กสศ. เปิดข้อมูล “เด็กไทย” ยากจนพิเศษ รายได้ครัวเรือน เหลือ 34 บาท ต่อวัน
ถือเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่น่าเป็นห่วงสำหรับอนาคต “เด็กไทย” เมื่อข้อมูล กสศ. ล่าสุดปี 2565 พบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกขั้นพื้นฐาน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยข้อมูลประจำปี 2565 เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า จากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล – ม.3) ประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และพบว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานาน และไม่ว่ารัฐบาลใดจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ยังมีเด็กไทยอีกหลายคนตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “นักเรียนยากจนพิเศษ” คือ นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียน โดยมาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาท ต่อคนต่อเดือน แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า บางครอบครัวมีรายได้เพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือเพียงวันละ 34 บาท เท่านั้น
ภาพรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน จาก กสศ.
- เมื่อเด็กและเยาวชนอยู่ใต้เส้นความยากจน
สำหรับ “เส้นความยากจน” เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน ใช้วิธีคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี มากกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5
ดังนั้นปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองของเด็กมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นและอาจไม่เพียงพอต่อการส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ เด็กบางคนต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยครอบครัวทำงานหาเงิน ทำให้พลาดโอกาสทางการศึกษาไป
จากข้อมูลแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่ารายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง นอกจากนี้ปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษคือ สภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวของเด็กเหล่านี้อยู่ใต้เส้นความยากจน
- ทำอย่างไรไม่ให้ “เด็กไทย” หลุดจากระบบการศึกษา?
ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาไม่ได้ส่งผลเสียแค่กับตัวเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาวอีกด้วย โดยมีรายงานจากยูนิเซฟระบุไว้ว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้การศึกษายังเป็นตัวแปรสำคัญของรายได้อีกด้วย จากผลสำรวจระดับการศึกษาของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดย กสศ. พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ จบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา และมีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 1,949-3,372 บาท/เดือน
โดยประชากรกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน ดังนั้นหากสามารถทำให้นักเรียนยากจน 2.5 ล้านคน เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ก็จะส่งผลให้ในอนาคตมีรายได้สูงถึงฐานภาษี รวมถึงส่งเสริมคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นทาง กสศ. ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ดังนี้
1. ปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (เรียนฟรี 15 ปี) แบ่งเป็น
- ระดับอนุบาล 1,000 บาท
- ระดับประถม 1,000 บาท
- ระดับมัธยมต้น 4,000 บาท
- ระดับมัธยมปลาย 9,000 บาท
2. ปรับปรุงอัตราทุนเสมอภาค ตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย-มัธยมปลาย โดยจัดให้รายหัว ดังนี้
- ระดับอนุบาล 4,000 บาท
- ระดับประถม 5,100 บาท
- ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท
- ระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท
เนื่องจากที่ผ่านมา 14 ปี ไม่เคยมีการปรับวงเงินอุดหนุนเด็กยากจน-ยากจนพิเศษ ให้สอดคล้องค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ ทำให้รายจ่ายของผู้ปกครองไม่สอดคล้องกับรายได้
3. ติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อ หลังขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้
4. เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 7 กระทรวง เพื่อต่อยอดจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน
5. ทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการระดมงบประมาณและทรัพยากร จาก อปท. และการบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ
ปัญหาเรื่องการศึกษานั้นจำเป็นต้องแก้ไขในหลายมิติไปพร้อมกัน ตั้งแต่ปัญหาครอบครัวไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจ โดยในโรงเรียนต้องมีสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นต่อการเรียนที่เพียงพอ ที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนว่า การศึกษาที่สูงขึ้นนอกจากจะแก้ปัญหาความยากจนได้ ยังเป็นหลักประกันสำคัญของแต่ละครอบครัว และหลักประกันของการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
อ้างอิงข้อมูล : รายงานฉบับพิเศษ สถาณการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565