กฎหมายรับรองเพศสภาพของประเทศอังกฤษ | ธนรัตน์ มังคุด
เพื่อเฉลิมฉลอง “Pride Month” คอลัมน์กฎหมาย 4.0 ตลอดทั้งเดือนนี้และต้นเดือนหน้าจึงจะพาผู้อ่านไปเยี่ยมชม “กฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ” ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประเทศไทยยังไม่มีในปัจจุบัน
ประเทศแรกที่ผู้เขียนจะพาไป คือ “สหราชอาณาจักร (United Kingdom)” โดยเน้นไปที่ประเทศอังกฤษ กฎหมายการรับรองเพศที่ว่านี้ คือ Gender Recognition Act 2004 (GRA) ซึ่งตราขึ้นใน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ GRA ใช้บังคับกับทุกประเทศในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) โดยมีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างกันไป แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ บทความนี้จะเน้นไปที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น
ในภาพรวม GRA เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เปลี่ยนเพศเป็น “เพศสภาพที่ได้รับ (Acquired Gender)” ได้รับการรับรองเพศได้ แต่ระบบเพศในภาพรวมยังคงวางอยู่บนระบบสองเพศ (Sex/Gender Binary)
คือ ต้องเปลี่ยนจากชายเป็นหญิงหรือหญิงเป็นชายเท่านั้น และต้องมีการดำเนินการทางการแพทย์บางประการเพื่อพิสูจน์การอยู่ในภาวะ “Gender Dysphoria” (ไม่ต้องถึงระดับผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวก็ยังยึดโยงอยู่กับเรื่องทางการแพทย์ และมีความยุ่งยากสร้างภาระแก่ผู้ร้อง สภาวะนี้จึงนำไปสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง GRA โดยรัฐบาลใน ค.ศ. 2018
ด้วยเหตุนี้ นอกจากความน่าสนใจจะอยู่ที่เนื้อหากฎหมายแล้ว การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง (ไม่ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร) ก็เป็นประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งและน่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ
การทำความเข้าใจ GRA ผู้อ่านควรเห็นภาพรวมของพัฒนาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนี้
ใน ค.ศ. 2004 (ปีเดียวกับที่ GRA ถูกบัญญัติ) มีกฎหมายเกี่ยวกับเพศฉบับสำคัญอีกฉบับถูกตราขึ้น ได้แก่ Civil Partnership Act 2004 หรือ “กฎหมายคู่ชีวิต”
ในเวลาดังกล่าว สหราชอาณาจักรกำหนดให้ความสัมพันธ์ของคู่รักต่างเพศ (สรีระ) และคู่รักเพศเดียวกันอยู่แยกระบบกันอย่างเด็ดขาด
คู่รักต่างเพศอยู่ในระบบการสมรส (Marriage) และคู่รักเพศเดียวกันอยู่ในระบบการเป็นคู่ชีวิต (Civil Partnership)
ต่อมาใน ค.ศ. 2013 สหราชอาณาจักรได้ตรากฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสได้ (Marriage (Same Sex Couples) Act 2013) และขยายให้คู่รักต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ใน ค.ศ. 2019
นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียม (Equality Act 2010) ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเกี่ยวกับเพศด้วย ปรากฏการณ์ทางกฎหมายเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม GRA ในเวลาต่อมา
ผู้ประสงค์ได้รับการรับรองเพศสภาพจะต้องยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition Panel) โดยมีช่องทางการยื่นคำร้อง 3 รูปแบบ ซึ่งในทุกกรณี ผู้ร้องต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (สถิตินับถึง มี.ค. 65) ดังนี้
1. รูปแบบทั่วไป (Standard Route) (93.5 % ของคำร้องทั้งหมด)
