ภาวะ ‘Money Dysmorphia’ ตั้งหน้าตั้งตา ‘เก็บเงิน’ จนเครียด มีเงินก็ไม่ยอมใช้
การตั้งเป้าเก็บเงินและมีเงินเก็บสำรองไว้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราเอาแต่เก็บเงินจนไม่ได้ใช้ชีวิต และมีความรู้สึกว่าเก็บเงินเท่าไรก็ไม่พอ แบบนี้อาจเข้าข่ายภาวะ “Money Dysmorphia” (มันนี ดิสมอร์เฟีย) หรือพฤติกรรมที่เอาแต่เก็บเงินจนเครียด
คนส่วนใหญ่มักตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อดูแลสุขภาพในอนาคต เพื่อเป็นเงินเก็บสำรองยามฉุกเฉิน หรือเพื่อเป็นเงินเกษียณไว้ใช้ในยามแก่ชรา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะเริ่มวางแผนการเงินเอาไว้ตั้งแต่ช่วงวัยทำงาน
แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่า “เก็บเงินเท่าไรก็ไม่พอ หรือมีเงินเก็บเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าซื้อของให้ตัวเอง ไม่กล้านำเงินไปใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง”
ใครที่กำลังติดอยู่ในความคิดเหล่านี้และเริ่มมีนิสัยการเก็บเงินแบบสุดโต่ง รู้ไว้ว่าคุณอาจกำลังเข้าข่ายภาวะ Money Dysmorphia
การมีเงินเก็บจำนวนมากอาจเป็นเรื่องดีสำหรับใครหลายคน เพราะถือว่ามีอิสระทางการเงิน สามารถแบ่งเงินมาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นได้บ้าง แต่กับผู้ที่มีภาวะ “Money Dysmorphia” หรือ “อาการเก็บเงินจนเครียด” พวกเขาจะไม่ยอมนำเงินเก็บออกมาใช้จ่ายเลย ซึ่งในบางครั้งก็อาจไม่กล้าใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นเสียด้วยซ้ำ เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีราคาค่อนข้างสูงแต่คุณภาพดี หรือซื้ออาหารที่มีคุณภาพสูงที่มีราคาสูงตามไปด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและเลือกที่จะเก็บเงินไว้ดีกว่า จนนำไปสู่ความเครียดเนื่องจากไม่กล้าใช้จ่ายอะไรเลยในที่สุด
- สาเหตุหลักของภาวะ Money Dysmorphia
ภาวะ Money Dysmorphia มักจะเกิดกับผู้ที่มีเงินเก็บเพียงพออยู่แล้ว แต่กลับไม่ยอมใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเอง เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานะทางการเงินแม้ว่าจะมีเงินเก็บมากพออยู่แล้ว ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะดังกล่าวสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. กังวลกับสถานะทางการเงิน
กลุ่มคนที่เริ่มเข้าข่ายภาวะ Money Dysmorphia นั้น ส่วนมากมักจะกังวลกับสถานะทางการเงินในอนาคตของตัวเองมากเกินไป เช่น กลัวว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าตัวเองจะมีเงินเก็บสำรองในส่วนนี้มากพอแล้วก็ตาม
2. กดดันตัวเองมากเกินไป
ปัจจุบันหลายคนเริ่มหันมาเก็บเงินทีละมากๆ ในแต่ละเดือน เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตหลังเกษียณ และในปัจจุบันหลายคนเลือกจะเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้คนที่มีภาวะ Money Dysmorphia อยู่แล้ว ก็ยิ่งกดดันตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว และยิ่งไม่กล้าใช้เงินเพื่อความสุขของตัวเองมากขึ้น
3. มีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน
หากใครที่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการเงินในอดีต เช่น เคยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และต้องใช้เวลานานกว่าจะทยอยจ่ายจนหมด เคยติดหนี้บัตรเครดิต ติดเครดิตบูโร หรืออาจเคยอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมาก่อนจนมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก เป็นต้น
- ภาวะ “สุขภาพจิต” ที่เกี่ยวกับ “การเงิน” ยังมีอีกหลายประเด็น
นอกจากภาวะ Money Dysmorphia ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในทางอ้อมเนื่องจากกดดันตัวเองจนเครียดแล้ว ยังมีภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินและอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- โกหกหรือปกปิดเรื่องเงินกับคนในบ้าน
พฤติกรรมนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวได้ในอนาคต เนื่องจากคู่รักหลายคู่มักปกปิดปัญหาด้านการเงินกับอีกฝ่าย และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีปัญหาครอบครัวตามมา โดยเฉพาะการหย่าร้าง
- พยายามลืมปัญหาทางการเงิน
คนที่มีอาการนี้มักจะเป็นคนที่กำลังมีปัญหาด้านการเงิน แต่พยายามหลอกตัวเองว่ายังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้จะมีเงินสำรองจ่ายน้อยหรืออาจจะไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ทำให้คนเหล่านี้มักจะชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด หรือมีเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ทำให้ตัวเองมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
- เสพติดการใช้เงิน
เป็นอาการที่ตรงกันข้ามกับภาวะ “เก็บเงินจนเครียด” โดยคนที่มีอาการนี้มักจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้ใช้จ่ายเงิน โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าสินค้าและบริการเหล่านั้นมีความจำเป็นหรือไม่ และที่สำคัญไม่ได้ประมาณรายจ่ายของตัวเองว่าจะมีเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ในบางคนอาจจะใช้จ่ายเพื่อแก้เครียดหรือแก้เบื่อ แต่สำหรับบางคนอาการนี้คือจุดเริ่มต้นของอาการทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือ ไบโพลาร์
แม้ว่าการมีเป้าหมายในการ “เก็บเงิน” และประมาณรายจ่ายของตัวเองจะเป็นเรื่องดีและมีความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมสังคมปัจจุบัน แต่ความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองบ้าง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะอะไรที่ตึงเครียดจนเกินความพอดีย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันได้
อ้างอิงข้อมูล : Timevalue Millionaire, Billionmoney และ Brandinside