ได้กลิ่นไปเอง ได้ยินเสียงแปลกๆ เห็นภาพหลอน ไม่ใช่ผีหลอก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

ได้กลิ่นไปเอง ได้ยินเสียงแปลกๆ เห็นภาพหลอน ไม่ใช่ผีหลอก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

เมื่อบางคนได้กลิ่นแปลกๆ, มองเห็นภาพหลอน, ได้ยินเสียงคนเรียกแต่ไม่มีต้นตอเสียง หรือขยับตัวไม่ได้ขณะนอนหลับ อาจมองว่าเป็นความเชื่อหรือในเรื่องลี้ลับ แต่ที่จริงแล้วมีคำอธิบายทางการแพทย์ว่า อาการเหล่านี้เกิดจากระบบร่างกายทำงานผิดปกติ

คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ? ได้กลิ่นแปลกๆ ไปเองคนเดียว เช่น กลิ่นธูป ทั้งที่ตรงนั้นไม่มีใครจุดธูป มองเห็นภาพหลอนในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น คนเรียกชื่อ หรือ ตื่นมาแล้วขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ออก ทั้งหมดนี้เป็นอาการที่หลายคนเชื่อว่าเกี่ยวกับพลังงานเหนือธรรมชาติ หรือ โดนผีหลอกเข้าให้แล้ว แต่อย่าเพิ่งกลัวจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้มี คำอธิบายทางการแพทย์

 

อาการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกัน แต่แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่อย่างเดียวก็เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ามีบางอย่างที่ทำงานผิดปกติ

  • ตื่นมาแล้วขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ได้ ไม่ใช่ผีอำ แต่การนอนหลับมีปัญหา

ใครที่สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วขยับตัวไม่ได้ ไม่มีเสียงออกมาเมื่อพยายามพูด หรือรู้สึกเหมือนมีใครมานั่งทับหน้าอก หลายคนนิยามอาการนี้ว่ากำลังพบเจอเรื่องลี้ลับที่เรียกว่า “ผีอำ” แต่ความจริงแล้วอาการนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “Sleep Paralysis” เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้ และมีความรู้สึกอึดอัดคล้ายหายใจลำบาก มักเกิดขึ้นช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น แต่จะไม่เกิดขึ้นในตอนที่ร่างกายตื่นหรือรู้สึกตัวอยู่

 

อาการ Sleep Paralysis สามารถแบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้

1. เกิดขึ้นตอนใกล้หลับ (Predormital Sleep Paralysis) เป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เมื่อเกิดอาการจะรู้สึกแค่ว่าขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ได้เท่านั้น

2. เกิดขึ้นตอนใกล้ตื่น (Postdormital Sleep Paralysis) ร้อยละ 75 ของผู้ที่มีอาการจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ มักจะสะดุ้งตื่น รู้สึกแน่นหน้าอก อึดอัด ขยับตัวและพูดไม่ได้ โดยมีอาการอยู่ที่ 5-10 นาที

 

สาเหตุทางการแพทย์ของอาการ Sleep Paralysis หรือ อาการผีอำ

  1. มีการนอนหลับที่ผิดปกติ เช่น นอนไม่พอ หรือ นอนไม่หลับ เมื่อมีอาการนี้สะสมจึงทำให้เกิดอาการผีอำได้
  2. นอนไม่เป็นเวลา จากอาชีพที่ทำงานเป็นกะ เนื่องจากเวลานอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
  3. ปัญหาจากสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือ ผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว
  4. ผลจากยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น
  5. การใช้สารเสพติด

สำหรับใครที่ถูกผีอำบ่อย อาจแก้ไขได้โดยการเริ่มเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวันเพื่อปรับการนอนหลับ หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ออกกำลังกายเป็นประจำโดยไม่ต้องหนักมาก และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม แต่ถ้าหากไม่สามารถแก้ด้วยตัวเองได้ และยังมีอาการต่อเนื่องก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา

 

  • ได้กลิ่นไปเองไม่เกี่ยวกับผี แต่เป็นส่วนหนึ่งของอาการประสาทหลอน

ได้กลิ่นธูป ได้กลิ่นเหม็นแปลกๆ ทั้งที่ตรงนั้นไม่มีอะไร ไม่ได้หมายความว่าโดนวิญญาณตามติด แต่เป็นอาการผิดปกติที่ทางการแพทย์เรียกว่า แฟนโทสเมีย (Phantosmia) หรือ ภาวะได้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริง เป็นส่วนหนึ่งของอาการประสาทหลอนที่เกิดขึ้นในระบบรับรู้กลิ่น ทำให้ได้กลิ่นต่างๆ ไปเองคนเดียว

 

สาเหตุของภาวะได้กลิ่นที่ไม่มีจริง (Phantosmia) เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. ความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เช่น

  • โรคลมชักกลีบขมับ
  • ลมบ้าหมู
  • สมองอักเสบ
  • เนื้องอกในสมอง
  • แผลที่กลีบขมับ ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง
  • อุบัติเหตุที่ทำให้สมองเกิดการบาดเจ็บ ไปจนถึงผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสมอง

2. การติดเชื้อระบบหายใจส่วนบน เช่น

  • เป็นหวัด
  • อาการระคายเคืองต่อมลภาวะ
  • โรคภูมิแพ้
  • ไซนัสอักเสบ
  • ริดสีดวงจมูก
  • เนื้องอกในโพรงจมูก
  • มะเร็งในช่องจมูก

3. โรคจิตเภท เช่น โรคซึมเศร้า

4. พฤติกรรมในภาวะติดยาหรือติดเหล้า ได้แก่

  • ภาวะถอนสุรา
  • เสพยาเสพติด เช่น โคเคน
  • ได้รับพิษจากการสูดดมสารเคมีเป็นประจำ

สำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวต้องรักษาที่ต้นเหตุเท่านั้นถึงจะหาย เช่น หากเป็นโรคซึมเศร้า ก็รักษาโดยการรับประทานยาหรือการทำจิตบำบัด นอกจากนี้ยังมีการบรรเทาอาการ ได้ดังนี้ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ใช้ยาพ่นจมูก Oxymetazoline HCl และ การรับประทานยากล่อมประสาท Venlafaxine

 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการได้กลิ่นผิดปกติ ช่วงแรกจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีแต่หลังจากนั้นจะเกิดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนรบกวนชีวิตประจำวัน มักเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุ 15-30 ปี หากมีอาการหนักขึ้นการรับรสก็จะเพี้ยนตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าเริ่มมีอาการนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

 

  • ได้ยินเสียงแปลกๆ ไม่ได้แปลว่าโดนทำของใส่ แต่คืออาการประสาทหลอน

หลายคนเชื่อว่าเมื่อได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เคียงคำราม หรือ เสียงเรียกชื่อ อาจเป็นเพราะมีคนทำไสยศาสตร์ใส่ หรือเป็นอีกหนึ่งอาการที่มาจากสิ่งลี้ลับ แต่ความจริงแล้วภาวะนี้เรียกว่า “หูแว่ว” หรือ อาการประสาทหลอนทางหู (Auditory hallucinations) มีอาการคล้ายกับจมูกเพี้ยน มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ แต่ทั้งนี้คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถมีอาการประสาทหลอนได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่มี อาการหูแว่ว มัก​​ได้ยินคำพูด หรือเสียงแปลก ๆ โดยเสียงที่ได้ยินอาจชัดหรือไม่ชัด เป็นเสียงผู้หญิง ผู้ชาย มีเสียงเดียวหรือมีหลายเสียง ในผู้ป่วยบางคนอาจพูดจาโต้ตอบเสียงเหล่านั้นด้วย

การรักษาอาการหูแว่ว เบื้องต้นสำหรับโรคนี้นั้น แพทย์จะประเมินอาการ แล้วทำการจ่ายให้รักษาโรคให้ และทำจิตบำบัดร่วมด้วย

 

  • เห็นแสงสว่างหรือคนที่ไม่มีจริง ไม่เกี่ยวกับพลังงานบางอย่าง แต่เรากำลังป่วย

มองเห็นภาพใครบางคนมายืนอยู่ตรงหน้า หรือเห็นแสงสว่างจ้าแบบไม่มีที่มา อย่าเพิ่งกลัวว่าโดนผีหลอก เพราะความจริงคืออาการเริ่มต้นของ โรคจิตเภท และ อัลไซเมอร์

ในทางการแพทย์ อาการประสาทหลอน หรือ จิตหลอน คือ การที่ประสาทสัมผัสในขณะที่ตื่น สัมผัสสิ่งต่างๆ ได้โดยที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีสิ่งนั้นอยู่ แต่เป็นสิ่งที่จิตใจของคนที่เกิดประสาทหลอนเห็นและเชื่อไปเอง

การเห็นภาพหลอนนั้นแบ่งได้เป็น 2 โรค ดังนี้

1. โรคทางจิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย ซึ่งพบได้มากถึง 16-72% ในผู้ป่วย โดยอาการภาพหลอนในผู้ป่วยที่เป็นจิตเภทมักมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นจิตเภทเพราะมีปัจจัยทางจิตร่วมด้วย จะมีอาการเห็นภาพหลอนที่เกี่ยวข้องกับคนลในครอบครัว วัตถุที่เป็นความเชื่อทางศาสนาและสัตว์ การแสดงอาการของการเห็นภาพหลอนจะขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขของผู้ป่วยด้วย

2. โรคอัลไซเมอร์ จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะกลางของอาการป่วย ผู้ป่วยจะเริ่มเห็นภาพหลอน หูแว่ว มีพฤติกรรมก้าวร้าว ถ้าถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ก็อาจเดินออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ได้เลย

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง จมูกเพี้ยน หูแว่ว เห็นภาพหลอน และ ผีอำ ล้วนมีสาเหตุมาจากการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติทั้งสิ้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และเมื่อรู้ตัวว่ามีอาการหรือสังเกตเห็นคนใกล้ตัวมีความผิดปกติเหล่านี้ ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล : SCI Planet, Hello Khunmor, Ampro Health, Haamor, คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และ รพ.ศครินทร์