'ซอง เฮเคียว' ได้ค่าตัว 5 ล้านบาท/ตอน แต่ยังน้อยกว่าดาราชายเกินเท่าตัว!
"เกาหลีใต้" กลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศมากที่สุดในกลุ่มประเทศ "OECD" เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศในสังคม เห็นได้จาก "ซอง เฮเคียว" ตัวแม่ของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ จากเรื่อง "The Glory" ได้ค่าตัวจากการเล่นซีรีส์ตอนละ 200 ล้านวอน แต่ยังน้อยกว่านักแสดงชายตัวท็อปเกือบเท่าตัว
Key Points:
- แม้กระทั่งกับนักแสดงหญิงอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้อย่าง “ซอง เฮเคียว” ที่มีค่าตัวสูงสุดด้วยรายได้ 200 ล้านวอนต่อซีรีส์หนึ่งตอน ก็ยังน้อยกว่านักแสดงชายที่มีค่าตัวสูงสุดอย่าง คิม ซู-ฮย็อน เกือบเท่าตัว ที่มีค่าตัว 500 ล้านวอนต่อซีรีส์หนึ่งตอน
- เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศในสังคม
- เกาหลีใต้แก้กฎหมายให้มีผู้บริหารหญิงในบอร์ดบริหารของบริษัทใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ หวังลดการผูกขาดทางเพศ
ท่ามกลางความฟีเวอร์ของคอนเทนต์บันเทิงจากเกาหลีใต้ที่ย้ำชื่อชั้นในระดับเวิลด์คลาสแบบไม่ต้องสงสัย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื้อรังซุกอยู่ใต้พรมวงการบันเทิงแดนกิมจิ นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ของรายได้ระหว่างนักแสดงหญิงและชาย
อย่างเช่นซีรีส์ “The Glory” ที่เพิ่งเป็นกระแสในหลายประเทศนั้น ล่าสุดมีการเปิดเผยค่าตัวของนักแสดงนำหญิงอย่าง "ซง ฮเยคโย" หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ “ซอง เฮเคียว” ว่า ได้ค่าตัวสูงถึง 200 ล้านวอนต่อตอน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 5.1 ล้านบาท ฟังดูเหมือนจะสูงแล้ว แต่ก็ยังจัดว่าห่างชั้นเกินเท่าตัว เมื่อเทียบกับ “คิม ซู-ฮย็อน” นักแสดงชายที่ได้ค่าตัว 500 ล้านวอนต่อตอน หรือประมาณ 12.9 ล้านบาท จากซีรีส์ One Ordinary Day (2021)
นี่เป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำถึงปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันใน “เกาหลีใต้” ซึ่ง OECD ยกให้เป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศมากที่สุดในโลก
ไม่เพียงแต่ “ซอง เฮเคียว” เท่านั้นที่ต้องรับสภาวะเช่นนี้ โดยอีกหนึ่งนักแสดงหญิงตัวแม่ อย่าง “จอน จีฮยอน” หรือ “จวน จีฮุน” ที่แจ้งเกิดจากบท “ยัยตัวร้าย” ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
“จีฮยอนและเฮเคียวได้ค่าตัวในการเล่นซีรีส์ต่อตอนอยู่ที่ 200 ล้านวอน ต่อตอน แต่จากความโด่งดังของซีรีส์ The Glory จะทำให้งานชิ้นต่อไป ๆ เฮเคียวจะได้รับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้” อัน จินยง นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Moon Hwa Ilbo ผู้เปิดประเด็นรายได้ของเฮเคียว กล่าว
นอกจากจินยงจะเปิดรายได้ของนักแสดงหญิงแล้ว เขายังพูดถึงรายได้ของนักแสดงชายตัวท็อปอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ซง จุงกิ”, “อี จง-ซ็อก”, และ “จี ชางอุค” ที่ได้รับรายได้จากการแสดงอย่างต่ำตอนละ 300 ล้านวอน หรือราว 244,000 ดอลลาร์
อี จง-ซ็อก นักแสดงชายตัวท็อปของเกาหลีใต้
“เหล่านักแสดงชายจะได้รับค่าตัวในแต่ละตอนมากกว่า 300 ล้านวอน ซึ่งหากพวกเขาเล่นซีรีส์ 16 ตอน ก็จะได้รับเงินเหนาะ ๆ เกือบ 5 พันล้านวอน”
จินยงระบุว่า สาเหตุที่นักแสดงชายได้รับค่าตัวสูงกว่านักแสดงหญิง เนื่องจากนักแสดงชายมี “แฟนคลับ” ที่เหนียวแน่นกว่า และคอซีรีส์มักเลือกดูซีรีส์จากนักแสดงชายมากกว่า แม้ว่าเหล่านักแสดงหญิงจะได้รับบทนำ และพิสูจน์ฝีมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับซอง เฮเคียวที่ถือว่าเป็นซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีใต้ มีผลงานการแสดงที่ได้รับความนิยมมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี ตั้งแต่ “Autumn in My Heart” (2000) “Full House” (2004) “Descendants of the Sun” (2016) และล่าสุดจาก “The Glory” (2022) ถือว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์เกาหลีของ “Netflix” ผู้นำบริการวิดีโอสตรีมมิง ที่มีผู้ชมในต่างประเทศมากที่สุด รวมถึงประเทศไทย
สำหรับปัญหาค่าตัวของนักแสดงชายและหญิงไม่เท่ากัน เป็นปัญหาเรื้อรังของวงการบันเทิงเกาหลีใต้มาแต่ไหนแต่ไร ก่อนหน้านี้สำนักข่าว The Korea Herald เคยเปิดเผยรายได้ของนักแสดงนำ “It's Okay To Not Be Okay” หนึ่งในซีรีส์ที่โด่งดังและได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามในปี 2020 อย่าง คิม ซู-ฮย็อน และ “ซอ เย-จี” ที่ได้ไม่เท่ากัน ทั้งที่ชื่อเสียงและฝีมือการแสดงของทั้งคู่จะอยู่ในระดับเดียวกัน
แม้ว่าจะไม่ได้ระบุรายได้ที่ทั้งคู่ได้รับจาก “It's Okay To Not Be Okay” แต่มีการเปิดเผยว่าซู-ฮย็อนจะได้รับค่าตัวอย่างต่ำ 500 ล้านวอนต่อซีรีส์หนึ่งตอน สำหรับซีรีส์ “One Ordinary Day” (2021) โดยยังไม่รวมรายได้จากการขายโฆษณา การขายลิขสิทธิ์ และอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นค่าตัวที่สูงที่สุดของนักแสดงชาย
คิม ซู-ฮย็อน ในซีรีส์เรื่อง One Ordinary Day
นอกจากนี้ มีรายงานว่า ปรกติแล้วนักแสดงชายจะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 200 ล้านวอนต่อซีรีส์หนึ่งตอน แม้จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ก็ตาม แตกต่างจากนักแสดงหญิงที่ได้รายได้เริ่มต้น 100 ล้านวอนต่อการทำงานที่เท่ากัน ซึ่งพวกเธอจะต้องดิ้นรนทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้เข้ามามากยิ่งขึ้น
นักข่าวคนดังกล่าวยังเรียกร้องให้ซอง เฮเคียวและนักแสดงหญิงแถวหน้าของวงการได้ค่าจ้างที่เหมาะสม ในฐานะนักแสดงยอดฝีมือโดยไม่คำนึงถึงเพศ
- การส่งเสียงและเรียกร้องของนักแสดงฮอลลีวู้ด
อันที่จริงในวงการฮอลลีวู้ดก็มีปัญหานักแสดงหญิงได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่านักแสดงชาย จนทำให้เหล่านักแสดงหญิงแถวหน้าของวงการออกมาเรียกร้องให้จ่ายค่าตัวที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็น “เจนนิเฟอร์ ลอว์เลนซ์” นักแสดงขวัญใจชาวอเมริกัน ที่ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหารายได้ที่ไม่เท่าเทียมกับนิตยสาร “Vogue” ว่า
“ฉันได้ค่าตัวไม่เท่ากับนักแสดงชาย เป็นเพราะช่องคลอดของฉันหรอ? และเมื่อคุณตั้งคำถามเรื่องค่าตัวที่ไม่เท่าเทียม คุณจะได้รับคำตอบว่า มันไม่ใช่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ แต่พวกเขาก็ตอบไม่ได้ว่ามันคืออะไร”
เจนนิเฟอร์ ลอว์เลนซ์ บนปก “Vogue”
ยังมีนักแสดงหญิงคนอื่น ๆ ที่เคยพูดถึงความไม่เป็นธรรมในค่าตอบแทน และพวกเธอล้วนเคยตกอยู่สถานการณ์ดังกล่าวแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เจสสิกา แชสเทน , ออคตาเวีย สเปนเซอร์ , อะแมนดา ไซเฟร็ด , มิเชลล์ วิลเลียมส์ , มิเชล โหย่ว , เอ็มมา สโตน และอื่น ๆ อีกมากมาย
รวมถึงนักแสดงชายหลายคนอย่าง “คริส แพตต์” และ “แชดวิก โบสแมน” ก็ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่ “เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์” ประกาศว่าจะไม่ร่วมงานกับค่ายหนังหรือใครก็ตามที่จ่ายค่าจ้างนักแสดงอย่างไม่เป็นธรรม
ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างระหว่างเพศยังคงมีอยู่ในวงการฮอลลีวู้ด แต่สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับการแก้ไขอย่างช้า ๆ จากการส่งเสียงของพวกเขาและเธอ ซึ่งแตกต่างจากวงการเกาหลีที่ยังไม่มีนักแสดงคนใดออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง
- ประเทศที่มีรายได้ระหว่างเพศต่างกันมากที่สุดในโลก
ปัญหารายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันในเกาหลีใต้ ไม่ได้มีอยู่แค่เพียงในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ยังกระจายไปทั่วทุกวงการ จากข้อมูลรายได้ประชากรของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ทั้ง 39 ประเทศ ประจำปี 2021 พบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรายได้ระหว่างเพศห่างกันมากที่สุดถึง 31.1% ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงได้รับเงินเดือน 68.9% ของที่ผู้ชายได้รับเท่านั้น
เกาหลีใต้ครองตำแหน่งประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นปีที่เกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งมีช่องว่างอยู่ที่ 43.3% จากนั้นค่อย ๆ ลงลดเรื่อย ๆ มาจนถึงในปัจจุบัน แต่ก็ยังสูงมากอยู่ดี และเป็นเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในระดับ 30%
ดร.คิม นัน-จู จากสถาบันพัฒนาสตรีเกาหลี ระบุว่า เกาหลีใต้ใช้ระบบค่าจ้างและการหยุดงานเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดช่องว่างรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง “เกณฑ์การขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งจะพิจารณาจากระยะเวลาทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิง เนื่องจากพวกเธอจะต้องหยุดงานในช่วงตั้งครรภ์และเลี้ยงลูก มักจะเกิดขึ้นในช่วงวัย 30 ที่หน้าที่การงานเริ่มอยู่ตัว”
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้พึ่งแก้ไขกฎหมายตลาดทุนและธุรกิจการลงทุนทางการเงิน กำหนดให้สมาชิกของคณะกรรมการบริหารของบริษัทจดทะเบียนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์มีทั้งสมาชิกทั้ง 2 เพศ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดจากเพศใดเพศหนึ่ง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
“แม้แต่ในยุโรป ซึ่งมีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในระดับต่ำ แต่ก็ยังใช้ระบบโควตาสำหรับผู้บริหารหญิง แต่กฎหมายตลาดทุนของเกาหลีเพิ่งจะเริ่มก้าวแรกเท่านั้น” นัน-จูกล่าวสรุป
ขณะที่ ควอน ซูน-วอน ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยสตรีซุกมยอง ชี้ให้เห็นว่าระบบค่าจ้างตามอายุงานเป็นปัญหา เมื่อผู้หญิงที่ลาคลอดกลับมาทำงาน แต่พวกเธอจะได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานชายที่เริ่มงานพร้อมกัน เนื่องจากระยะเวลาที่ลาคลอดและเลี้ยงบุตรจะไม่ถูกนำมารวมกับอายุงานของพวกเธอ
รายงานจากธนาคารโลกเรื่อง "สตรี ธุรกิจ และกฎหมายปี 2023" (Women, Business and the Law 2023) ระบุว่า เกาหลีใต้ได้คะแนนด้านการจ้างเงินเดือนให้ผู้หญิงเพียง 25 จาก 100 คะแนนเต็ม ทั้งที่ในหมวดอื่น ๆ เกาหลีได้คะแนนเต็ม เช่น ความคล่องตัว สถานที่ทำงาน การแต่งงาน ทรัพย์สิน และเงินบำนาญ สรุปแล้วเกาหลีใต้ได้คะแนนรวมอันดับที่ 65 จาก 190 ประเทศ
“อคติทางเพศและความไม่เท่าเทียม เช่น ความแตกต่างของงานและชั่วโมงการทำงาน ความรับผิดชอบหน้าที่ของผู้หญิงในบทบาทแม่บ้าน ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้ชายและผู้หญิง และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของเกาหลีใต้” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม ความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมของค่าจ้างระหว่างเพศด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ปัญหานี้จะถูกแก้ไขอย่างจริงจัง หากเสียงของพวกเธอดังมากพอ และคนในรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ
ที่มา: Buzzfeed, CNBC, Insider, Koreaboo, Korea Herald, Korea Times 1, Korea Times 2, People, Pink Villa, Statista