ไม่ใช่คนผิด แต่ดันรู้สึกผิด เมื่อ ‘การชักจูงทางจิตวิทยา’ กระทบใจวัยทำงาน
ไม่ได้ทำความผิด แต่ถูกทำให้รู้สึกผิด สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? รู้จักเทคนิคโน้มน้าวใจฝ่ายตรงข้าม ด้วยการชักจูงทางจิตวิทยาให้ตัวเองพ้นผิด ไปจนถึงการสื่อสารที่ไร้ความชัดเจนเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่น
Key Points:
- การชักจูงทางจิตวิทยา เรียกได้ว่าเป็นการใช้ความสัมพันธ์ครอบงำพฤติกรรมและความคิดของอีกฝ่าย เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
- Gaslighting คือการลดทอนความรู้สึกอีกฝ่าย เพื่อปลูกฝังความคิด ความรู้สึกผิด และความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง
- Guilt Trip เป็นการใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบังคับให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดและยอมทำตาม แม้ว่าเขาคนนั้นจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ตาม
เคยรู้สึกไหม? ว่าทำไมในบางสถานการณ์หรือบางบทสนทนา เรากลับกลายเป็นฝ่ายผิดทั้งที่ความจริงแล้วเรายังไม่ทันได้ทำอะไร ในทางตรงกันข้ามอีกฝ่ายอาจเป็นคนผิดด้วยซ้ำ แต่เขาคนนั้นกลับก็มีเหตุผลสนับสนุนให้ตัวเองไม่ใช่คนผิดซะอย่างนั้น หรือบางครั้งทำไมเราจึงคล้อยตามคนอื่นได้ง่าย ? นั่นเป็นเพราะคนเหล่านั้นมีวิธี “การชักจูงทางจิตวิทยา” หรือ “Emotional Manipulation” ซึ่งมีเหตุผลและจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป ซึ่งการใช้วิธีการนี้ อาจร้ายแรงถึงขั้นกระทบต่อสุขภาพจิตของอีกฝ่ายได้ โดยเฉพาะหากทำไปเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจหรือเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด
“การชักจูงทางจิตวิทยา” คือ วิธีการใช้ความสัมพันธ์เชิงอิทธิพล หรือ เชิงอำนาจ เพื่อนำไปสู่การครอบงำทางพฤติกรรมหรือความคิดต่อบุคคลอื่น โดยที่ไม่ได้รับความยินยอม (ในบางครั้งอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
โดยส่วนมากจะใช้วิธีการครอบงำ ชักจูง ชี้นำ โน้มน้าว ไปจนถึงการล่อลวงในรูปแบบอื่นๆ ในลักษณะของการบังคับให้อีกฝ่ายยอมทำตามที่ตัวเองต้องการ ซึ่งวิธีที่พบว่าถูกนำมาใช้กันมากที่สุดมีอยู่ 2 แบบ คือ Gaslighting และ Guilt trip
- การลดทอนความรู้สึกอีกฝ่าย ด้วย Gaslighting
คิดมากไปหรือเปล่า, ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วง, ไม่เชื่อใจกันเลยเหรอ, ทำไมไม่อดทน คนอื่นยังทนได้เลย ฯลฯ หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคเหล่านี้ และแม้ว่าจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร หรือไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็ทำให้เชื่อว่าตัวเองอาจทำผิดจริงๆ นั่นเป็นเพราะคุณติดกับดักทางจิตวิทยาของการใช้คำพูดเหล่านี้ เนื่องจากฟังแล้วดูไม่เหมือนคำโกหก แต่ความจริงคือ คนที่ใช้คำพูดเหล่านี้กับคุณ พวกเขากำลังปลูกฝังความคิด ความรู้สึกผิด และความไม่เชื่อมั่นในตัวเองให้คุณอยู่
ใครที่ถูกทำให้รู้สึกผิดอยู่บ่อยครั้งโดยที่ไม่รู้ตัว มักจะได้รับผลกระทบทางจิตใจรวมถึงสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้นบุคคลที่ต้องพบกับ “Gaslighting” มาตลอดในทุกความสัมพันธ์รอบตัวอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในอนาคตได้
- รู้ได้อย่างไรว่า Gaslighting กำลังเกิดขึ้นกับเรา และแก้ไขได้อย่างไร?
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังถูกครอบงำจากพฤติกรรม Gaslighting จากคนรอบข้างอยู่หรือไม่? สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ต้องขอโทษอีกฝ่ายก่อนเสมอ คล้ายกับว่าเราเป็นฝ่ายผิดอยู่ตลอดเวลา
- เริ่มมีความเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกต้อง เริ่มมองว่าทำอะไรก็ผิดเสมอ
- มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา รวมถึงระแวงว่าอาจทำอะไรไม่ถูกใจคนอื่น
- สูญเสียความมั่นใจในตัวเองและเสียความเป็นตัวตนของตัวเอง
- เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิด การตัดสินใจของตัวเองจนไม่กล้าตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ
- มีความรู้สึกแปลกแยก แตกต่าง ผิดหวังในตัวเอง และมีความกังวลว่าคนอื่นจะผิดหวังในตัวเรา
ในส่วนของวิธีการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ที่เรากำลังถูกใครสักคน “ชี้นำเชิงจิตวิทยา” อยู่นั้น สามารถทำได้โดยเริ่มจากการเว้นระยะห่างออกจากบุคคลและสถานการณ์ดังกล่าว แล้วหันมาใช้เวลากับตัวเองเพื่อผ่อนคลายและได้ใช้ความคิดทบทวนสิ่งที่กำลังพบเจอ รวมถึงเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้สำหรับยืนยันกับตัวเองหรือบุคคลอื่นๆ เมื่อพวกเขาพยายามอ้างถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยที่เราอาจไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่เมื่อไม่มีหลักฐาน เช่น การบันทึกภาพ หรือ การจดบันทึก หลังจากนั้นให้ลองมองสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญด้วยมุมมองของบุคคลที่ 3 เพื่อที่จะได้มองในมุมต่างและประมวลสถานการณ์ออกมาได้ดีขึ้น
ในขั้นตอนสุดท้ายให้พยายามพาตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์เหล่านั้น แม้จะเป็นเรื่องยากแต่หากต้องพบเจอกับ Gaslighting อยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพจิตใจมากขึ้น ดังนั้นการถอยออกมาจึงเป็นวิธีที่รักษาใจได้ดีที่สุด
- Guilt Tripping ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่และอับอาย แม้ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
อีกหนึ่งวิธีการชักจูงทางจิตวิทยาที่ส่งผลเชิงลบต่อผู้อื่นก็คือ Guilt trip เป็นวิธีที่ใช้ความรู้สึกผิดของผู้อื่นมาเป็นเครื่องมือกดดัน เพื่อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงวิธีคิด อารมณ์ และ การกระทำ ให้ถูกใจเรามากที่สุด อาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์รูปแบบหนึ่งเช่นกัน และมักเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ลูก เพื่อนสนิท หรือคนรัก เนื่องจากความสนิทสนมบางครั้งทำให้คนมักใส่ใจและเกรงใจกันมากขึ้น ทำให้ในบางเหตุการณ์เราจึงรู้สึกผิด ทั้งที่ความจริงแล้วยังไม่ทันได้ทำอะไรผิดเลย สำหรับ Guilt trip สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. การบังคับ
เนื่องจากจุดประสงค์หลักของ Guilt Trip คือการหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการพยายามบังคับอีกฝ่ายทางอ้อมด้วยการใช้ความสัมพันธ์มาเป็นข้ออ้าง เช่น บังคับให้โดดเรียนไปด้วยกัน เนื่องจากเป็นเพื่อนกัน แม้อีกฝ่ายจะไม่เต็มใจ แต่ก็ไม่อยากเสียความเป็นเพื่อนไป
2. เลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา
ในหลายความสัมพันธ์หากมีปัญหาหรือทะเลาะกัน มักจะมีฝ่ายหนึ่งที่ยกเรื่องอื่นขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายหยุดทะเลาะหรือเงียบไปก่อน เช่น อย่าเพิ่งคุยกันเรื่องนี้ วันนี้ทำงานมาเหนื่อยแล้ว และปล่อยให้ปัญหาค้างคาอยู่ในความรู้สึกอีกฝ่าย
3. การสั่งสอนทางศีลธรรม
คือรูปแบบการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของอีกฝ่ายให้เหมือนตัวเอง โดยการพยายามให้สิ่งที่อีกฝ่ายทำกลายเป็นเรื่องที่ผิด และแสดงออกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เช่น การบอกคนอื่นว่า แม้จะทำงานเสร็จเร็วก็ห้ามกลับก่อน เพราะตัวเองยังรอกลับพร้อมคนอื่นได้ แต่ในความจริงแล้วกฎขององค์กรก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าห้ามกลับบ้านเร็วเมื่องานเสร็จ
4. ทำให้อีกฝ่ายเห็นใจ
ในบางความสัมพันธ์หรือบางคนอาจจะเลือกทำร้ายตัวเองเพื่อรั้งให้อีกฝ่ายยังอยู่ด้วย โดยการพยายามยัดเยียดให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่ทำให้ตัวเองเจ็บ แม้ว่าวิธีนี้จะได้ผลบ้างและไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เป็นพิษหรือ Toxic Relationship ตามมา
สำหรับผลกระทบที่ตามมาจากพฤติกรรม Guilt Trip นั้นมีหลายอย่าง เช่น ทำลายความสัมพันธ์ได้ทุกประเภท ซึ่งเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ความไม่พอใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเกิดขึ้นหลายครั้งก็ส่งผลเสียต่อบุคคลในความสัมพันธ์ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะเป็น ความวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ นอนไม่หลับ และโรคซึมเศร้า
ดังนั้นวิธีรับมือจาก Guilt Trippers ที่ดีที่สุดคือ ความกล้าเผชิญหน้ากับความจริง กล้าบอกปัญหาที่เกิดขึ้นไปตามตรง ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นสร้างความไม่พอใจหรือไม่สบายใจให้กับเราและผู้อื่นอย่างไรบ้าง รวมถึงพยายามชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องรับฟังเหตุผลด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นทำไปเพื่ออะไร
ท้ายที่สุดแล้ว “การชักจูงทางจิตวิทยา” หรือ “Emotional Manipulation” ในบางครั้งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจของอีกฝ่าย ดังนั้นหากเราเข้าใจและไม่คล้อยตาม รวมถึงมีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน ก็สามารถหาทางออกร่วมกันได้โดยไม่ผิดใจกัน แต่เมื่อไรที่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดมากจนเกินไป การถอยออกมาพักสักครู่หนึ่งเพื่อหาวิธีทำความเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องผิด
อ้างอิงข้อมูล : verywell mind, Mission to The Moon, Wiki Wand และ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย