‘ใคร่เด็ก’ ไม่ใช่รสนิยม แต่คืออาการทางจิต ที่นำไปสู่ ‘อาชญากรรม’
“รักเด็ก” หรือ “ใคร่เด็ก” ?! ต้องแยกให้ออก ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง เพราะความใคร่เด็กถือเป็นอาการทาง “จิตเวช” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทั่วโลก
Key Points:
- “ใคร่เด็ก” คืออาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากความรักหรือรสนิยม
- หนึ่งในต้นตอของปัญหาอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ที่มีอาการใคร่เด็ก
- ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กต้องคอยสังเกตและระวังบุคคลที่พยายามเข้ามาตีสนิทกับเด็กอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
เป็นเรื่องปกติที่ใครหลายคนอาจเกิดความรู้สึก “เอ็นดู” เมื่อได้พบเจอเด็กน่ารักๆ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเด็กเหล่านี้อาจกำลังตกเป็นเหยื่อของการก่อ “อาชญากรรมทางเพศ” โดยผู้ที่มีอาการ “ใคร่เด็ก” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางจิต (Psychiatric Disorder) โดยผู้ที่มีอาการดังกล่าวมักจะแสดงออกว่ามีความรักหรือชอบในตัวเด็ก แต่ความจริงแล้วเป็นความรู้สึกที่เกินพอดี และต้องการนำเด็กมาใช้เป็นเครื่องมือบำบัดอารมณ์ทางเพศของตน
“โรคใคร่เด็ก” มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “พีโดฟิเลีย” (Pedophilia) หรือที่หลายคนมักเรียกกันว่า “เปโด” มาจากคำว่า paedo แปลว่า เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับเด็ก และคำว่า phile แปลว่าความรักหรือความชอบ โดยผู้ที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะมีพฤติกรรมฝักใฝ่ทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็กในกลุ่มวัยก่อนเริ่มเจริญพันธุ์ ไปจนถึงเด็กอายุ 13 ปี ถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมทางเพศที่มีต่อเด็ก
- วิธีสังเกตพฤติกรรมคนรอบตัวเข้าข่าย “โรคใคร่เด็ก” หรือไม่
โดยส่วนมากแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคใคร่เด็ก เมื่อมีโอกาสมักจะพยายามเข้าหาเด็กที่อายุยังน้อย เพื่อทำความรู้จักและใช้เวลาร่วมกับเด็กให้มากที่สุด ทำให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจ และหลังจากนั้นจึงจะเริ่มล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งผู้ปกครอง ครู รวมไปถึงผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก สามารถสังเกตพฤติกรรมกลุ่มคนที่พยายามเข้าหาเด็กได้ว่ามีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ ดังนี้
1. พยายามสร้างความสัมพันธ์กับเด็กมากผิดปกติ
โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการใคร่เด็กจะพยายามสร้างความสัมพันธ์กับเด็กมากเป็นพิเศษ พยายามเข้าหาเด็กเพื่อตีสนิท โดยช่วงอายุของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจะมีตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมต้น แต่ในทางกลับกัน ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่สนิทสนมกับคนรอบตัวของเขา
ส่วนมากจะใช้เวลาไปกับการอยู่ร่วมกับเด็กๆ ซึ่งอาจเริ่มจากการเล่นเกมหรือการละเล่นทั่วไป เช่น เล่นมวยปล้ำ เล่นจั๊กจี้ หรือแข่งงัดข้อ แต่หลังจากนั้นจะเริ่มมีการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น โอบกอด หอมแก้ม จูบ สัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
2. เริ่มสร้างความพึ่งพาเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเขาคือที่พึ่ง
ในช่วงแรกนั้นผู้ที่มีอาการใคร่เด็กจะพยายามทำให้เด็กรู้สึกว่า พวกเขาเหล่านี้สามารถเป็นที่พึ่งให้กับเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป หรือเรื่องทางจิตใจที่เด็กไม่กล้าบอกใคร หรือเรื่องที่เด็กไม่ไว้ใจคนในครอบครัว ผู้ป่วยจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าหาเด็ก เพื่อสร้างความสนิมสนมให้มากขึ้นเป็นพิเศษ จนทำให้เด็กเริ่มรู้สึกว่าผู้ใหญ่คนนี้ใจดีน่าเคารพยกย่องและไว้ใจได้ ซึ่งเป็นช่องทางอันตรายที่ทำให้เด็กถูกล่วงละเมิดได้ง่ายขึ้น
3. พูดจาในแง่ลบเพื่อทำให้เหยื่อเริ่มรู้สึกแย่
กลุ่มคนที่มีอาการ “ใคร่เด็ก” มักชอบใช้คำพูดในแง่ลบหรือด้อยค่าเพื่อทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเริ่มรู้สึกแปลกแยก หลังจากนั้นจะเริ่มใช้คำพูดเพื่อควบคุมและปั่นหัวเด็ก เพื่อให้เด็กตกอยู่ใต้อำนาจของตัวเองและจะได้ควบคุมเด็กได้ต่อไปในอนาคต เช่น พูดจาดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียน ทั้งตัวเด็กเองและคนรอบข้าง หากเด็กพยายามตอบโต้หรือโต้แย้ง ก็จะยิ่งถูกโกหกและปั่นหัวมากขึ้นกว่าเดิมระยะนี้เด็กจะรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด
4. มีพฤติกรรมละเมิดขอบเขตที่ไม่เหมาะสมจนเห็นได้ชัด
ขั้นแรกอาจเริ่มจากการสัมผัสหลังมือ จับมือ จับขา โอบหลัง และเริ่มขยับไปสัมผัสบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น หน้าอกและอวัยวะเพศ เป็นต้น โดยที่เหยื่อไม่ได้ให้ความยินยอม และที่หนักที่สุดคือ การบังคับให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยพฤติกรรมเหล่านี้ มักเริ่มจากการแนะนำให้เหยื่อทำความคุ้นเคยกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ เช่น เล่นมุกเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ให้ดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ และอาจหลอกเหยื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นแค่การเล่นสนุกกันเท่านั้นเพื่อให้เด็กตายใจ
5. มีพฤติกรรมหรือแสดงท่าทีหึงหวงและควบคุม
เนื่องจากคนเหล่านี้มักมีอาการหึงหวงรุนแรง ดังนั้นเมื่อเด็กไปมีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน ครู หรือคนอื่นๆ รอบตัว โดยเฉพาะคนที่เป็นเพศตรงข้าม ซึ่งคนที่มีอาการใคร่เด็กจะติดตามดูพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่คอยดูจากโซเชียลมีเดียไปจนถึงสะกดรอยตาม หลังจากนั้นจะเริ่มบังคับและพยายามจำกัดการติดต่อระหว่างเด็กและคนรอบตัวเพื่อควบคุมพฤติกรรม
- ผู้ปกครองต้องสังเกต สัญญาณแบบไหนที่เด็กอาจถูกละเมิด
- เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศเมื่ออยู่กับผู้อื่น และสัมผัสตัวผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม
- เด็กใช้ภาษาไม่เหมาะสมและมีความหมายส่อไปในทางเพศ
- เด็กมีความรู้เรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของตัวเอง
- เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเก็บตัว แสดงอาการกังวล หรือหวาดกลัวตลอดเวลา รวมถึงไม่ยอมให้คนรอบตัวมาสัมผัสตัว ใช้เวลาอยู่คนเดียวมากขึ้น เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
- เด็กมีอาการระยะเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ และเริ่มมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
- เด็กมีผลการเรียนแย่ลง หรือไม่สนใจการเรียนเหมือนเมื่อก่อน
- เด็กมีเลือดออกหรือมีอาการอวัยวะเพศบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปจนถึงมีเจ็บหรือปวดบริเวณอวัยวะเพศ และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือติดเชื้อที่อวัยวะเพศ
แม้ว่าโรคใคร่เด็กจะเป็นหนึ่งในอาการทางจิตที่มีความรุนแรงและส่งผลเสียต่อสังคมเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ถ้าหากผู้ป่วยไม่ยินยอม คนรอบตัวนั้นก็จำเป็นอย่างมากในการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
สำหรับการรักษานั้นจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเท่านั้น เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและรักษาให้ตรงจุด ปรับพฤติกรรมให้เป็นปกติ และอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ซึ่งการรักษาอาจทำได้โดยการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชตามความเหมาะสม, การทำพฤติกรรมบำบัด และ การทำจิตบำบัดระดับลึก เป็นต้น และที่สำคัญสังคมต้องตระหนักว่า “ใคร่เด็ก” ไม่ใช่ความรักหรือรสนิยม แต่เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดอาชญากรรมในสังคมมากกว่าที่คิด
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานกิจการยุติธรรม, ศิลปวัฒนธรรม, Hello คุณหมอ และ Health & Trend