‘อดนอน’ บ่อย ระวัง ‘ประสาทหลอน’ อาการจิตเวชอาจเกิดได้หากนอนไม่พอ

‘อดนอน’ บ่อย ระวัง ‘ประสาทหลอน’ อาการจิตเวชอาจเกิดได้หากนอนไม่พอ

การนอนหลับถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ แต่หากนอนมากไปหรือนอนน้อยไปก็ย่อมส่งผลเสีย โดยเฉพาะการ “อดนอน” ที่อาจทำให้เกิดภาวะ “ประสาทหลอน” ได้

Key Points:

  • การอดนอนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพร่างกายมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่อ่อนเพลียเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาเหวาน ภูมิคุ้มกันลดลง และฮอร์โมนผิดปกติ
  • นอกจากจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยแล้ว การอดนอนยังส่งผลให้เกิดโรคทาง “จิตเวช” อีกด้วย
  • หนึ่งอาการทางจิตเวชที่เกิดจากการอดนอนมากเกินไป คือ “ภาวะประสาทหลอน” ที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต

ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ใครหลายคนต้องอดหลับอดนอนโดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องเร่งทำงานมากมายหลายอย่าง ส่งผลให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ “การนอน” เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพพื้นฐานอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายสามารถซ่อมแซมและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอได้ดีที่สุด จึงเป็นที่มาว่าทำไมมนุษย์เราจึงควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง

การ “อดนอน” ถ้าเพียงแค่ 1-2 วัน อาจจะยังไม่พบกับผลเสียอะไรมากนัก นอกจากร่างกายอ่อนเพลีย แต่ถ้าปล่อยไว้หลายวันมากเกินไปนอกจากจะส่งผลเสียทางด้านร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตถึงขั้น “ประสาทหลอน” หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Sleep Deprivation ได้เลยทีเดียว

  • “อดนอน” ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

1. ร่างกายอ่อนเพลีย

แน่นอนว่าผลกระทบลำดับต้นๆ ของการ “อดนอน” ย่อมหนีไม่พ้นร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอในแต่ละวัน ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า หากร่างกายมีพลังงานอยู่ 100% จะหมุนเวียนพลังงานใช้จริงอยู่เพียง 70% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 30% จะเป็นพลังงานสำรองของชีวิตเพื่อใช้ในยามเจ็บป่วยหรือภาวะฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงจะถูกดึงมาใช้เมื่อร่างกายมีภาวะอดนอน ดังนั้นถ้าอดนอนสั้นๆ จะไม่เป็นอะไรมาก  แต่หากอดนอนมากเกินไปพลังงานที่เหลือ 30% นี้ก็จะร่อยหรอลง และเมื่อนั้นก็จะมีอาการเจ็บป่วยทางกายที่ชัดเจนขึ้น

2. เป็นบ่อเกิดของโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

เนื่องจากในช่วงที่อดนอนจะทำให้เกิดความรู้สึกหิว ส่งผลให้อยากกินอาหารที่มีพลังงานและคาร์โบไฮเดรตสูงมากขึ้น การนอนไม่พอจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนได้ นอกจากนี้การนอนไม่พอยังส่งผลต่อระบบในร่างกายให้หลั่งน้ำตาลออกมาในระบบเลือดมากขึ้น และถ้าร่างกายหลั่งน้ำตาลในเลือดมากผิดปกติเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลง ระบบฮอร์โมนผิดปกติ

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าในช่วงการนอนหลับตอนกลางคืน เป็นเวลาสำคัญที่ร่างกายคเราจะซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอต่างๆ แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ จะฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย ดังนั้นการอดนอนจึงทำให้ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันลดลงนั่นเอง นอกจากนี้ระบบฮอร์โมนก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูประสิทธิภาพในช่วงที่ร่างกายนอนหลับได้เต็มที่ ดังนั้น การอดนอนจึงทำให้ระบบภายในของร่างกายผิดเพี้ยนไปโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์

  • “ภาวะประสาทหลอน” เกิดขึ้นได้หากนอนไม่พอ

การนอนไม่พอหรืออดนอนเป็นเวลานานมากเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอีกด้วย เพราะการนอนหลับมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตโดยตรง โดยอาจทำให้เกิดอาการทางจิตเวชได้ ดังนี้

- มีความคิดสับสน ไม่มีสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป ทั้งเรื่องการทำงานหรือเรื่องการจัดการชีวิตในแต่ละวัน เกิดความคิดหลายอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกว่า Racing Thoughts

- เกิดความเชื่อหรือความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือมีอาการหลงผิดที่เรียกว่า Delusion

- เกิดอาการประสาทหลอน (Hallucinations) เกิดการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน ได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติไปเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน ตอบสนองทางอารมณ์ลดลง ไปจนถึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

  • เช็กอาการเราเข้าข่ายนอนไม่พอหรือไม่?

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองนอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตตัวเองได้เบื้องต้นดังนี้

- ตื่นนอนตอนเช้า รู้สึกไม่สดชื่น อยากนอนต่อไปเรื่อยๆ

- ระหว่างวัน มีอาการง่วงนอน รู้สึกตื่นไม่เต็มตา ทำงานลำบากเพราะยังง่วงอยู่

- ถ้ามีโอกาสนอนตอนกลางวันอาจหลับได้ภายในเวลา 5 นาที

อย่างไรก็ตามภาวะการอดนอนหรือนอนไม่พอนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองง่ายๆ คือ นอนให้มากกว่าปกติในวันก่อนที่รู้ว่าจะต้องอดนอน และหากคืนไหนที่ผ่านการ “อดนอน” มาแล้ว ก็ควรหาเวลานอนชดเชยให้มากพอ เพียงเท่านี้ก็อาจทำให้ภาวะอดนอนดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดมากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพ, iStrong และ Sleep Foundation