‘Femicide’ เมื่อเหยื่อถูกฆ่าเพียงเพราะเป็น ‘ผู้หญิง’
ในช่วงหลายปีมานี้เรามักเห็นข่าวที่ “ผู้หญิง” มากมายทั่วโลกถูกทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงถูกฆาตกรรม โดยบางกรณีฆาตกรจงใจเลือกเหยื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าความรุนแรงแบบ “Femicide” ที่มักมีต้นตอจากปัญหา “เหยียดเพศ”
Key Points:
- ความรุนแรงในรูปแบบ Femicide มักเกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว
- ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กถูกฆ่าโดยเจตนาทั่วโลกมากถึง 81,100 คน โดยผู้ที่ลงมือนั้นเป็นคนรู้จัก
- ความรุนแรงในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากปัญหาความเกลียดชังต่อเพศหญิงไปจนถึงเรื่องการเหยียดเพศ
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงในความสัมพันธ์ที่มักจบลงด้วยการทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิงจนถึงแก่ความตายนั้น เกิดขึ้นมานานหลายยุคหลายสมัย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีคำนิยามไว้ว่า “Femicide” ซึ่งมักเกิดกับผู้หญิงโดยมีผู้กระทำคือผู้ชายในครอบครัวหรือคนรัก
จากรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) พบว่า ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กทั่วโลกมากถึง 81,100 คน ถูกฆ่าโดยเจตนา โดยเด็กและผู้หญิงจำนวน 4.5 หมื่นคน (ประมาณ 56%) เสียชีวิตด้วยฝีมือของคนรัก คนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัว โดยเฉลี่ยในทุก 1 ชั่วโมง จะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆ่าโดยคนใกล้ชิด
คำว่า Femicide หมายถึง การตอบสนองต่อความรู้สึกเกลียด ดูถูก ดูแคลน หรือเหยียดหยามเพศหญิง โดยฆาตกรมักเป็นเพศชายที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์สินที่สามารถครอบครองได้ เมื่อทำให้ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชาหรือสามารถควบคุมได้ก็รู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ โดยแรงจูงใจของ Femicide ต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับเพศ หากเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าโดยคนเพศเดียวกันจะไม่นับว่าเป็น Femicide
นอกจากนี้ Femicide ส่วนใหญ่มักเริ่มมาจากผู้หญิงบางคนที่ติดอยู่ในบ่วงของความสัมพันธ์รุนแรงที่เรียกกันว่า Toxic Relationship และกระทำโดยคนรักทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือแม้แต่การข่มเหงจากคนแปลกหน้าหรือคนรู้จัก จนเกิดพฤติกรรมทารุณทั้งหลายที่เกิดขึ้นซ้ำซาก
โดยพฤติกรรมดังกล่าวจะมาในรูปแบบของการล่วงละเมิด เช่น การทำร้ายร่างกาย, ความรุนแรงในครอบครัว, การข่มขืน, ความรุนแรงทางจิตใจ, การขัดขวางอิสระของผู้หญิง, การค้าบริการทางเพศ และ การทำให้เสียโฉม เป็นต้น ซึ่งมีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2001-2012 มีผู้ชายที่ถูกฆ่าตายเพราะคนรักหรือคนรักเก่าของเขาทั้งหมด 296 คน เฉลี่ย 27 คนต่อปี ในขณะที่ผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทั้งหมด 1,066 คน เฉลี่ย 97 คนต่อปี
ยกตัวอย่างกรณีของผู้หญิงในประเทศอินเดียแม้ว่าจะมีอำนาจทางการเงิน อาชีพ หรือเริ่มมีหน้ามีตาทางสังคมมากขึ้นแต่ปัญหาการถูกทำร้ายจากผู้ชายยังไม่ลดลง นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายโดยคนรักหรือคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่มีการเปิดเผยใน DW พบว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากผู้ชายนั้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็น “ปิตาธิปไตย”
นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบกับแอฟริกาใต้ พบว่าแม้จะมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วแต่อาชญากรรมยังคงสูง แต่การถกเถียงถึงปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศนั้นแตกต่างกันมาก เพราะในแอฟริกาใต้ไม่พบว่าผู้หญิงมีปัญหาใดๆ ในการพูดถึงความรุนแรง แต่ที่อินเดียผู้หญิงส่วนมากมักแสร้งทำเป็นว่าไม่เคยพบกับปัญหาความรุนแรงเหล่านี้
สำหรับอินเดียที่ผ่านมายังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในบางระดับอาจเป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมาก เพราะจากการสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติล่าสุดซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2016-2021 ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวอินเดียเกี่ยวกับ "ทัศนคติต่อการทุบตีภรรยา" การสำรวจพบว่า 45.4% ของผู้หญิงและ 44.2% ของผู้ชายกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายจะทุบตีภรรยาด้วยเหตุผลบางอย่าง ข้อมูลของ NCRB ยืนยันว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นอาชญากรรมหลักต่อผู้หญิงในอินเดีย คิดเป็น 35% ของอาชญากรรมรุนแรงต่อผู้หญิงโดยเฉลี่ยในแต่ละปี
โดยสรุปแล้วการฆาตกรรมที่เข้าข่าย “Femicide” นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้ตายเป็น “ผู้หญิง” แต่การเสียชีวิตของพวกเธอเหล่านั้นมาจากนัยยะทางด้านเพศสภาพที่เป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ ความเกลียดชัง ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ฝั่งรากลึก ทำให้ผู้ชายที่เป็นผู้ก่อเหตุรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ คล้ายกับว่าเป็นการกระทำเพื่อคงสภาวะทางอำนาจเพศชายของตัวเองไว้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล : The Conversation, UNODC, Spectrum, OOCA, waymagazine และ DW