ผู้ร้องต้องได้ใช้ชีวิตใน Acquired Gender เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และอยู่ในภาวะ Gender Dysphoria โดยต้องยื่นรายงานทางการแพทย์และ/หรือจิตวิทยาตามที่กำหนด 2 ฉบับ
2. รูปแบบทางเลือก (Alternative Route) (0.85 % ของคำร้องทั้งหมด)
ผู้ร้องต้องได้ใช้ชีวิตใน Acquired Gender ก่อนที่ Marriage (Same Sex Couples) Act 2014 มีผลใช้บังคับมี (10 ธันวาคม ค.ศ. 2014) เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ปี โดยเรียกร้องหลักฐานลดลง คือ รายงานทางการแพทย์และ/หรือจิตวิทยาตามที่กำหนด 1 ฉบับ
หมายเหตุ: ช่องทางนี้เพิ่มเข้ามาเมื่อ ค.ศ. 2014 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการสมรสเพศเดียวกันที่ตราขึ้นใหม่
กล่าวคือ เดิมในขณะที่ยังไม่มีการสมรสของคู่เพศเดียวกัน ผู้ร้องต้องยุติการสมรสก่อนถึงจะได้รับการรับรองเพศสภาพ จึงส่งผลให้ผู้ที่ใช้ชีวิตใน Acquired Gender อยู่แล้วจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่เปลี่ยนเพศสภาพ
หากใช้ช่องทางปกติ บุคคลเหล่านี้ที่เปลี่ยนเพศมาเป็นระยะเวลานานก็อาจจัดหาหลักฐานทางการแพทย์มาประกอบคำร้องได้ยาก
3. รูปแบบต่างประเทศ (Overseas Route) (5.6 % ของคำร้องทั้งหมด)
การที่ผู้ร้องจะได้รับการรับรองเพศสภาพตามช่องทางนี้ ผู้ร้องจะต้องได้รับการเปลี่ยนเพศสภาพในประเทศที่ได้รับการอนุมัติ โดยในปัจจุบันมี 41 ประเทศ (บางประเทศได้รับการรับรองบางพื้นที่)
ในคำร้องทุกรูปแบบ หากผู้ร้องมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิต ผู้ร้องต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลเหล่านี้ด้วย
หากคำร้องได้รับการอนุมัติ ผู้ร้องจะได้รับใบรับรองเพศสภาพฉบับสมบูรณ์ (Full Gender Recognition Certificate) ซึ่งส่งผลให้ใบทะเบียนการเกิด (Birth Register) ของผู้ร้องได้รับการแก้ไข และผู้ร้องจะได้รับประโยชน์ด้านสวัสดิการตามที่ GRA กำหนด
(หากคำร้องไม่เป็นไปตามเงื่อนไขบางประการ ผู้ร้องจะได้รับใบรับรองเพศสภาพฉบับชั่วคราว ซึ่งจะมีระยะเวลากำหนดให้ผู้ร้องทำให้เงื่อนไขเหล่านั้นครบถ้วนต่อไป)
ตามที่กล่าวไปในช่วงต้น GRA วางอยู่บนฐานการรับรองเพศในระบบสองเพศ การยื่นคำร้องอยู่ภายใต้การพิสูจน์ทางการแพทย์ ซึ่งความจริงแท้ของภาวะข้ามเพศ และกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน
รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง GRA ใน ค.ศ. 2018 โดยได้รับความคิดเห็นกว่า 100,000 ความเห็น เนื้อหามีทั้งการวิพากษ์หลักการและรายละเอียดของกระบวนการ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมองว่าหลักการ GRA ยังคงรักษาสมดุลประโยชน์ทุกด้านได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาไว้ซึ่งบริการหรือพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับเพศสรีระเดียวกัน (Single or Separate Sex Services or Space)
รัฐบาลสรุปว่า อุปสรรคหลักที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเชิงกระบวนการและค่าใช้จ่าย ใน ค.ศ. 2021 จึงปรับปรุงให้การดำเนินการอยู่ในระบบออนไลน์และปรับลดค่าธรรมเนียมจากเดิม 140 ปอนด์ (6,000 บาท) ไปเป็น 5 ปอนด์ (215 บาท)
แม้รัฐบาลอังกฤษจะมีความเห็นดังกล่าว แต่รัฐบาลสกอตแลนด์ได้นำผลไปต่อยอด และมีการจัดทำร่างกฎหมายการรับรองเพศสภาพที่วางอยู่บนฐาน “การยืนยันตนเอง (Self-declaration)” ของผู้ร้อง ร่างฯ
ดังกล่าวถูกส่งไปยังรัฐสภาสหราชอาณาจักรเพื่อตราเป็นกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าว (เมื่อเดือน ม.ค. 66)
ด้วยเหตุผลด้านความเป็นเอกภาพของกฎหมาย GRA ที่ใช้บังคับในสกอตแลนด์ จึงยังคงวางอยู่บนหลักการเดียวกับอังกฤษ.