ฝันว่าปวดปัสสาวะแล้ว "ฉี่รดที่นอน" ระวัง! เสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ”
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ฝันว่าปวดปัสสาวะและได้เข้าห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ แต่ดัน“ฉี่รดที่นอน” ในโลกความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วัยเด็กแล้วก็ตาม หากใครประสบเหตุนี้บ่อยๆ ให้รู้ไว้ว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณความผิดปกติ อาจเสี่ยงถึงขั้น “หยุดหายใจขณะหลับ”
ฝันว่าปวดปัสสาวะ และในฝันก็มีห้องน้ำให้เข้า พอเข้าห้องน้ำไปฉี่เท่านั้นแหละ ดันฉี่รดที่นอนจริงๆ เสียอย่างนั้น แม้ว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม หากไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร อาจมีสาเหตุจากดื่มน้ำก่อนนอนมากเกินไป ทำให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากจนไม่สามารถกลั้นได้
แต่หากเกิดเหตุการณ์ฉี่รดที่นอนบ่อยๆ นั่นหมายความว่า ระบบภายในร่างกายบางอย่างทำงานผิดปกติอยู่ รวมถึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้อีกด้วย
การฉี่รดที่นอน (Bedwetting) สำหรับวัยเด็กนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติเนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ โดยอาการนี้จะหายไปเมื่อมีอายุ 3-4 ปี แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากยังมีอาการดังกล่าวอยู่อาจเป็นเพราะมีความผิดปกติทางร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดขึ้น
สำหรับการทำงานของระบบปัสสาวะในภาวะปกตินั้น จะเริ่มตั้งแต่ไต มีลักษณะคล้ายถั่วอยู่บริเวณเอว ทำหน้าที่กรองของเสียจากร่างกายออกมาเป็น “ปัสสาวะ” ที่ประกอบด้วยน้ำ ของเสียต่างๆ และเกลือแร่ โดยขับผ่านลงมาทางท่อปัสสาวะ จนถึงกระเพาะปัสสาวะ และเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะจนเต็ม ก่อนขับถ่ายออกนอกร่างกายทางท่อปัสสาวะ โดยกระเพาะปัสสาวะนั้นมีลักษณะเป็นถุงกล้ามเนื้อ มีความจุประมาณ 300-400 ซีซี สามารถขยายขนาดได้ มีกลไกหูรูดที่ปิดสนิทเพื่อไม่ให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา แม้จะมีปริมาณน้ำปัสสาวะเพิ่มขึ้น
- เกิดอะไรขึ้นเมื่อระบบ “ปัสสาวะ” ผิดปกติ?
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือระบบปัสสาวะทำงานผิดปกตินั้น สามารถบ่งบอกความผิดปกติหรือโรคอื่นๆ ภายในร่างกายได้ ได้แก่ โรคทางระบบประสาท และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน เป็นต้น สามารถแบ่งตามสาเหตุได้ดังนี้
- สาเหตุจากกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ
เกิดจากกระเพาะบีบตัวผิดปกติ ส่วนมากจะบีบตัวไวกว่าปกติ และไม่เป็นเวลา ทำให้มีอาการปวดปัสสาวะเร็วกว่าปกติ รวมถึงมีปัสสาวะเล็ดออกมาแบบควบคุมไม่ได้ หรืออาจเกิดจากโรคทางระบบประสาท โรคทางสมอง ไขสันหลัง ทั้งเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากอุบัติเหตุ นอกจากนั้นอาจจะเกิดจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ด้วย
- สาเหตุจากกลไกหูรูดผิดปกติ
ส่วนใหญ่เกิดจากหูรูดหย่อนกว่าปกติ ทำให้เก็บกักปัสสาวะไม่อยู่ มีปัสสาวะไหลเล็ดออกมา หรืออาจไหลออกมาเมื่อมีการเพิ่มแรงดันจากในช่องท้อง เช่น ขณะไอ จาม หัวเราะ เป็นต้น
- สาเหตุร่วมกันระหว่างกระเพาะปัสสาวะและหูรูด
ทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมา มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณสันหลัง เช่น จากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัดบริเวณสันหลัง เป็นต้น
- ทำไมเราจึง “ฉี่ราด” เมื่อฝันว่าเข้าห้องน้ำ ?
โดยปกติแล้วช่วงที่ฝันเป็นช่วงที่คนเรามักจะแยกแยะความจริงกับความฝันไม่ออก บางครั้งจึงอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ตอบสนองไปตามความฝันที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อฝันว่าได้เข้าห้องน้ำไปปัสสาวะจึงอาจมีการปัสสาวะรดที่นอนจริงๆ ได้ในบางคน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ดังนี้
- การดื่มน้ำที่มากเกินไป โดยเฉพาะก่อนเข้านอน
- ดื่มชา กาแฟ เป็นประจำ
- มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ และเป็นอันตรายต่อไปในอนาคต
- โรคลมชักในขณะนอนหลับ
- การทำงานที่ไวผิดปกติของระบบประสาทที่มาควบคุมการปัสสาวะ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางจิตวิทยา ที่อธิบายเกี่ยวกับอาการ “ปัสสาวะรดที่นอน” เพราะความฝัน เอาไว้ว่า อาจเกิดจากสมองสับสนในการแยกแยะความจริงกับความฝัน ดังนั้นเมื่อปวดฉี่ แล้วฝันว่าไปฉี่ จึงฉี่ขณะหลับออกมาจริงๆ
อีกประการหนึ่งคือ อาจเกิดจากกลไกการนอนหลับและการฝันเป็นกลไกที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นภาวะที่เกี่ยวโยงมาจากพลังของจิตใต้สำนึกที่ถูกปลดปล่อยออกมาในขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่รู้สึกตัว ขาดการควบคุม เมื่อฝันว่าไปเข้าห้องน้ำก็ทำให้ปัสสาวะออกมาจริงๆ เพราะควบคุมร่างกายในขณะหลับฝันไม่ได้
- การฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่ อันตรายกว่าที่คิด
เมื่ออายุมากขึ้นย่อมส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมถอยลง “กระเพาะปัสสาวะ” ก็เช่นกัน เพราะกระเพาะปัสสาวะที่ผ่านการใช้งานมานาน อาจทำงานแปรปรวนได้ ทำให้มีความผิดปกติเกี่ยวกับการ “กลั้นปัสสาวะ” เช่น ฮอร์โมนที่ลดลง มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเชิงกราน หรือมีการอุดกั้นต่อการไหลของปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะตกค้าง เช่น ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย
นอกจากนี้การปัสสาวะรดที่นอนขณะหลับในตอนกลางคืน ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของภาวะ “หยุดหายใจขณะหลับ” ทำให้นอนหลับตามปกติไม่ได้ ส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง รวมถึงในระยะยาวอาจมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ เเละระบบต่อมไร้ท่อ
ที่สำคัญเมื่อเกิดการหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ จะทำให้เกิดการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดและระดับของก๊าซออกซิเจนในเลือดลดลง เมื่อสมองรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะตอบสนองด้วยการปลุกให้ตื่นทำให้นอนไม่พอและหากเกิดขึ้นบ่อยก็จะทำให้กลายเป็นคนหลับยากในที่สุด
ในความเป็นจริง แม้ว่าอาการ “ฉี่รดที่นอน” อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ในระยะยาว
อ้างอิงข้อมูล : Club of Thai Health, HD, สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยฯ, รพ.ศครินทร์ และ มูลนิธิหมอชาวบ้าน