จาก'หมอกระต่าย' ถึง 'หมอมีน' อุบัติเหตุที่ต้องตั้งคำถาม?
จากหมอกระต่ายถึงหมอมีน บทเรียนการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยบนถนน ลักษณะกายภาพของถนน และเหตุที่คนขับขี่กะระยะไม่ถูกต้อง
เวลาเกิด อุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากสรุปว่าคนขับหลับใน ไม่ได้นอน ไม่ทันระวัง ไม่ชำนาญเส้นทาง ฯลฯ ยังมีรายงานอีกว่า อุบัติเหตุเกิดซ้ำรอยเดิม ด้วยลักษณะกายภาพของถนนที่ไม่เอื้อต่อคนขับ
ถ้าใช่! เหตุใดปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องโยงไปที่กฎหมายไม่เอื้อ แล้วมาจบที่ระบบโครงสร้าง วกกลับมาที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา...
ย้อนไปเมื่อต้นเดือน ม.ค.2565 เหตุเกิดที่ทางม้าลาย ถนนพญาไท หมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินข้ามถนนไม่ทันเห็นบิ๊กไบค์ที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงในช่องทางขวา จึงถูกชนอย่างแรง เสียชีวิต
อีกกรณี ต้นเดือน มิ.ย.2566 หมอมีน พญ.ญาณิศา สืบเชียง แพทย์จบใหม่ 2566 เพิ่งเริ่มงานได้ 23 วัน หมออินเทิร์น ประสบอุบัติเหตุหลังออกเวร มีรายงานว่าจุดเกิดเหตุเป็นแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้รถเสียหลักข้ามเลนไปยังช่องทางจราจรด้านขวา เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่วิ่งสวนมา เสียชีวิต
ทั้งสองกรณีทำให้เกิดดราม่าและคำถามมากมาย โดยสรุปว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับหมอๆ ที่มีอยู่น้อยนิดในประเทศนี้ สักพักเรื่องก็เงียบหาย จากนั้นก็เกิดอุบัติเหตุบนถนนซ้ำรอยเดิมอีก
ย้อนไปดูข้อมูลองค์การอนามัยโลก และศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉลี่ยอยู่ที่ 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสะสมในปี 2022 แล้วถึง 13,590 คน หรือประมาณวันละ 40 คน
ส่วนลักษณะถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด จะเป็นถนนทางตรงที่ไม่มีความลาดชัน รองลงมาเป็นถนนทางโค้งกว้างที่ไม่มีความลาดชัน ส่วนบริเวณทางโค้งหักศอก ถนนที่มีการเปลี่ยนจำนวนช่องเลน และบริเวณจุดกลับรถต่างระดับ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด
ถ้าวกมาดูปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากสุด มาจากปัญหาทางกายภาพของถนน สภาพรถ ปัญหากฎหมาย พฤติกรรมคนใช้ถนน และคนขับรถ ฯลฯ
“เนื่องจากเราจัดการสภาพแวดล้อมและกายภาพบนถนนไม่ได้ ทำให้พฤติกรรมไม่ถูกจัดการ” นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งมาตรฐานถนนที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนขับรถตามระดับสากล คงเป็นอีกเรื่องควรได้รับการแก้ไขในระบบโครงสร้าง
หากมองเรื่องพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ จะต้องใช้ทั้งสมอง สายตา หู และการเคลื่อนไหว และเมื่อใดร่างกายเครียดอ่อนล้า เหนื่อยเพลีย หลับใน ละสายตาแค่ชั่วอึดใจเดียว ก็มีผลต่อการตัดสินใจ ฯลฯ ดังนั้นต้องเชื่อก่อนว่า “คนผิดพลาดได้เสมอ”
และต้องทำความเข้าใจว่า สายตามนุษย์มีข้อจำกัด หากขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วสูงมากๆ มุมการมองเห็นจะแคบลง ถ้าขับด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. มุมการมองเห็นจะลดลงจาก 180 องศา เหลือ 100 องศา ถ้าขับมาที่ความเร็ว 100 กม./ชม. มุมการมองเห็นจะเหลือ 40 องศา
ลองเปรียบเทียบดู ยิ่งขับและขี่รถด้วยความเร็วสูง มุมการมองเห็นยิ่งแคบ หากต้องมีการตัดสินใจ สมองมีเวลารับรู้และตอบสนองแค่ 1-2 วินาที คนส่วนใหญ่จึงตัดสินใจด้วยโหมดอัตโนมัติตามความเคยชิน ทำให้ลืมโหมดพื้นฐาน คือ สติ
และนี่คือที่มาของอุบัติเหตุ ที่ไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพของถนน ยังมีเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ และต้องเชื่อก่อนว่า “คนผิดพลาดได้เสมอ”