รัฐสวัสดิการและความเชื่อใจในสังคม | ภาคภูมิ แสงกนกกุล

รัฐสวัสดิการและความเชื่อใจในสังคม | ภาคภูมิ แสงกนกกุล

นอกจากกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ปัจจัยทางสังคมที่เข้มแข็งถือพลังสำคัญที่ส่งเสริมการพัฒนารัฐสวัสดิการ รูปแบบรัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกเป็นรูปแบบที่รัฐเข้าไปแทรกแซงสังคมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตประชาชน

เพื่อความยุติธรรมสังคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งรัฐเองต้องมีสมรรถนะและความเข้มแข็งสูงเพื่อให้การแทรกแซงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสังคมเองจำเป็นต้องเข้มแข็งด้วยเช่น จึงสามารถทำหน้าที่ร่วมมือกับรัฐ พร้อมทั้งตรวจสอบความโปร่งใสและคอยถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ แล้วสิ่งใดที่ช่วยให้สังคมมีความเข้มแข็งเป็นเอกภาพได้? 

ความเชื่อใจในสังคม

รัฐสวัสดิการรูปแบบสแกนดิเนเวียเป็นรูปแบบที่หลายคนอยากดำเนินรอยตาม เนื่องด้วยประชากรเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่สูงกว่ากลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น สหรัฐฯอเมริกา สิงคโปร์ หรือ ลักเซิมเบิร์ก เหตุใดจึงไม่ดำเนินรอยตามประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียบ้าง? 

ในหนังสือ Road to serfdom ของ Friedrich Hayek ได้อธิบายถึงอันตรายของการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตว่าเป็นภัยต่อเสรีภาพของประชาชน การให้รัฐเข้ามาแทรกแซงจัดแจงสวัสดิการมากเกินไปตามแนวสังคมนิยมอาจส่งผลเสียหายต่อประชาชน ซึ่งของสองสิ่งได้แก่ รัฐขนาดใหญ่กับเสรีภาพประชาชนดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามที่อยู่ร่วมกันไม่ได้

ทว่า Andreas Berg นักวิชาการผู้ศึกษารัฐสวัสดิการรูปแบบสแกนดิเนเวียอธิบายว่า สแกนดิเนเวียเป็นรูปแบบฮาเยค (Hayekian welfare state) ที่มีลักษณะเฉพาะตัวเลียนแบบได้ยาก มันมีลักษณะผสมของสองสิ่งที่เข้ากันได้ยาก

ได้แก่ เสรีภาพทางเศรษฐกิจและบทบาทของรัฐขนาดใหญ่ รัฐบาลใช้มาตรการการคลังระดับสูงเพื่อใช้จ่ายด้านสวัสดิการประชาชน มีการเก็บภาษีอัตราสูง แต่กลับไม่ริดรอนบรรยากาศการแข่งขันในกลไกตลาด มีการให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ในการประกอบอาชีพ 

รูปแบบดังกล่าวต้องอาศัยสมรรถนะรัฐสูง รัฐต้องมีชุดข้อมูลสถิติครอบคลุมหลากมิติทั่วประเทศ ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสิ่งสำคัญนอกจากนี้มันต้องควบคู่กับความเชื่อใจในสังคมที่สูงด้วยเช่นกัน 

ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของสแกนดิเนเวียตั้งแต่ประวัติศาสตร์ในอดีตที่สั่งสมมา ประชาชนมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ประชาชนเชื่อใจคนอื่นในสังคมถึงแม้เขาจะไม่ได้เป็นญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัว

ประชาชนมีสายใยสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน เต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้สังคมเข้มแข็ง รัฐบาลหรือตัวแทนประชาชนเองก็มีสำนึกความรับผิดชอบต่อประชาชน 

ส่วนผสมดังกล่าวนี้ทำให้ต้นทุนการทำรัฐสวัสดิการน้อยลง เนื่องจากประชาชนทุกคนพร้อมใจที่จะเสียภาษีเพราะเชื่อมั่นว่าจะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สังคมโดยรวม ขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบลดน้อยลงโดยที่รัฐไม่ต้องเสียต้นทุนในการตรวจจับการคอรัปชั่นฉ้อโกง พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนได้ง่ายขึ้น 

ซึ่งตัวอย่างการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐใช้มาตรการขอความร่วมมือกับประชาชนมากกว่าที่จะใช้กฎหมายบังคับประชาชน พร้อมทั้งรัฐอำนวยสวัสดิการพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนร่วมมือกันในการจัดการการระบาด  

รัฐสวัสดิการและความเชื่อใจในสังคม | ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ความสมานฉันท์    

สำหรับฝรั่งเศสมีลักษณะแตกต่างกันไป สังคมของเขามีความหลากหลายพหุวัฒนธรรม ประชากรหลายเชื้อชาติ ประกอบไปด้วยคนฝรั่งเศส คนยุโรป คนแอฟริกาและประเทศอดีตอาณานิคม ความเชื่อใจในสังคมถูกสร้างขึ้นอย่างยากลำบากกว่าเมื่อเทียบกับสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศสจึงใช้แนวทางอื่นคือ สมานฉันท์นิยม (Solidarism) ในการพัฒนาระบบประกันสังคม 

