“ประวัติศาสตร์”ยัดเยียดเด็กรักชาติ? ควรแยกเป็นวิชาเฉพาะหรือไม่?
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมขึ้นมาทันที เมื่อทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศจะแยกวิชา “ประวัติศาสตร์” เป็นวิชาเฉพาะ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ศธ. พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ
กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน
ต่อมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ ( 28 พ.ย.2565) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง” การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ” และ พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อปัจจุบันและอนาคต
ความเป็นไปได้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย
อุดหนุน “ค่าอาหารกลางวัน” สำหรับเด็ก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ?
เห็นชอบแยกประวัติศาสตร์ ย้ำไม่ยัดเยียดรักชาติ
วันนี้ (28 พ.ย.2565 )น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะอยู่ในร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว พร้อมกับพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ การแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชานั้นจะไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะเราต้องการให้การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสู้รบของประเทศไทยในอดีตเท่านั้น แต่การเรียนประวัติศาสตร์มีอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์โลก
“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรับชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ โดยเด็กจะเรียนเท่าเดิม แต่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจสังคมและหน้าที่พลเมือง” รมว.ศธ.กล่าว
จากนี้ไปการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องย้ำการอบรมและพัฒนาครูเกี่ยวกับการสอนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น รวมถึงการบรรจุครูใหม่จะต้องมีครูเอกประวัติศาสตร์ โดยจะมอบก.ค.ศ.เกลี่ยอัตราโครงสร้างการบรรจุครูประวัติศาสตร์ด้วย
เปิดรายละเอียดร่างประกาศศธ.เรียนประวัติศาสตร์
การเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมาอาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร ดังนั้น โรงเรียนจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดในร่างประกาศ ศธ.ฉบับดังกล่าว จะมีการกําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตร สถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา
โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ดังนี้
- ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)
สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ขณะที่ ในส่วนของการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ในปีงบประมาณ 2566 จะเน้นดำเนินการดังนี้
- เน้นเรื่องการเรียนการสอนแนวใหม่ สร้างการรับรู้
- เน้นย้ำความสำคัญโดยจะออกเป็นประกาศ ศธ.
- มีการวางระบบสนับสนุนอย่างเหมาะสมให้ครอบคลุมทุกมิติ
- การจัดกลุ่มตัวชี้วัดสาระประวัติศาสตร์และสาระหน้าที่พลเมือง ลดความซ้ำซ้อนของตัวชี้วัด
- การส่งเสริมประสิทธิภาพจัดการเรียนรู้ฯ
- ส่งเสริมให้ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน
- ผู้เรียนสามารถนําองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ ไปต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน
- สร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการการทํางานข้ามกระทรวง
- พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง
- การใช้สื่อดิจิทัลและวิธีการเรียนรู้สมัยใหม่และมีการติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
หนุนแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเฉพาะ
ด้าน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็นด้วย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมออกประกาศ ศธ.ให้แยก วิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกจาก กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่มองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าควรจะให้วิชาประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน แต่ปัญหาอยู่ที่ครูผู้สอน ถูกฝึกให้สอนด้านสังคมมากกว่าเจาะลึกด้านประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ หาก ศธ.ต้องการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ดี ศธ.ควรจะแยกให้ชัดเจนว่าแต่ละระดับชั้นควรจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์อะไรบ้าง เช่น ในระดับชั้นประถมศึกษา ควรจะรู้พื้นฐาน ความเป็นมา ในระดับมัธยมศึกษา ควรจะเรียนประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเรียนประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะเตรียมครูที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เข้ามาสอนเด็กด้วย ส่วนที่บอกว่าการแยกวิชาประวัติศาสตร์ เป็นการบังคับให้เด็กรักชาตินั้น ไม่ใช่ ควรจะมองในเชิงสร้างสรรค์ว่าการเรียนประวัติศาสตร์ เป็นการเรียนเพื่อให้เด็กเข้าใจความเป็นมาของชาติ เข้าใจความเป็นมาของสถาบัน และภูมิใจในความเป็นชาติ
แยกวิชาประวัติศาสตร์ยัดเยียดการรักชาติ
นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ ของศธ.ครั้งนี้ เป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง และเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เด็กรักชาติ ซึ่งผิดหลักการทางการศึกษา โดยที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์สอนให้เด็กรักชาติ รักบรรพชนแบบท่องจำ การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กมีอคติกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีข้อดีคือเด็กจะสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไม ศธ.ถึงปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์แค่วิชาเดียว ทำไมไม่ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียนวิชาภาษาอังกฤษที่ควรจะปรับปรุงก่อนวิชาอื่นๆ
“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เป็นการยัดเยียดความรักชาติให้เด็ก ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติทางการศึกษา มองว่าการไปย้ำให้สอนและแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา อาจจะทำให้เด็กตั้งคำถามมากขึ้น และอาจจะต่อต้านมากกว่าเดิม และหันไปเรียนประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ มากกว่า”นายสมพงษ์ กล่าว
นอกจากนั้น หลักสูตรการเรียนในปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 แม้จะมีการปรับปรุงมาตลอด แต่หลักสูตรกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนมากกว่า 1,200 ชั่วโมง ถือว่าประเทศไทยมีชั่วโมงการเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา ยิ่งจะทำให้เด็กต้องเรียนหนักขึ้น
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่าการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี ศธ.ควรจะปฏิรูปการเรียน โดยเปลี่ยนการสอนให้เด็กตั้งคำถาม ให้เด็กศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ สอนให้เด็กสามารถหาข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ จะทำให้เกิดการรักชาติแบบมีตรรกะและเหตุผล เรากำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่
"โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะแยกวิชาประวัติศาสตร์ เพียงเพราะมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เด็กรักชาติ ซึ่งการทำแบบนี้ จะทำให้การเรียนรู้ล้าหลัง และทำให้เกิดความอนุรักษ์นิยมสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ"นายสมพงษ์ กล่าว
เนื้อหาไม่สอดคล้องความคิดเชิงวิเคราะห์
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปกติ วิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา มีหน่วยกิตประมาณ 0.5 หรือ 1 หน่วยกิตต่อสัปดาห์ที่ต้องเรียน เพราะฉะนั้น นักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาต้องเรียนอยู่แล้วตลอด 12 ปี ในทุกสัปดาห์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแยกออกมา เพื่อเพิ่มภาระทั้งครูและนักเรียน
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่สุด มี 2 ประเด็น คือ
1.เนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการ ควรต้องปรับปรุง
2.ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน ที่เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงกระบวนการเรียนการสอน
“ประวัติศาสตร์บ้านเรา ถ้าจะปรับปรุงควรให้ความสำคัญกับเสียงของครูและนักเรียน ควรถามความเห็นของครูและนักเรียนว่าคิดเห็นอย่างไร ตอนนี้การจะแยกวิชาประวัติศาสตร์ เหมือนเป็นการปรับปรุงเชิงระบบราชการ คิดแบบท็อปดาวน์ บนลงล่าง กระแสจึงออกมาในเชิงต่อต้านมากกว่ายอมรับ ดังนั้น ควรตั้งคำถามอย่างแท้จริงด้วยว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คิดจะปรับปรุง คำนึงถึงผู้เรียน ความรู้ หรือสุดท้ายคำนึงถึงนโยบายของชาติ หรืออุดมการณ์ของชาติ" นายพิพัฒน์ กล่าว