‘เขตปลอดเด็ก’ พื้นที่ใหม่ใน ‘เกาหลีใต้’ เพื่อความปลอดภัย หรือเลือกปฏิบัติ?
เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งทั่ว “เกาหลีใต้” กำหนดโซนนิ่งในพื้นที่ตนเองให้เป็น “เขตปลอดเด็ก” ให้เหตุผลเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความวุ่นวายและความบาดเจ็บเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก จนหลายฝ่ายเกิดคำถาม นี่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่?
Key Points;
- “เขตปลอดเด็ก” (No-Kids Zone) ได้รับความนิยมเกาหลีใต้ปัจจุบันมีเขตปลอดเด็กกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลี กล่าวว่าเขตปลดเด็กเป็นการละเมิดสิทธิและเรียกร้องให้ภาคธุรกิจยุติการปฏิบัติดังกล่าว
- ไม่ใช่แค่เด็กที่ห้ามเข้า แต่หลายร้านไม่อนุญาตให้คนบางกลุ่มเข้าใช้บริการ เช่น คุณลุง อาจารย์ ยูทูบเบอร์
“เกาหลีใต้” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก และใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีแนวคิดไม่ให้เด็กเข้าสถานที่ต่าง ๆ เช่น คาเฟ่ ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งไม่น้อย
เทรนด์ “เขตปลอดเด็ก” (No-Kids Zone) กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเกาหลี จากการรายงานของสถาบันวิจัยท้องถิ่น และกลุ่มนักเคลื่อนไหว พบว่าปัจจุบันมีเขตปลอดเด็กกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ “ปราศจากสิ่งรบกวน” สำหรับผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม การกีดกันเด็ก ๆ ออกจากสถานที่ต่าง ๆ กำลังถูกคนในสังคมตั้งคำถาม และถูกท้าทายจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านประชากรของประเทศ เนื่องจากเกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในโลก ทำให้รัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุและเงินบำนาญ แต่รายได้จากภาษีของกลุ่มวัยแรงงานกำลังค่อย ๆ ลดลง
ปี 2565 เกาหลีใต้มีเด็กเกิดใหม่ 249,000 คน ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ ตัวเลขที่ระบุว่าในตลอดชีวิตของผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตรกี่คนของเกาหลีใต้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 0.78 ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานสำหรับการสร้างประชากรในประเทศให้มั่นคงที่ 2.1 และยังต่ำกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ 1.3 ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในโลก
เนื่องจากคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้เผชิญกับแรงกดดันจากหลายด้าน ตั้งแต่ราคาที่อยู่อาศัยราคาสูงเสียดฟ้า และการทำงานในแต่ละวันที่หนักหนา แถมความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องคิดทบทวนให้ดีเมื่อจะต้อง “สร้างครอบครัว”
- ที่มาของเขตปลอดเด็ก
จุดกำเนิดของเขตปลอดเด็กเริ่มต้นในปี 2012 เมื่อแม่คนหนึ่งได้โพสต์เหตุการณ์ที่ลูกของเธอได้รับบาดเจ็บจากการโดนน้ำซุปลวก จนทำให้ทางร้านถูกชาวเน็ตโจมตีและต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่แล้วสถานการณ์ก็พลิกเมื่อภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า ลูกของเธอวิ่งเล่นไปทั่วร้าน ทำให้ชาวเน็ตกลับลำหันไปตำหนิผู้เป็นแม่แทนที่ไม่ดูแลลูกให้ดี พร้อมตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบและการดูแลเด็กเล็กของพ่อแม่ผู้ปกครองในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เขตห้ามเด็กเข้า” ก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเกาหลีใต้จนเป็นภาพที่ชินตา
จากการสำรวจในปี 2021 โดย Hankook Research บริษัทสำรวจตลาด พบว่าผู้ใหญ่มากกว่า 70% เห็นด้วยกับการมีโซนปลอดเด็ก มีเพียงไม่ถึง 20% ที่ไม่เห็นด้วย (ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ตัดสินใจ) ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีลูกเองก็เห็นว่าการสร้างเขตปลอดเด็กเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะชาวเกาหลีใต้ต่างให้คุณค่ากับการอยู่ในพื้นที่ที่สงบเงียบและปลอดภัย นอกจากนี้พ่อแม่บางส่วนยังระบุว่า เป็นสิทธิ์ของร้านที่จะห้ามไม่ให้เด็กเข้าร้าน และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องไปหาร้านอื่น ๆ ที่ต้อนรับเด็กเอง
- การสร้างเขตปลอดเด็กเป็นการละเมิดสิทธิ์ที่ชอบธรรม?
ทั้งนี้ประเด็น “เขตปลอดเด็ก” ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงอย่างหนักในเกาหลีใต้ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ยอง ฮเย-อิน สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรค Basic Income ได้พาลูกชายวัย 2 ขวบ เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งปกติแล้วไม่อนุญาตให้เด็กเข้า เพื่อแสดงการต่อต้านเขตปลอดเด็กและเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติของเกาหลีใต้
“ตอนนี้การใช้ชีวิตประจำวันกับลูก ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สังคมเราต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเป็นสังคมที่มีเด็กรวมอยู่ด้วย” ฮเย-อินกล่าวปราศรัยต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วยน้ำเสียงที่แรงกล้า พร้อมมีลูกชายของเธอเดินอยู่รอบ ๆ โพเดียม
ภาพของซอง ฮเย-อิน พร้อมลูกน้อยระหว่างการปราศรัย
ที่มา: อินสตาแกรมของซอง ฮเย-อิน
ขณะที่ สภาจังหวัดของเกาะเชจู กำลังถกเถียงกันถึงร่างกฎหมายที่จะทำให้โซนปลอดเด็กเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าหากสำเร็จจะกลายเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศที่พูดถึงเรื่องนี้
ในปัจจุบันนี้ บนเกาะเชูจูมีเขตปลอดเด็กเกือบ 80 แห่ง และกำลังผุดเป็นดอกเห็ด ตามเกสต์เฮ้าส์และที่ตั้งแคมป์ต่าง ๆ ที่สวยงาม ซึ่งโซนเหล่านี้สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีเด็กไปด้วย
และทำให้เกาะเชจูซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้วปัญหานี้ไม่ใช่แค่การเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่บางคนมองว่าโซนห้ามเด็กเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญของเกาหลี
เมื่อปี 2020 คุณพ่อคนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลี เนื่องจากพวกเขาถูกปฏิเสธจากร้านอาหารอิตาเลียนบนเกาะเชจู โดยคณะกรรมการฯ ตัดสินว่าเขตปลอดเด็ก “ละเมิดสิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน” และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจยุติการปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการฉบับแรกที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ โดยอ้างถึงมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ห้ามเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม และชี้ไปที่อนุสัญญาของสหประชาชาติที่กำหนดว่า “เด็กไม่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม”
อย่างไรก็ตามคำตัดสินดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และโซนไม่มีเด็กยังได้รับความนิยมอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดของสังคมไม่ได้เปลี่ยนไปเลย
- การจำกัดสิทธิ์ ที่ไม่ได้มีแค่เด็กที่ถูกห้าม
หากมองให้ลึกลงไป ไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้นที่โดนห้ามเข้าบางสถานที่ ธุรกิจหลายแห่งกำหนดอายุขั้นต่ำและขั้นสูงของผู้เข้าใช้งานไว้ด้วย ตามแต่ว่าใครจะสร้าง “ปัญหา” และรบกวนผู้ใช้สถานที่นั้น ๆ เช่น ร้านอาหารในกรุงโซล ปฏิเสธชายที่มีอายุมากกว่า 49 ปี เข้าร้าน เนื่องจากผู้ชายในวัยนั้นอาจล่วงเกินพนักงานหญิง ขณะที่พื้นที่ตั้งแคมป์ในเชจู ไม่รับผู้เข้าใช้บริการที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อ้างว่าเป็นการลดใช้เสียงและแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุด ตามที่ผู้หญิงในวัย 20 และ 30 ปีต้องการ
นอกจากนี้ ในบางคาเฟ่และร้านอาหารยังมีการห้ามไม่ให้เหล่า “ยูทูบเบอร์” เข้าร้าน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักเข้ามาทำคอนเทนต์กินอาหาร หรือ “ม็อกบัง” (Mukbang) ซึ่งส่งเสียงดัง รบกวนลูกค้าอื่น ๆ และอาจมีผู้อื่นไปปรากฏในวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ที่แปลกกว่านั้นคือบางสถานที่มีกฎห้ามไม่ให้อาจารย์ ห้ามแร็ปเปอร์เข้าใช้บริการอีกด้วย
บอนนี่ ทิลแลนด์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกาหลีใต้ จากมหาวิทยาลัยไลเดิน ในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า การห้ามไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าใช้บริการ เป็นการแสดงจุดยืนของธุรกิจว่าลูกค้าของพวกเขาคือใคร
อีกทั้ง ทิลแลนด์ได้เสนอทฤษฎีการมีอยู่ของโซนปลอดเด็กว่า เป็นเพราะชาวเกาหลีในช่วงอายุ 20-30 ปี มักให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัว และไม่ต้องการอยู่ในพื้นที่ที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุที่มีเสียงดัง สะท้อนถึงการไม่ยอมคนอื่นที่แตกต่างจากตนเอง พร้อมมองว่าแต่ละควรอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เช่น แม่ก็ควรอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ควรมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่หญิงสาวส่วนใหญ่ลังเลที่จะมีลูก
หน้าคาเฟ่แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ที่มีป้าย เขตปลอดเด็ก
- ทุกพื้นที่ควรเปิดรับเด็ก
สมาชิกสภานิติบรรญัติ ยอง ฮเย-อิน มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและต้องอยู่บ้านเกือบ 100 วันแรกหลังจากลูกคลอด เมื่อเธอรู้สึกสบายดีพอที่จะพาลูกไปเดินเล่นกลับพบว่า เธอและลูกถูกปฏิเสธทันที เพราะที่นั่นเป็นสถานที่ปลอดเด็ก วินาทีนั้น ในฐานะ “แม่ลูกอ่อน” เธอรู้สึกว่าสังคมไม่ต้องการ
นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกเข้ามาทำงานการเมือง โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้การดูแลเด็กเป็น “ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่ของผู้ดูแลและผู้ปกครอง” ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะเอาชนะวิกฤติประชากรขาดแคลนได้ ด้วยการผลักดันร่างกฎหมายความเท่าเทียมที่ห้ามการเลือกปฏิบัติตามอายุ
ที่สำคัญต้องยกเลิกเขตปลอดเด็ก โดยเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาปลอดเด็ก หรือกำหนดแถวพิเศษในพื้นที่สาธารณะสำหรับครอบครัวที่มีเด็กมาด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์หรือสวนสัตว์เพื่อลดโอกาสที่เด็ก ๆ จะสร้างความรำคาญให้แก่คนอื่น ๆ
ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้เงินมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้น แต่นักวิจารณ์มองว่า แทนที่จะใช้เงินจำนวนมากแก้ปัญหา จำเป็นต้องทำงานเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อเด็กและเยาวชนก่อน และควรเริ่มต้นด้วยการยกเลิก “เขตปลอดเด็ก”
ที่มา: CNN, Korea Herald, Korea Times, New York Times