‘Toxic Positivity’ คิดบวกจนเป็นพิษ เสี่ยงต่อพฤติกรรมบิดเบือนความจริง
การมองโลกในแง่ดี หรือคิดอะไรในแง่บวก ส่งผลดีต่อชีวิตก็จริง แต่หากมากเกินไปก็อาจกลายเป็นพิษได้ ชวนรู้จัก “Toxic Positivity” หรือภาวะคิดบวกจนเป็นพิษที่ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนความจริง
Key Points:
- การคิดบวกในชีวิตประจำวันช่วยส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่หากมากเกินไปก็อาจกลายเป็นผลเสียได้
- ภาวะ “คิดบวกมากเกินไปจนเป็นพิษ” (Toxic Positivity) ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะเมื่อพยายามปิดบังความคิดลบอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มีอาการป่วยทางจิตได้ เช่น มักมีความคิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานโลกความจริง
- การฝึกมองโลกตามความเป็นจริงนอกจากจะทำให้เข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงทีแล้ว ยังช่วยพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้
ในทางจิตวิทยานั้น “การคิดบวก” หรือ Positive Thinking เป็นหนึ่งในวิธีง่ายๆ ที่ทำให้เรามีความเข้มแข็มทางจิตใจมากขึ้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต แต่ในทางกลับกัน หากคิดบวกมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน โดยเรียกภาวะดังกล่าวว่า ความคิดบวกเป็นพิษ หรือ Toxic Positivity
สำหรับ “ความคิดบวกเป็นพิษ” นั้น ลอรา กัลลาเฮอร์ (Laura Gallagher) นักจิตวิทยาจากสถาบันกัลลาเฮอร์ เอดจ์ อธิบายไว้ว่า เป็นสภาวะที่คนบางคนพยายามกดอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดทางลบไว้ด้วยความคิดบวกแบบมากเกินพอดี จนเกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกเอาเปรียบ ความรู้สึกเก็บกดที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิต หากใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายป่วยด้วยภาวะนี้หรือไม่ สามารถสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้
- สัญญาณบ่งชี้การเกิดภาวะ “ความคิดบวกเป็นพิษ”
1. ขาดความกล้าในการแสดงความคิดเห็น (Lack of Assertiveness)
สำหรับหลายคนเมื่อถูกทำร้ายทั้งร่างกายหรือจิตใจไม่ว่าจะรูปแบบใด จากคนที่รู้จักหรือไม่รู้จัก ก็จะพยายามมองหาข้อดีของการกระทำนั้นเพื่อปลอบใจตัวเอง ส่งผลให้ไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่กล้าบอกความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ส่งผลให้ถูกทำร้ายแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเพราะไม่กล้าลุกขึ้นสู้
2. ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่ผิดปกติให้เป็นปกติ (Normalize abnormal situations)
หมายถึง การถูกเอาเปรียบทั้งแบบซึ่งหน้าและแบบไม่รู้ตัว เช่น โดนแซงคิว โดนโยนงาน หรือ โดนขโมยผลงาน แต่ผู้คนที่มองโลกในแง่ดีเกินไปก็จะพยายามยอมรับความไม่ถูกต้องทั้งหลาย ด้วยการหาเหตุและผลมารองรับสถานการณ์เหล่านั้น และมองว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องแก้ไขและป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว
3. การเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว (Ignorance)
หลังจากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงขึ้นมาในสังคม กลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีจนเป็นพิษ มักเลือกที่จะไม่รับรู้เหตุการณ์เหล่านั้น เพราะไม่อยากให้ตัวเองเครียดหรือมีความกังวล แต่ความเพิกเฉยและไม่สนใจเรื่องราวอะไรเลยแบบนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถตั้งรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ทัน เช่น พยายามไม่สนใจข่าวหรือเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นและพยายามใช้ชีวิตปกติ แต่รู้ตัวอีกที ตัวเองอาจจะป่วยหรือมีปัญหาเรื่องหน้าที่การงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไปแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถตั้งรับหรือตั้งตัวได้ทันท่วงที เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน
4. บิดเบือนความจริง (Distortion)
เมื่อรับรู้เหตุการณ์ที่ไม่สบายใจ ก็จะบิดเบือนความจริงนั้นด้วยการปลอบใจตัวเอง เช่น เมื่อถูกรถชนเพราะความประมาทของผู้อื่น ก็จะปลอบใจตนเองว่า “ถึงเราจะโดนรถชน แต่เราก็ยังรอดชีวิต” ซึ่งคำปลอบใจตนเองเหล่านี้แม้จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นภายในจิตใจ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์จริงดีขึ้น
5. ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Lack of Empathy)
ในกรณีที่คนรอบข้างของผู้ที่มีภาวะ “ความคิดบวกเป็นพิษ” ต้องพบเจอกับปัญหาในชีวิต พวกเขาจะปลอบใจคนรอบตัวเหล่านั้นว่า “เรื่องแค่นี้เอง” และไม่ยอมรับฟังความทุกข์ของคนอื่น เพราะมีทัศนคติว่าทุกปัญหามีทางออก แต่การหาทางออกของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และช่วงเวลา ดังนั้นการเลือกไม่รับฟังและปลอบใจว่าเป็นเรื่องแค่นี้เอง อาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเศร้าและดิ่งลงกว่าเดิมได้
6. โทษผู้อื่นและหาข้ออ้าง (Projection and Rationalization)
เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น กลุ่มคนที่มีภาวะ “ความคิดบวกเป็นพิษ” มักจะคิดว่าสิ่งนี้เป็นความผิดของคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ทำให้มีแนวโน้มจะกล่าวโทษคนอื่น หรือหาข้ออ้างให้กับตัวเองในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
- ต้องรีบแก้ไข! หากพบว่าตนเองมีภาวะ “ความคิดบวกเป็นพิษ” จนส่งผลเสีย
1. รับรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น
หากเราถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนรู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือนเกินกว่าจะรับได้ นักจิตวิทยาแนะนำว่า ควรบอกความรู้สึกกับผู้ที่ทำให้เรารู้สึกแย่ออกไปไม่ว่าจะบอกโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้และจำเป็นต้องมีวุฒิภาวะในการบอกกล่าวโดยไม่ให้อารมณ์เป็นใหญ่
2. กล้าโต้แย้ง ตั้งข้อสังเกต ในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อรู้ตัวว่าถูกลิดรอนสิทธิ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จำเป็นต้องโต้แย้งด้วยความระมัดระวัง สุภาพ ไม่ให้ร้ายผู้อื่น หรือถ้ามีหลักฐานก็ควรยื่นให้กับผู้มีอำนาจหรือผู้ที่สามารถช่วยเหลือเราได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
3. เข้าใจตัวเอง ไปพร้อมเข้าใจผู้อื่น
สิ่งสำคัญของการเข้าใจตัวเองคือ การทำให้เรารักษาสุขภาพจิตตนเองได้ดี เพราะจะไม่ยอมรับในสิ่งที่รบกวนจิตใจหรือไม่ยอมถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
4. มองโลกตามความเป็นจริง
การมองโลกตามความเป็นจริงคือการมองโลกที่ดีที่สุด โดยการพิจารณาสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและหาทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม รวมถึงทำให้ยอมรับความเป็นจริงทั่วไปของโลกได้ และยอมรับตัวเองได้มากขึ้น เพื่อเข้าใจข้อดีข้อเสียของตัวเองและนำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต
สุดท้ายแล้วการมองโลกในแง่ดีหรือเป็นคนคิดบวกนั้น ไม่ใช่เรื่องผิด และถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิต แต่อะไรที่มากเกินพอดีก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราได้เช่นกัน ดังนั้นการมองโลกตามความเป็นจริงและยอมรับมันได้คือสิ่งที่ดีที่สุด