รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย | ภาคภูมิ แสงกนกกุล 

รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย | ภาคภูมิ แสงกนกกุล 

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมศกนี้ การเมืองไทยก็กลับมาครึกครื้นมีความหวังอีกครั้ง พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มรณรงค์หาเสียงทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น โดยหลายพรรคได้ชูประเด็นการสร้างรัฐสวัสดิการเป็นจุดขาย

การสร้างรัฐสวัสดิการอาจไม่ง่ายเหมือนคำในป้ายหาเสียง เพราะมีประเด็นซับซ้อน มีหลายเงื่อนไขทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดขึ้น

บทความนี้และซีรีส์บทความของผม จะขอถ่ายทอดประเด็นที่ชวนผู้อ่านให้คิดร่วมกันถึงการสร้างรัฐสวัสดิการ (โดยเฉพาะประสบการณ์ในแถบสแกนดิเนเวีย)

ในครั้งนี้ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับรัฐสวัสดิการ

๐ กระบวนการประชาธิปไตย

กลุ่มที่เป็นรัฐสวัสดิการประชาธิปไตย เช่น กลุ่มในยุโรปตะวันตก ระบบสถาบันการเมืองพัฒนาคุณค่าด้านสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยและระบอบทุนนิยม จึงมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ

การรักษาคุณค่าของประชาธิปไตยไว้ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิทางการเมือง สิทธิการเลือกตั้ง เสรีภาพการแสดงออก หลักนิติรัฐ สิทธิในการรวมกลุ่มการเมือง สิทธิในการตั้งพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน

สิทธิเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับการเกื้อหนุนขับเคลื่อนระบอบทุนนิยมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพทำธุรกิจ คุ้มครองกรรมสิทธิ์เอกชน ป้องกันการผูกขาด และรักษาบรรยากาศการแข่งขันในกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม การกระจายสวัสดิการโดยอาศัยกลไกตลาดอำนาจซื้อของประชาชนเพียงอย่างเดียว ก็อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ความมั่งคั่งที่แตกต่างกันไม่เพียงแต่ส่งผลแค่อำนาจซื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีอำนาจการเมืองที่แตกต่างกันด้วย และแน่นอนว่าคนที่ร่ำรวยกว่าย่อมมีอำนาจการเมืองมากกว่าคนจน

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว นโยบายสาธารณะย่อมโดนบงการครอบงำกำหนดทิศทางจากกลุ่มชนชั้นสูงเป็นหลัก ทรัพยากรต่างๆ ที่กระจายอย่างไม่เท่าเทียมแล้วก็ยิ่งถูกซ้ำเติมจากนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์อีก

รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย | ภาคภูมิ แสงกนกกุล 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การแทรกแซงและสร้างเงื่อนไขให้การกระจายสวัสดิการแก่ประชาชนมีความเป็นธรรมด้วยนโยบายสาธารณะต่างๆ จึงมีความจำเป็น

แต่การแทรกแซงที่ดีไม่ใช่การที่รัฐใช้อำนาจทำนโยบายสาธารณะจากบนลงล่างโดยวิจารณญาณของตนเอง กระบวนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม

จึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคัดง้างการนโยบายสวัสดิการแบบอำนาจนิยมที่ไม่ฟังเสียงประชาชน

เพราะสิทธิเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง ได้สร้างมาตรฐานอำนาจต่อรองให้เท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนจน ยิ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ/ความยากจนสูง ย่อมหมายความว่าสัดส่วนประชากรคนจนมากกว่าคนร่ำรวยหลายเท่าตัว

ดังนั้น พรรคการเมือง/นักการเมืองที่อยากชนะเลือกตั้ง อาจเลือกผลิตชุดนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนจน คนที่ยากลำบาก เพื่อได้ความนิยมความเชื่อใจตอบแทนกลับมา

การแข่งขันด้วยระบบการเลือกตั้งตัวแทนที่โปร่งใส จึงเป็นเสมือนเวทีการเข้ามาต่อรองผลประโยชน์จากหลายๆ กลุ่มผลประโยชน์

การรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวสังคมที่เข้มแข็ง ก็ช่วยเป็นปากเป็นเสียงของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยทุกกลุ่ม คอยกดดันให้ฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่นักการเมืองหาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง รวมถึงทำหน้าที่ในการตรวจสอบความโปร่งใสของนโยบายสาธารณะ

๐ ประชาธิปไตยเบ่งบาน และการขยายสวัสดิการสังคมในไทย

ประวัติศาสตร์กระบวนการประชาธิปไตยเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ตลอด 90 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ของคนรุ่นก่อนสะสมมาเรื่อยๆ ก็ช่วยส่งต่อพลังประชาธิปไตยให้คนรุ่นหลังจนมียุคหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยเต็มใบ” และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540

อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งก็ส่งผลกระทบต่อไทยในปีเดียวกัน อัตราการว่างงานที่มากขึ้น จำนวนธุรกิจล้มละลายมากขึ้น เงินลงทุนไหลออกนอกประเทศ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ และจำเป็นที่ต้องตัดลดงบประมาณสวัสดิการสังคมลง

มาตรการดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมปัญหาสังคมที่หนักหน่วงอยู่แล้วจากพิษเศรษฐกิจ จำนวนคนป่วยด้วยโรคเครียด อัตราการฆ่าตัวตาย การหย่าร้าง อัตราการออกจากโรงเรียน/สถาบันศึกษา การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ล้วนเพิ่มขึ้นตามมา

ประชาชนจึงมีความต้องการสวัสดิการ การช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมผนึกกำลังเข้มแข็งเพื่อกดดันให้การเลือกตั้งในปี 2544 พรรคการเมืองทุกพรรคควรมีนโยบายขยายสวัสดิการสังคมให้ประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีมาตราหลายๆ มาตรา ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดสรรขยายสวัสดิการสังคมให้ประชาชน และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายบริหารขยายสิทธิประโยชน์สวัสดิการสังคมได้อย่างกว้างขวางถ้วนหน้า

รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย | ภาคภูมิ แสงกนกกุล 

กระบวนการประชาธิปไตยไทยได้เป็นแรงผลักดันจนเอาชนะข้อจำกัดทางด้านการคลังลงไปได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่พบเห็นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็มีการขยายสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นเช่นกันในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

ย้อนกลับมาปัจจุบันประชาชนไทยต่างบอบช้ำสาหัสกับการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอน ปัญหาโลกรวน สิ่งแวดล้อม หมอกควัน และปัญหาสังคมนานัปการ

รัฐจำเป็นต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในด้านสวัสดิการสังคมเพื่อเยียวยาช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งปึกแผ่นให้กับประชาชนร่วมกัน

มองย้อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทยที่ผ่านมา แล้วมองไปข้างหน้าในวันเลือกตั้งที่ 14 พ.ค.ศกนี้ จึงเป็นโอกาสอีกครั้งของพวกเราในฐานะประชาชนไทยผู้มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้ง ในการกำหนดความมั่นคงในชีวิตของพวกเราอีกครั้ง กำหนดสังคมในอนาคตที่ใฝ่ฝันร่วมกันเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไป.