เปิดวาร์ปชุมชนคุณธรรม 'ผ้ามัดหมี่ย้อมคราม' มีที่ไหนปังๆ ? น่าเที่ยวบ้าง
กลายกระแส ‘ผ้าไทย’ ปลุกพลัง soft power อย่างรุนแรง สำหรับ ‘ ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล BLACKPINK’ หลังจากที่นุ่งผ้าซิ่นเยือนถิ่นอยุธยา จนขณะนี้ ‘ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน’ ลาย 'ขอนาค'ยอดขายพุ่งกระฉูด จนผลิตไม่ทัน ขายหมดเกลี้ยง
Keypoint:
- ทำความรู้จักผ้ามัดหมี่ย้อมคราม มนต์เสน่ห์ผ้าทออีสาน เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวอีสาน เสน่ห์ที่หาตัวจับยากจาก 4 แหล่งชุมชนคุณธรรม จ.อุดรธานี
- เปิดตลาดผ้าบ้านนาข่า แหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิดที่มีชื่อเสียงของ จ.อุดรธานี ที่'ลิซ่า BLACKPINK ได้สวมใส่เป็น‘ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน’ ลาย 'ขอนาค' เป็นลายโบราณ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ทอไว้ใส่ไปทำบุญ งานมงคล และประเพณีต่างๆ
- แหล่งท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรมที่ไม่ควรพลาด เมื่อได้มาเยือน จ.อุดรธานี ที่ไม่ได้มีดีเฉพาะผ้าไทย แต่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ประเพณีเก่าแก่สะท้อนเรื่องราวของคนท้องถิ่นโบราณ
‘ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน’ ลาย 'ขอนาค' เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน เป็นลายโบราณ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ทอไว้ใส่ไปทำบุญ งานมงคล และประเพณีต่างๆ แม้แต่ใส่ไปทำงานประชุม
ตอนนี้หากใครพลาด ‘ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน’ ต้องรอจองประมาณ 1 เดือนตามคิวสั่งจองกว่าจะได้รับ เนื่องจากเป็นงานทอมือ แต่ทุกคนสามารถไปท่องเที่ยว สัมผัสวิถีอีสาน ผ่านเรื่องเล่าชุมชนผ้าไทย ของจ.อุดรธานี ที่ดูมีเสน่ห์ดูงามแบบเอกลักษณ์ของไทย และทรงคุณค่า ใครใส่ก็สวย
ผ้าไทยมีลวดลายการออกแบบบนผืนผ้าที่ลงตัว กับสีสันที่สวยงามพร้อมกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวอีสาน ช่วยทำให้ผ้าทออีสานของไทยมีเสน่ห์ที่หาตัวจับได้ยาก และจะเห็นได้จากปัจจุบันที่เหล่าดีไซเนอร์แบรนด์ดังระดับโลกลงลุยพื้นที่ เสาะหาผ้าทอไทยกันถึงหลังบ้านสาวอีสานเพื่อหาผ้าออกคอลเลกชั่นใหม่ที่ไม่เหมือนใครออกโชว์สู่สายตาชาวโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘ลิซ่า’ เผยแพร่ Soft Power ไทย นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ขิด เที่ยววัดอยุธยา
อยุธยาแตก 'ลิซ่า BLACKPINK' แต่งชุดผ้าไทยประยุกต์เที่ยวทำบุญไหว้พระ
แม่นางเอก 'เดียร์น่า ฟลีโป' เผยยอดสั่ง ผ้าไทย ผ้าซิ่น พุ่ง 'ลิซ่า' ใส่ไป วัดอยุธยา
มนต์เสน่ห์บนผืนผ้าของผ้าไทย ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ด้วยเสน่ห์ของผ้าไทย หลายคนสามารถไปเยี่ยมเยือนแหล่งชุมชนกลุ่มทอผ้าต่างๆ ได้ในประเทศไทย ซึ่งผ้าไทย ผ้าซิ่น เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งขนาด วิธีการนุ่ง การทอและการออกแบบลวดลายบนผืนผ้า ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการทอผ้าในท้องถิ่นและขนาดของกี่ทอผ้า การทอผ้าเพื่อทำผ้าซิ่นเป็นงานหัตถกรรมในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ผู้หญิงมีหน้าที่สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าจากคนรุ่นก่อน การทอผ้าซิ่นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปมักจะเรียบง่ายอาจมีลวดลายบ้างเล็กน้อย สมัยก่อนมักจะทอจากฝ้ายที่ปั่นเส้นด้ายเองเป็นหลัก ปัจจุบันมีการใช้เส้นด้ายสำเร็จรูปมากขึ้น ส่วนผ้าซิ่นที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานบุญประเพณีต่างๆ จะทอด้วยความประณีตมีลวดลายวิจิตรบรรจงเน้นความสวยงาม
การทอผ้าสำหรับโอกาสพิเศษนี้ใช้เวลานับเดือนจึงจะสำเร็จเป็นผืนผ้า นับเป็นการแสดงฝีไม้ลายมือของผู้ทอเมื่อนุ่งซิ่นที่ทอเองด้วยอีกทางหนึ่ง ผ้าซิ่นโดยส่วนใหญ่ประกอบด้วย หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น หัวซิ่นจะอยู่ส่วนบนสุดไม่นิยมทอลาย บางท้องถิ่นใช้ผ้าขาวเย็บติดเป็นหัวซิ่น ตัวซิ่นจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุด มีลวดลายบางเล็กน้อยแต่มักใช้ลวดลายกลมกลืนไม่โดดเด่นนิยมใช้สีเดียวตลอดตัวซิ่น
เปิดแหล่งชุมชนคุณธรรม กลุ่มทอผ้าในจ.อุดรธานี
‘ชุมชนบ้านนาข่า’ อีกหนึ่งชุมชนคุณธรรมที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อตั้งเมืองอุดรธานี จนถึงวันนี้ 130 ปีแล้ว ซึ่งลิซ่าเลือกใส่ผ้าลายนี้
‘ตลาดผ้าบ้านนาข่า’ ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ต้นแบบ จากกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนมีกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของนาข่า มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง ของฝากของที่ระลึก และเป็นตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวรู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์โดดเด่นที่สุดของบ้านนาข่า คือ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมหมี่ขิด ผ้าฝ้ายหมี่ขิด ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านนาข่า ที่รักษาเอกลักษณ์ของกรรมวิธีการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ว่ากันว่า ‘ตลาดผ้าบ้านนาข่า’ เป็นตลาดประชารัฐต้องชมลำดับที่ 212 ของประเทศ และเป็นตลาดประชารัฐต้องชมลำดับที่ 4 ในจังหวัด ตลาดผ้านาข่า มีความน่าสนใจและอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิดที่มีชื่อเสียงของ จ.อุดรธานี มีกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ และหมู่บ้าน OTOP ท่องเที่ยวของ จ.อุดรธานี
ตลาดผ้าบ้านนาข่า เป็นการรวมกลุ่มทอผ้าของบ้านนาข่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมานานแล้ว จนมีการบริหารจัดการในแบบธุรกิจ จากกลุ่มใหญ่แยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ในส่วนของอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนนั้น ญาติพี่น้องจะจัดส่งมาจำหน่ายที่ร้านของประธาน โดยจะมีเครือข่ายตามหมู่บ้านในตำบลนาข่า และหมู่บ้านใกล้เคียง
ในตลาดผ้าแห่งนี้จะมีร้านค้าอยู่หลายร้าน โดยเฉพาะการขายผ้าไหมลายขิด ซึ่งแต่ละผืนจะผ่านการทอเก็บขิดอย่างละเอียด ลวดลายแต่ละลายก็งดงาม เนื้อผ้ามีความมันวาว นูน เป็นเอกลักษณ์ตามแบบของผ้าอีสาน
นอกจากผืนผ้าแล้ว แต่ละร้านยังขายพวกเสื้อ กางเกง กระโปรง รองเท้า ผ้าพันคอ หมอนอิง ของที่ระลึกและอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งสิ้น อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังเป็นเส้นทางของถนนคนเดินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุดรธานี และเป็นชุมชนบ้านนาข่า อันเป็นสถานที่ผลิตผ้าไหมและตัดเย็บผ้าไหมสำเร็จรูปจากฝีมือชาวบ้านอีกด้วย
นุ่งซิ่นเที่ยวไทย ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง
นอกจากนั้น ในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ปักหมุดแหล่งผ้ามัดหมี่ย้อมครามที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุดรธานี ที่เหล่านักท่องเที่ยว นักช็อปสามารถนุ่งซิ่นเที่ยวไทย อุดหนุนชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมผลักดัน Soft Power ผ้าไทยให้ปังไปทั่วโลก
‘ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง’ อำเภอหนองหาน ทุกคนจะได้สัมผัสผ้าย้อมครามไทพวนบ้านเชียง ที่มีเอกลักษณ์ มีกลุ่มทอผ้าย้อมคราม มีตลาดวัฒนธรรม ที่จำหน่ายผ้าทอของชุมชน โดยมีนายสมบัติ มัญญะหงส์ เป็นประธานกลุ่ม และมีร้านผ้าชุมชนเช่น ร้านพวนคอลเลคชั่น ร้านชวนไหมไทย ร้านประกายไหมไทย และร้านจำหน่ายผ้ากว่า 40 ร้าน
โดยชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง มีวิสัยทัศน์ของชุมชนว่า‘มรดกโลกบ้านเชียง ร้อยเรียง ล้ำค่า ภูมิปัญญาไทพวน’ ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญระดับโลก เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณอายุราว 5,000 ปี โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ลำดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535 วิถีชีวิตของชาวบ้านเชียง ผูกพันกับอารยธรรมเก่าแก่โบราณ จึงมีการสืบสาน รักษา และต่อยอด ถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทพวนบ้านเชียง ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทพวน เครื่องแต่งกาย (ผ้าย้อมคราม) และศิลปะการแสดง เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของชุมชน
ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน มีย่านชุมชนบ้านเก่าบ้านเชียง เฮือนไทพวน มีศาสนสถานที่งดงาม คือ วัดสันติวนาราม ซึ่งมีอุโบสถดอกบัวกลางน้ำ ที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สำคัญของจังหวัด มีศูนย์เรียนรู้ปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียง กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเทศบาลบ้านเชียง ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้
โดยชุมชนมีโปรแกรมท่องเที่ยว ‘ตามรอยดินดำ แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง’ ให้นักท่องเที่ยวจะได้ลงพื้นที่ยลวิถีสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำเอาศิลปะและภูมิปัญญาเก่าแก่โบราณ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ลายก้นหอย ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผ้าฝ้ายย้อมครามธรรมชาติ เป็นต้น
เรียนรู้ผ้ามัดหมี่ย้อมคราม หัตถศิลป์พื้นบ้าน
ต่อด้วยอีกหนึ่งชุมชนคุณธรรมที่น่าสนใจ ‘ชุมชนคุณธรรมบ้านพรพิบูลย์ / บ้านดงยาง’ อำเภอพิบูลรักษ์ แหล่งทอผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ที่ชาวบ้านสืบทอดกันมายาวนาน ปัจจุบันมีแม่ครูสมร คำวิเศษ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่เป็นผู้นำในการอนุรักษ์
ชุมชนคุณธรรมบ้านพรพิบูลย์ / บ้านดงยาง อยู่ใน อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นหมู่บ้านแฝด เกิดจากการผสานระหว่าง 2 ชุมชน คือ บ้านดงยาง และ บ้านพรพิบูลย์ ซึ่งเคยเป็นเขตปกครองเดียวกัน ในอดีตเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันของคนสามเผ่า คือ โคราช ร้อยเอ็ด และยโสธร ซึ่งย้ายมาตั้งรกรากในชุมชนนี้ ก่อนชาวบ้านดงยางมีความประสงค์จะแยกหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจึงประชุมประชาคมหมู่บ้าน และมีมติขอแยกหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 เพื่อการปกครอง และพัฒนาให้ทั่วถึง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มาของชื่อ บ้านดงยาง เนื่องจากบริเวณป่าที่บุกเบิกมีต้นยางป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อจนคุ้นเคยว่า ‘บ้านดงยาง’ นั่นเอง
บ้านพรพิบูลย์ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีผู้นำในการตั้งหมู่บ้าน คือ นายนิพนธ์ ศรีเดช หมู่บ้านตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย (พระราชกฤษฎีกาตั้งหมู่บ้าน) เมื่อ พ.ศ.2544โดย ‘พิบูลย์’ คือ ชื่อของหลวงปู่ที่ได้ตั้งอำเภอพิบูลย์รักษ์ขึ้น จึงตั้งชื่อนี้เพื่อให้สอดคล้องกัน
โดยชุมชนมีเนื้อที่ทั้งหมด 3,500 ไร่ มีประชากร 454 คน จาก 119 ครัวเรือน แบ่งเป็นเพศชาย 223 คน เพศหญิง 221 คน ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม และ อาชีพเสริม คือ การทำผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายต่อครัวเรือนลง มีสิ่งศักดิ์สิทธ์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน คือ ดอนปู่ตา นอกจากนี้ ยังมีวัดอีก 3 วัด มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 โรง และ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 ศูนย์ โดยการดูแลแบ่งเป็น 5 คุ้ม มีประธานคุ้มทั้งสิ้น 5 คน โดยมีคำขวัญประจำหมู่บ้าน ดังนี้
ผ้าครามงามยิ่งมีดิ้นสอด ร่วมสืบทอดจากยายย่าสู่เหลนหลาน
พัฒนาสู่สากลจนเชี่ยวชาญ เป็นตำนานครามแพร พิบูลย์ภัณฑ์
หม้อนิล คือ อุปกรณ์สำคัญในการย้อมคราม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวชุมชน บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่า หม้อนิล เปรียบเสมือนกับคนที่มีชีวิต ชอบการยกย่อง การยอ ชอบให้พูดเพราะๆ โดยมีสิ่งที่ต้องปรุง ก่อนทำการย้อมครามจริง เพื่อให้หม้อนิลย้อมสีติดดี ได้แก่ มะขามเปียก สับปะรด มะเฟือง อ้อย เหล้าโทขาว สำหรับส่วนผสมของการย้อมครามจริง ได้แก่ เนื้อคราม และ นํ้าด่าง (เกิดจากใบไม้เผาแล้ว) ใช้สำหรับย้อมผ้าให้เป็นสีคราม
ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก
‘ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนกอก’ อำเภอเมืองอุดรธานี มีทั้งผ้าย้อมคราม และย้อมดอกบัวแดง มีการทอผ้าฝ้ายมัดหมี่สลับขิด สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าจากโบราณ
โดยมีศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก มีห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอ แหล่งรวบรวมลายผ้าทอโบราณและหมอนขิดเก่าแก่ เช่น ลายขิดเกียง ซึ่งเป็นลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณ รวมถึงผ้าทอโบราณอื่น ๆ ที่หาดูได้ยาก มีฐานการเรียนรู้ สาธิตการย้อมสีดอกบัวแดง ,โรงทอผ้าแบบใช้หูก และฐานการสาธิตการย้อมสีจากดอกบัวแดงและสายบัวแดงฐานภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การบีบข้าวปุ้น การทำข้าวเขียบ การประดิษฐ์งานใบตอง ขันหมากเบ็ง บูชาพระ
มีกิจกรรมมัดย้อมจากดอกบัวแดงและสายบัวแดง มีจัดห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เช่น ผ้าไหมลายสายธารนาคเชียงรวง ผ้าคลุมไหล่แม่แบบขิดเกียง ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น กระเป๋าถือ จากผ้าขิดบ้านโนนกอก และรับรองนักท่องเที่ยวด้วย เมนูอาหารพื้นถิ่น เช่น ส้มตำไทยสายบัว ขนมจีนน้ำยา (เส้นสด) ข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัว น้ำชาบัวแดง และน้ำสมุนไพร
เมื่อมาเยือนถิ่นชุมชนคุณธรรมบ้านโนนกอก จะได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นวิถีของชุมชน ไม่มีการจัดตั้ง เช่น ทำบุญตักบาตร การบายศรีสู่ขวัญ การทำอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน) งานประดิษฐ์ งานฝีมือ การละเล่น
การแสดงพื้นบ้าน การล่องเรือ/ล่องแก่ง ปีนผา ปั่นจักรยาน การปลูกข้าว การปลูกป่าชายเลน เป็นต้น
รวมถึงการสาธิตวิถีชีวิตชาวบ้านโนนกอก กับผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อที่ทำมาจากดอกบัวแดงและสัมผัสเสน่ห์ชาวอีสาน สาธิตการทอผ้าลายท้องถิ่น ลงมือมัดย้อมผ้าจากสีดอกบัวแดงจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทดสอบฝีมือทดลองการห่อข้าวต้มธัญพืชบัวแดง การบีบขนมจีน(เส้นสด) และเส้นด้องแด้ง ร่วมแรงทำข้าวเขียบ ที่ใช้ครกมองออกแรงตอกข้าวเหนียวนึ่งคลุกเคล้าส่วนผสมแบบอีสาน กิจกรรมงานประดิษฐ์ใบตอง ขันหมากเบ็งอีสาน เพื่อนำไปบูชาพระ
นอกจากนั้น ชุมชนมีการสาธิต การทอผ้าแบบโบราณ โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักร เป็นการทอด้วยหูกแบบโบราณและมีเทคนิค
เส้นทางการท่องเที่ยว ของชุมชนบ้านโนนกอก จะเริ่มด้วย ศูนย์การเรียนรู้ ฯ บ้านโนนกอก กิจกรรม ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องอีสาน ต่อด้วย สวนตาลคู่ สวนอินทผาลัม และไปไหว้พระขอพรจากพระธาตุโพนทอง โบราณสถานเก่าแก่ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนใกล้เคียง
อ้างอิง:ชุมชนคุณธรรม ,กระทรวงวัฒนธรรม , โครงการ Otop นวัตวิถี บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี