'อภิสิทธิ์'ชำแหละ แบ่ง2ขั้วระบบต่ออำนาจ 'ปฏิรูปการเมือง' ไม่เกิด
คนที่เข้ามา เชื่อว่าจะมาแก้ปัญหา แต่ผู้มีอำนาจไม่ได้เชื่อในระบอบปชต. มองการเมืองเป็นฝ่ายต้องการทำดี-ฝ่ายสร้างปัญหา...จึงจำเป็นต้องครองอำนาจอยู่อย่างนี้
“ปฏิรูปการเมือง” ถูกตั้งคำถามทุกปี นับแต่การรัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา เพราะประเด็นนี้ เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรง จนเกิดการชุมนุมทางการเมือง กปปส. ต่อเนื่องถึงครึ่งปี และการใช้อำนาจการปกครองขณะนั้นที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก การกระทำผิดของกลุ่มต่าง ๆ ได้ รวมทั้งแนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงความพยายามของคสช.กระทั่งพัฒนามาเป็นพรรคการเมือง ที่ยังมีเป้าหมายปฏิรูปการเมือง โดย อภิสิทธิ์ มองว่าวิกฤติการเมืองเมื่อปี 2557 เป็นปัญหาความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่งมองว่าประชาธิปไตยขณะนั้นบกพร่อง เพราะคนที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจเต็มที่ มี ส.ว.จากการสรรหา มีความพยายามจะทำหลายอย่าง แต่องค์กรอิสระระบุว่าติดขัดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกฝ่ายมองว่า ประชาธิปไตยบกพร่อง เพราะยังมีการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจโดยมิชอบในหลายเรื่อง
ความคาดหวังของประชาชน เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการเมือง คือต้องการระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่การจัดทำร่างแล้วธรรมนูญ ออกแบบระบบใหม่ ไม่ได้เป็นการออกแบบโดยพยายามตอบโจทย์ในเชิงระบบหรือหลักการ แต่ออกแบบบนความเชื่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนดีจะต้องเข้ามาดูแลสถานการณ์ของประเทศ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยต่อเนื่อง จนในที่สุดระบบที่ออกแบบเป็นการเอื้อให้คนที่ยึดอำนาจสามารถมีอำนาจต่อได้ ไม่ตอบโจทย์ฝ่ายที่ต้องการจะให้ประชาธิปไตยเป็นหลักสากล เพราะมีการให้อำนาจ ส.ว. เข้ามาเลือกนายกฯ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมือง ระบบการเมืองก็ถูกออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นแบบเบี้ยหัวแตก
ส่วนฝ่ายที่ต้องการเห็นการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีขึ้น ก็เห็นได้ชัดว่ากลไกการตรวจสอบบิดเบี้ยวไปหมด ตั้งแต่การแบ่งเขตของ กกต. การคำนวณสูตรการได้ ส.ส. รวมถึงการวินิจฉัยในหลายกรณี องค์กรอิสระยังมีความผูกพันกับ คสช. หรือไม่
+ ปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี 57 ไม่เคยเกิด +
“ผมว่าคงมีน้อยคนที่กล้าจะพูดว่า มีการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี 57 คนที่สนับสนุนผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เป็นการสนับสนุนโดยไม่ใช่การใช้เหตุผลเชิงระบบ เพียงแต่มองว่าสนับสนุนคนกลุ่มนี้เพื่อมาป้องกันคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้เข้ามามีอำนาจ และใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อความสงบมองในเชิงมีทางเลือก ทำให้เกิดความมั่นคงขึ้น นั่นคือความเชื่อของผู้สนับสนุน”
ปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี 57 ไม่ได้เกิดขึ้น การตัดสินใจในหลายเรื่อง เช่น เรื่องที่มีการวิจารณ์กันอยู่ถึงปัญหาทางจริยธรรม สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อนจุดบกพร่องของระบบประชาธิปไตยที่วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ไม่มีตรงไหนได้รับการแก้ไข การจะแก้ก็ทำได้ยาก เพราะระบบถูกออกแบบมาให้แก้ยาก สมมติว่า คสช.ไม่ลงมาเล่นการเมือง กติกา หรือระบบก็ไม่ได้สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ยังพอมองเห็นว่า ปัญหายังไม่หนักหน่วงในเชิงระบบเท่าปัจจุบัน แม้จะมีบางมุมที่ดีขึ้นกว่าก่อน เช่น การปรับปรุงกฎหมาย ให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ เป็นต้น
+พื้นฐาน“ประยุทธ์”ไม่เชื่อระบอบปชต. +
“ผมคิดว่าคนที่เข้ามาก็มีความตั้งใจและมีความเชื่อว่าจะมาแก้ปัญหา แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ามุมมองของผู้มีอำนาจ ผมสรุปง่ายๆ คือ โดยพื้นฐานไม่ได้เชื่อในระบบประชาธิปไตย มองการเมืองเป็นฝ่ายของคนที่ต้องการทำดี กับฝ่ายที่สร้างปัญหา เชื่อว่าตัวเองมีความตั้งใจดี เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย จำเป็นต้องครองอำนาจอยู่อย่างนี้”
ถ้าเราฟังการให้ความคิดเห็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยมาโดยตลอด จะเห็นว่าการพูดถึงการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหลักการเหล่านี้ น้ำเสียงจะเป็นในทางลบหมด โดยความเชื่อคือไม่มีความมั่นใจในระบบประชาธิปไตย อาจจะมีบางถ้อยคำด้วยซ้ำที่พูดมาตั้งแต่ปี 57 ให้คนเข้าใจว่าที่มันวุ่นวาย มีปัญหาก่อนหน้านี้เพราะเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป หรือไม่เป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับประเทศไทย แต่ปัญหาไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป ปัญหาคือไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น”
ผมพูดมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารว่า ไม่เชื่อว่าการรัฐประหารจะแก้ปัญหาได้ การรัฐประหารอาจจะเพิ่มอีกบาดแผลให้ความขัดแย้งตามมา แต่เมื่อเกิดขึ้น ก็พยายามเฝ้าดูว่าจะมีการปฏิรูปหลายด้าน ผมวิจารณ์มาโดยตลอด ไม่เฉพาะการปฏิรูปทางการเมือง ผมไม่เห็นการอธิบายวิสัยทัศน์ หรือหลักคิดของการปฏิรูป คำว่าปฏิรูปถูกใช้แค่เพียงว่า สิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้านี้มันไม่ดี จะมาเปลี่ยน ลองถามประชาชนว่า เข้าใจหลักการในการปฏิรูปที่ผ่านมาคืออะไร จึงไม่เชื่อว่าการปฏิรูปจะประสบความสำเร็จได้ เพราะ 1. ไม่มีหลักคิดรองรับ และ 2. ไม่มีกระบวนการให้คนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การปฏิรูปมันต้องไปกระทบกับโครงสร้าง ยกตัวอย่าง มีอยู่วันหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ถึงขั้นต้องพูดในสภาว่า ที่ยังไม่ปฏิรูปตำรวจ เพราะกลัวว่าตำรวจจะไม่ทำงานให้นั่นเป็นเพราะไม่สามารถทำให้แรงกดดันจากสังคมมีเพียงพอ มาสนับสนุน หรือมีส่วนร่วมในการทำให้ทุกคนยอมรับการปฏิรูป
นอกจากนั้น ผมไม่เคยใช้คำว่าเสียของ การมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผมไม่อยากมองว่าเป็นของดีที่จะต้องใช้ แต่ต้องยอมรับว่า ในวันที่มีอำนาจเต็ม สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง ก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ผมก็วิเคราะห์ว่า พื้นฐานมาจากหลักคิด ความเชื่อ
+ 7 ปี เติมเชื้อ-ชุมนุมมิติใหม่ +
2 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดแล้วว่า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม แม้ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองในความขัดแย้งเดิม แต่เห็นได้ชัดว่าทั้งกลุ่มคน ประเด็นข้อเรียกร้อง มิติของการชุมนุม มันมีของใหม่เข้ามา ผมเชื่อว่าของใหม่นี้ ถ้าไม่มีรัฐประหารก็คงเกิดขึ้นไม่ง่าย ในหลายเรื่อง รวมถึงการเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบัน
“การรัฐประหารสืบทอดอำนาจ และปรากฏการณ์อีกหลายอย่างมีส่วนทำให้สถาบันกลายเป็นหนึ่งในปมของความขัดแย้งขึ้นมา เดิมก็มีเชื้อของความขัดแย้งเหล่านี้อยู่บ้าง แต่มันถูกซ้ำเติมด้วยหลายๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา”
+ รธน.ปราบโกงทำอะไรรมต.ประวัติเสียไม่ได้ +
ขณะที่รัฐธรรมนูญ 60 ที่ถูกขนานนามว่าเป็นฉบับปราบโกงพลิกโฉมหน้าการเมืองได้ ผมพูดมาตั้งแต่ก่อนประชามติว่าเป็นเพียงคำพูด การวางกลไกตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ ไม่ได้ช่วย มีน้อยคนที่กล้ายืนยันว่าวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงจริงจังในเรื่องของการทุจริตหรือใช้อำนาจมิไม่ชอบก่อนหน้านี้มีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูนฉบับนี้คนไม่ดีจะเข้าการเมืองไม่ได้ ลองไปถามประชาชนแล้วกันว่า คนที่มีอำนาจ แม้มีประวัติเสื่อมเสียชัดเจน ก็ไม่เห็นจะทำอะไรได้ จะทำจริงๆ ก็ทำได้แต่ไม่ทำ
เมื่อมีการบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ ผ่านมา 7 ปีแล้วมันไม่ใช่ กลับจะถอยหลังด้วยซ้ำ โครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 60 ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ ปี 21 มาก มันไม่ใช่การเดินหน้าและไม่ใช่การปฏิรูปเขาอาจจะมองไปถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในมุมของเขาคือความสำเร็จในแง่ของความลงตัวในการจัดโครงสร้างอำนาจระหว่างราชการกับนักการเมือง ที่เรียกว่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
+ เสนอจุดเริ่มต้นแก้ รธน.ผ่าน สสร. +
อดีตนายกฯ ยังให้ความเห็นว่า ผู้มีอำนาจจะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่นั้น เชื่อว่ายังไม่มีอะไรสายเกินไป แต่มันยากขึ้นทุกวัน เพราะความขัดแย้งที่ต่อเนื่องสะสมทำให้รุนแรงขึ้น เช่น กรณีการจับกุมกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าจะให้การปฏิรูปการเมืองในปัจจุบันเกิดขึ้นได้จริง ต้องยอมรับและเร่งรัดให้มีการแก่รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ดึงทุกฝ่ายเข้ามาออกแบบระบบสำหรับอนาคต น่าจะเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด เป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นได้ แต่ก็เจอกับปัญหาสารพัด เพราะคิดเป็นอื่นไม่ได้ เพราะมีคนที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างปัจจุบัน เลยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง