“Dissociative Amnesia” ภาวะสูญเสียความทรงจำ ที่ปรากฏใน MV “OMG” ของ NewJeans
ภาพของสาวๆ NewJeans ในมิวสิกวิดีโอเพลงล่าสุด “OMG” ที่จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใครและแสดงท่าทางแปลกๆ ออกมานั้น รู้หรือไม่? พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะ “สูญเสียความทรงจำ” จากการถูกกระทบกระเทือนทางอารมณ์
จิตแพทย์, แมว, ไอโฟน และ เจ้าหญิง คือ ลักษณะท่าทางต่างๆ ที่สมาชิกวง NewJeans แสดงออกมาเพื่อสื่อสารกับคนดูในมิวสิกวิดีโอเพลง OMG ทั้งการบอกกับเพื่อนสมาชิกว่าตัวเองเป็นสิ่งเหล่านั้น และแสดงพฤติกรรมแปลกๆ ออกมา ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับภาวะ “สูญเสียความทรงจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์” หรือ Dissociative Amnesia ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะทำให้กลายเป็นโรคหลายบุคลิกได้ในอนาคต
การสูญเสียความทรงจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ คือ ภาวะที่ความทรงจำของผู้ป่วยสูญหายไปบางช่วง หลังเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจขั้นรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ ถูกทำร้าย หรือล่วงละเมิด สูญเสียคนรัก เป็นต้น อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และเป็นอาการในกลุ่ม Dissociative Disorders หรือ ภาวะที่ความทรงจำ สติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว เอกลักษณ์ หรือการรับรู้สภาพแวดล้อมมีความผิดปกติ
ที่สำคัญ ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวแม้กระทั่งชื่อของตัวเองได้ ซึ่งปกติแล้วข้อมูลเหล่านี้จะไม่หายไปในภาวะการหลงลืมปกติทั่วไป แต่กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย สำหรับภาวะดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มโรคหลงผิด แต่ไม่ใช่กลุ่มโรคจิตเภท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้สูญเสียความจำเพื่อการรักษาและการจ่ายยาที่เหมาะสม
- ทำไมผู้ป่วยภาวะ Dissociative Amnesia จึงสูญเสียความทรงจำ
ไม่ใช่แค่ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางอารมณ์อย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดขั้นรุนแรงอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากๆ เช่น สงคราม การถูกทารุณ อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่พบเจอมา หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งภายในจิตใจ เช่น ความรู้สึกผิดในใจ ปัญหาค้างคาใจที่ไม่อาจแก้ไขได้ หรือความเสียใจในการกระทำของตนเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียตัวตนของตัวเองไปและสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา ส่งผลให้ความทรงจำก่อนหน้านั้นหายไปทั้งหมด สำหรับตัวตนและความทรงจำที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น อาจจะประกอบด้วยเรื่องเพ้อฝันที่ไม่เป็นความจริง
สาเหตุที่ผู้ป่วยสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่อาจเกิดจากความต้องการตัดขาดตนเองออกจากสถานการณ์ตึงเครียด หรือพยายามแยกความทรงจำที่เลวร้ายออกจากชีวิต ดังนั้นการสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างขึ้นมา อาจเป็นกลไกการป้องกันตัวจากความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์ที่เคยพบเจอในอดีต แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบันแล้วก็ตาม
ภาพ ฮันนี่ ที่เชื่อว่าตัวเองเป็น ไอโฟน จาก MV เพลง OMG
ภาพ มินจี ที่เชื่อว่าตัวเองเป็น จิตแพทย์ จาก MV เพลง OMG
- อาการของ Disscociative Amnesia
สำหรับอาการของผู้ป่วยภาวะ “สูญเสียความทรงจำ” นอกจากไม่สามารถจำข้อมูลของตนเอง เหตุการณ์ และรายละเอียดพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันตนเองได้แล้ว บางคนก็จะแสดงอารมณ์ไม่พอใจต่อคนรอบข้าง หรือบางคนมีทีท่าเหนื่อยหน่าย เฉยเมย คล้ายกับไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย แต่ที่สำคัญผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นตามมา ทำให้กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่เข้าสังคม หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ยาก
สำหรับผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการของโรคจิตเวชอื่นๆ แทรกซ้อนด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือภาวะทางจิตต่างๆ ยกตัวอย่างในมิวสิกวิดีโอที่ ฮเยอิน คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงในนิยาย เรียกว่า อาการ Princess Syndrome หรือ การหมกมุ่นกับรูปลักษณ์และชีวิตในฝัน คนที่มีอาการเหล่านี้มีภาวะทางจิตเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมคล้ายกับอยู่ในนิยายหรือนิทาน มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง แถมยังกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าหรือเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อหน้าตาดีเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะ Dissociative Amnesia หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจทำให้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้น โรคหลายบุคลิก ได้ในที่สุด เนื่องจากมีสาเหตุมาจากการกระทบกระเทือนทางความรู้สึกเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีหลายบุคลิกอาจมีสองอัตลักษณ์หรือมากกว่านั้นผสมอยู่ในคนเดียว และจะไม่รู้ตัวว่าตัวตนอีกคนกระทำอะไรลงไปบ้าง รวมถึงจะมีอาการปวดหัวรุนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
ภาพ ฮเยอิน ที่เชื่อว่าตัวเองเป็น เจ้าหญิง จาก MV เพลง OMG
ภาพ แฮริน ที่เชื่อว่าตัวเองเป็น แมว จาก MV เพลง OMG
- เมื่อความทรงจำหล่นหาย มีวิธีรักษาอย่างไร
หลังจากแพทย์ตรวจประเมินผลอย่างละเอียดด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้ว อาจต้องใช้การวินิจฉัยหลายวิธี เช่น ภาพวินิจฉัยระบบประสาท (neuroimaging) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEGs) หรือ การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบระบบประสาท หรือความเจ็บป่วยอื่น ไปจนถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการป่วยได้
แต่ถ้าไม่พบว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางกายใดๆ อาจต้องเข้ารับการตรวจประเมินโดยนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยการพูดคุยซักประวัติที่มีการออกแบบมาเพื่อประเมินอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
สำหรับการรักษาภาวะ “สูญเสียความจำ” จากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์จำเป็นต้องสืบหาสาเหตุหรือเหตุการณ์สะเทือนใจ ที่ทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม เพื่อช่วยฟื้นฟูความจำของผู้ป่วย รวมถึงจำเป็นต้องจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการรักษา และใช้การสะกดจิตจากผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย หรือใช้ยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะถูกสะกดจิต
แต่ข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วยภายใต้ฤทธิ์ยาหรือการสะกดจิตอาจมีความบิดเบือนและผสมกับความเพ้อฝัน จึงเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญน้อยมากในการสืบค้น ดังนั้นการสอบถามจากคนรอบตัวผู้ป่วยอย่างละเอียดก็ถือว่าช่วยได้เช่นกัน
สำหรับใครที่สังเกตว่าคนรอบตัวอาจเข้าข่าย ภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรงมา โดยเริ่มมีบุคลิกหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปควรพาไปพบแพทย์ก่อนที่การรักษาจะทำได้ยาก
---------------------------------------------
อ้างอิง : Msd Manuals, TH medicineh, Hello Doctor และ พบแพทย์