญบุรี ปทุมธานี จากการขายทอดตลาดมาจากธนาคารเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 แต่เจ้าของบ้านคนเดิมไม่ยอมย้ายออก แม้จะมีการขายบ้านทอดตลาดออกไปแล้ว ระหว่างนั้นเจ้าของบ้านคนใหม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ย้ายออก รวมถึงมีการเจรจาหลายครั้ง จนกระทั่งได้นำหมายศาลเพื่อนำไปเจรจาขอให้ย้ายออกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เจ้าของบ้านเดิมกลับก่อเหตุยิงเจ้าของบ้านคนใหม่เสียชีวิตนั้น
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ประธานคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าทรัพย์เดิมและผู้ซื้อทรัพย์ใหม่ ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงเห็นว่าในการซื้อขายทรัพย์จากการบังคับคดีควรเป็นบทบาทหน้าที่ของ กรมบังคับคดี ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งรายละเอียดทรัพย์กับผู้ซื้อทรัพย์ให้ครบถ้วน
รวมถึง การแจ้งสิทธิตามกฎหมายของผู้ซื้อ เพื่อที่ผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการซื้อทรัพย์ต่อไปได้และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะขึ้นอีกในอนาคต เช่น การแจ้งรายละเอียดของทรัพย์ที่ซื้อว่ายังมีผู้อาศัยอยู่ หรือหากเจ้าของบ้านคนเดิมยังไม่ย้ายออก ผู้ซื้อทรัพย์จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายเพื่อขับไล่เจ้าของบ้านเดิมได้อย่างไรบ้าง
กรมบังคับคดี ต้องมีบทบาทที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นในการจัดการซื้อขายทรัพย์จากการขายทอดตลาดเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคที่ซื้อทรัพย์โดยสุจริต โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคตามสิทธิผู้บริโภคที่ควรต้องรู้ เพื่อเป็นข้อมูลไว้ใช้ในการตัดสินใจก่อนเลือกซื้อบ้าน เช่น ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์ที่ขายทอดตลาด
ตลอดจนการแจ้งผู้ซื้อทรัพย์ว่าทรัพย์ที่จะเข้าไปซื้อยังมีผู้อยู่อาศัยอยู่ แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นภาระของผู้ซื้อทรัพย์ที่ต้องค้นหาข้อมูลเอง ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องเพียงพอต่อการตัดสินใจ และกลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายจนทำให้เกิดเหตุการณ์สลดขึ้น
ปัจจุบันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 334 ระบุว่า ‘… ผู้ซื้อทรัพย์สามารถฟ้องขับไล่ได้ทันทีและสามารถขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีขับไล่เจ้าของบ้านเดิมได้ โดยที่ไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อศาลได้รับคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีได้โดยไม่ต้องไต่สวนหรือรับฟังลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่หากเจ้าของเดิมและบริวารยังไม่ยอมย้ายออกตามคำพิพากษา ผู้ซื้อทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี รายงานศาลขอให้ออกหมายจับเจ้าของเดิมและบริวารได้เลย …’
การมีกฎหมายที่ออกมาในลักษณะนี้ถูกกำหนดออกมาเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เพื่อลดปัญหา ลดแรงปะทะวิวาทกันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับเจ้าของบ้านเดิม