แก๊สในน้ำอัดลม 0% น่ากลัวกว่า “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” จริงหรือ?
น้ำอัดลม 0 แคลลอรี ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมอีกครั้ง เมื่อล่าสุดมีงานวิจัยชี้ว่า แท้จริงแล้ว “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” ไม่มีอันตรายหากบริโภคแต่พอดี แต่ “แก๊ส” ที่อยู่ในน้ำอัดลมต่างหากที่อันตรายยิ่งกว่า
“น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล” หรือ “น้ำอัดลม 0 แคลลอรี” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มสุขภาพทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการ “ควบคุมน้ำหนัก” หรืออยากลดการบริโภคน้ำตาลมาได้ระยะหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลแต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของน้ำอัดลมไว้ได้ครบถ้วน คือ มีรสหวานและซ่า จึงสามารถดื่มทดแทนน้ำอัดลมสูตรปกติได้ดี และเป็นที่นิยมของผู้ที่อยากดื่มน้ำอัดลมแต่ไม่อยากอ้วน
แม้ว่าการใช้ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” ในน้ำอัดลมและอาหารประเภทอื่นๆ จะได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ปัจจุบันก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่า สารดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ เนื่องจากเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา รวมถึงอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ร่างกายยิ่งอยากกินของหวานมากขึ้นด้วยหรือไม่ ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คือ สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำหรือไม่มีแคลลอรีเลย และไม่ใช่สารอาหาร มักใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด มักพบในอาหาร ขนม เครื่องดื่มต่างๆ เช่น หมากฝรั่ง พุดดิ้ง ชา กาแฟ และน้ำอัดลม โดยสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ใช้ในน้ำอัดลมส่วนใหญ่คือ อะซีซัลเฟม-เค และ แอสปาร์แตม
- อะซีซัลเฟม-เค คือ สารที่มีความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลซูโครส (Sucrose) ให้พลังงาน 0 แคลลอรี หรือ ไม่มีพลังงาน ทนต่อความร้อนได้และละลายในน้ำได้ แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากจะมีรสขมเป็นกลิ่นโลหะ
- แอสปาร์แตม คือ สารที่มีรสหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 180-200 เท่า มีพลังงาน 4 แคลอรี ต่อ 1 กรัม ไม่ทนความร้อน สามารถถูกทำลายได้ง่ายที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงไม่เหมาะกับอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูง
- อันตรายจาก “แก๊ส” ในน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล
แม้ว่าน้ำอัดลมแบบ 0% แคลอรี จะไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แต่ได้ชื่อว่าเป็น “น้ำอัดลม” ก็จำเป็นต้องมีความซ่า ดังนั้นน้ำอัดลมส่วนใหญ่จึงมีกรดคาร์บอนิก และกรดฟอสฟอริก ซึ่งทำให้เกิด “แก๊ส” นอกจากนี้ยังมี คาเฟอีน, สีและกลิ่นหรือรส รวมถึงสารกันบูด เป็นส่วนประกอบ
- กรดคาร์บอนิก เป็นตัวการทำให้น้ำอัดลมซ่า มีฟอง และมีรสเปรี้ยวอ่อนๆ เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ความดันสูงอัดให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับน้ำ ด้วยความเป็น “กรด” จึงสามารถย่อยสลายหินปูนได้ และสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟันได้เช่นกันหากบริโภคในปริมาณมาก
- กรดฟอสฟอริก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำอัดลมมีฟอง เกิดจากการผสมระหว่าง กรดฟอสฟอรัสและกำมะถัน ซึ่งหากร่างกายได้รับมากเกินไปจะทำให้ไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูก ส่งผลให้แคลเซียมในเลือดต่ำ อีกทั้งกรดนี้ยังไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมจนทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกได้
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมทั่วไปหรือน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล ก็เรียกได้ว่ามีความอันตรายใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีแก๊สเป็นส่วนประกอบหลักทั้งคู่ ซึ่งหากบริโภคมากเกินพอดีก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา ไม่ใช่แค่ปัญหาต่อกระดูกและฟันเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด ไปจนถึงเป็นแผลในกระเพาะได้
- น้ำอัดลม 0% แคลอรี ทำให้รู้สึกอยากกินของหวานเพิ่มขึ้นหรือไม่?
ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า หากดื่มน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลควบคู่กับการกินอาหาร จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดสูงกว่าการกินอาหารคู่กับน้ำเปล่า เพราะสารให้ความหวานจะไปกระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินในร่างกายได้เช่นกัน ทำให้มีการสลายไขมันเพิ่มขึ้นทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จนล้นออกมาในปัสสาวะ เป็นที่มาของ “โรคเบาหวาน” นั่นเอง
นอกจากนี้เหล่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่างๆ แม้จะสามารถหลอกลิ้นว่ามีรสชาติหวาน แต่ไม่สามารถหลอกสมองได้ เพราะสมองจะสั่งการว่าเมื่อเราดื่มน้ำอัดลมก็จะต้องการแคลอรีที่มาจากน้ำตาลจริงๆ จนทำให้เกิดอาการโหยน้ำตาลได้ ทำให้ต้องกินขนมหวานเพิ่มเพื่อให้หายอยากน้ำตาล และเกิดโรคอ้วนตามมา แต่หากดื่มน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาลขณะท้องว่าง หรือไม่ใช่เวลาอาหาร สารสังเคราะห์เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เราอยากกินของหวานมากเท่ากับการดื่มระหว่างกินข้าว
นอกจากนี้ จากงานวิจัยล่าสุดในอเมริกาพบว่า การดื่มน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลในปริมาณมาก (มากกว่า 10 กระป๋องต่อหนึ่งวัน) จะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมน Incretin ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนได้เช่นกัน แต่ถ้าดื่มในปริมาณน้อย การทดลองนี้พบว่าไม่มีผลกระทบดังกล่าว
แม้ว่าน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล จะส่งผลเสียกับร่างกายหากดื่มมากเกินไป แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้ำอัดลม 0% แคลอรี” เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายและเพิ่มความรู้สึกสดชื่น นอกจากนี้น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ที่ติดน้ำอัดลมสูตรปกติและอยู่ระหว่างการเลิกดื่มอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : รพ.สินแพทย์, พบแพทย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, Bangkokinsight, Unify Chemical, Lovefitt และ NIH