ซึ่งวางอยู่บนฐานความคิดเรื่อง “หนี้แห่งชาติ” ที่ไม่ว่าสมาชิกคนใดที่อยู่ร่วมกันในชาติล้วนมีหนี้ซึ่งกันและกัน ทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ถึงแม้ไม่ใช่ญาติพี่น้องคนรู้จัก แต่ถ้าเพื่อนร่วมชาติประสบความยากลำบากเมื่อใด สังคมก็ต้องเข้าช่วยเหลือกันตามสิทธิประโยชน์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 

สมรรถนะของรัฐจึงต้องสูงเช่นกัน ระบบบังคับใช้กฎหมาย การตรวจเก็บภาษีอากรต้องหลุดรอดจากสายตาของรัฐบาลให้น้อยที่สุด สมาชิกในสังคมเองก็ถูกหล่อหลอมด้วยระบบการศึกษา

ตั้งแต่ปฐมวัยถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน หน้าที่ของพลเมือง ความสำคัญของสังคม มนุษย์อยู่ไม่ได้หากปราศจากสังคม และต้องร่วมมือพึ่งพาอาศัยเพื่อช่วยให้สังคมดำเนินไปต่อได้

ระบบอุปถัมภ์เครือญาติในสังคมไทย  

สำหรับประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมแบบเอเชีย เป็นการช่วยเหลือกันในวงเครือญาติคนรู้จัก สวัสดิการจึงมีที่มาจากครอบครัวและเครือข่ายอุปถัมภ์เป็นหลัก ในด้านหนึ่งก็มีข้อดีให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ข้อเสียก็ปรากฏเช่นกัน

กล่าวคือ ความเชื่อใจในสังคมต่ำ มีความเชื่อใจน้อยต่อคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องคนรู้จัก การตอบแทนบุญคุณต่อเครือญาติหรือผู้ใหญ่ที่เคยช่วยเหลือกันก็อาจส่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์เชิงบุคคลฝังรากลึกแน่นลงไป 

ประชาชนชื่นชอบสิทธิพิเศษที่ได้จากระบบอุปถัมภ์จากนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพล มากกว่าสวัสดิการสังคมที่ได้รับตามสิทธิกฎหมาย ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวส่งผลต่อความน่าเชื่อใจของรัฐบาลอีกด้วย

ประชาชนอาจตั้งคำถามการทำงานของนักการเมืองและรัฐบาลเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและเครือข่ายอุปถัมภ์มากกว่าผลประโยชน์สาธารณะกันแน่? 

สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมขาดเอกภาพและความเข้มแข็งในการร่วมมือพัฒนารัฐสวัสดิการ ประชานเองก็มีข้อสงสัยในการจ่ายภาษีให้รัฐบาลเพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกใช้เพื่อสวัสดิการประชาชนหรือไม่ ประชาชนเองก็รู้สึกแตกแยกกับคนกลุ่มอื่นๆ จึงผลักดันผลประโยชน์สวัสดิการของกลุ่มตนเองมากกว่าผลประโยชน์สวัสดิการของคนอื่นๆ ในสังคม 

ให้ความสำคัญบ้านที่อยู่ในรูปของวัตถุ หรือความสัมพันธ์?

เมื่อพูดถึงคำว่า “บ้าน” ท่านผู้อ่านคิดถึงอะไรระหว่าง บ้านที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัย หรือบ้านในความหมายที่สองที่หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน? ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น

ถ้าความสำเร็จของรัฐสวัสดิการมีเพียงเป้าหมายคือ การผลักดันร่างกฎหมายในรัฐสภาจนสำเร็จ ทำเป็นนโยบายสังคมออกมา เป้าหมายดังกล่าวอาจอาศัยแค่นักการเมืองในสภาและใช้เวลา 4 ปีที่จะทำสำเร็จได้ 

แต่ถ้ารัฐสวัสดิการหมายถึง การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันในสังคมเดียวกันแล้ว ย่อมเป็นกระบวนการระยะยาวต่อเนื่องตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยๆ กันก่อร่างวางก้อนอิฐทีละก้อนส่งต่อไปเรื่อยๆ ทุกคนต้องร่วมมือค่อยๆ สั่งสมสร้างความสัมพันธ์

ความเชื่อใจระหว่างกันภายหลังสภาพที่แตกแยกจากปัญหาการเมืองที่เรื้อรัง คิดถึงผลประโยชน์ตนเองไม่มากเกินไป และคิดถึงผลประโยชน์คนอื่นและสังคมโดยรวม พร้อมร่วมทุกข์ไปกับสมาชิกคนอื่น มิใช่ร่วมสุขเพียงอย่างเดียว 

ณ ขณะนี้ ทุกท่านน่าจะทราบผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ห่างหายจากหน้าการเมืองไทยไป 9 ปีแล้ว และคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำงานพัฒนานโยบายสังคมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนารัฐสวัสดิการไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น

นโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจึงต้องประกอบด้วยเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ไปพร้อมๆ กับการจัดการความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคมขึ้นมาใหม่ ค่อยๆ สร้างความเชื่อใจในสังคมให้สูงขึ้น ลดเครือข่ายอุปถัมภ์ส่วนบุคคลและสร้างความเข้มแข็งของสำนึกการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติมากขึ้น