ค้นหาความอัจฉริยะ พัฒนาสู่ความสำเร็จ ฉบับ 'ปลายฟ้า' นักเปียโนอายุน้อย
“คนทุกคนมีต้นทุนของชีวิต มีโอกาสที่แตกต่างกัน ต่อให้เรามีพรสวรรค์ แต่หากเราไม่มีพรแสวง ความฝัน หรือโอกาสที่เราได้รับอาจจะหลุดมือไป” ปลายฟ้า พันธเกียรติไพศาล นักเปียโนและนักประพันธ์เพลง อายุ 17 ปี
Keypoint:
- การก้าวเดินตามความฝัน ต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น และพยายาม ซึ่ง 'ปลายฟ้า' แม้จะมีพรสวรรค์แต่เธอไม่หยุดพรแสวงพัฒนาตนเองด้านดนตรี เล่นเปียโนมาตั้งแต่ 5 ขวบ จนวันนี้ได้เป็นนักเปียโนและนักประพันธ์เพลง
- ครั้งแรกของ 'ปลายฟ้า' สาวน้อยอายุ 17 ปี ได้มีโอกาสแสดงบรรเลงเดี่ยวเปียโนเปิด Concert Hitman David Foster and Friends ของDavid Foster พร้อมไปกับดนตรีที่เรียบเรียงเสียงประสานไว้เป็น Backing track
- โอกาสทุกคนอาจจะมีมากน้อยแตกต่างกัน แต่เมื่อได้รับโอกาสต้องลองเรียนรู้ ลองทำ และพ่อแม่หากสนับสนุนลูกให้ทำกิจกรรม เล่นดนตรี กีฬา ควรถามลูกด้วยว่าเขาชอบหรือสนใจ มีความสุขในการทำหรือไม่?
หลายคนอาจจะมองว่าเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีพร้อมให้ทุกอย่างแล้ว จะได้อะไรก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่สำหรับ ‘ปลายฟ้า พันธเกียรติไพศาล’ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเต็มรูปแบบ แต่สิ่งที่ทำให้น้องประสบความสำเร็จ ก้าวเดินตามความฝันของตัวเองได้เร็วกว่าผู้อื่นนั้น เกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ และอดทน คว้าทุกๆ โอกาสไว้
คนแต่ละคน อาจจะมีความเชี่ยวชาญ ความเก่ง หรืออัจฉริยภาพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทุกคนสามารถค้นหาความอัจฉริยะของตนเองได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้น ซึ่ง ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เป็นผู้เสนอ ‘ทฤษฎีพหุปัญญา’ เป็นทฤษฏีทางการศึกษาที่มีรากฐานมาจากการค้นคว้าและวิจัยทางสมอง ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 โดยนี้ในหนังสือ ‘Frames of mind : The Theory of Multiple Intelligences’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดหลักสูตร 'นักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม'เรียน 4 ปีครึ่ง
จากเด็กหัดเล่นเปียโนก้าวสู่เส้นทางนักเปียโน
โดยทฤษฎีดังกล่าวได้เสนอแนวคิดของอัจฉริยะอันมีหลากหลาย ซึ่งว่ากันว่า การค้นหาความอัจฉริยะทั้ง 9 ด้าน ทั้ง อัจฉริยะด้านภาษา อัจฉริยะด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ อัจฉริยะด้านมิติสัมพันธ์ อัจฉริยะด้านดนตรี อัจฉริยะด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว อัจฉริยะด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น อัจฉริยะด้านความเข้าใจตนเอง อัจฉริยะด้านความเข้าใจธรรมชาติ และอัจฉริยะด้านการคิดใคร่ครวญ โดยแต่ละความอัจฉริยะก็อยู่ในตัวบุคคลที่แตกต่างกัน อยู่ที่การค้นพบความอัจฉริยะ นำไปสู่การเลือกอาชีพที่เหมาะสม
อย่าง ‘ปลายฟ้า’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ในทุกเรื่องที่อยากทำ โดยเฉพาะการเป็นนักดนตรี การเล่นดนตรี ซึ่งการกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ทำ อยากให้มีทักษะด้านดนตรี จึงให้ไปเรียนเปียโนตั้งแต่ 5 ขวบ ตอนแรกก็เล่น ฝึกซ้อมเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น เล่นบ้าง หยุดบ้าง เปลี่ยนไปเล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง แต่สุดท้ายเขาก็จะเล่นดนตรีได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการเล่นเปียโน และฟลูตซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ชอบมากที่สุด มีวันไหนที่เราจะไม่เล่น
“จริงๆ หนูเป็นคนที่ชอบทั้งการเล่นดนตรีให้ผู้ชมได้ฟัง และชอบการแต่งบทเพลง เรียบเรียงเนื้อร้อง เป็นคนที่อยู่ได้ทั้งเบื้องหน้าในการเป็นนักเปียโนและนักประพันธ์เพลง คนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอยากทำให้ดีทั้ง 2 อย่าง ดังนั้น การเดินทางเป็นนักเปียโน และนักประพันธ์เพลงของหนู จึงมีการเตรียมพร้อม อดทนมุ่งมั่นตามเป้าหมายของตัวเองมาตลอด และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 12 ปี ว่าอยากเป็นนักประพันธ์เพลง และนักเปียโน ที่บรรเลงบทเพลงของเราเองให้ผู้ฟังทั่วโลก อยากให้ทุกคนได้ฟังบทเพลงของหนู”
ประสบการณ์รอบตัว บทเพลงสะท้อนตัวตน
ทั้งนี้ ความอัจฉริยะ 9 ด้านนั้น ‘ปลายฟ้า’อาจจะจัดอยู่ในความอัจฉริยะด้านดนตรี เพราะมีความโดดเด่นเรื่องการร้องเพลง เล่นดนตรี สามารถแยกแยะเสียงต่างๆ ได้อย่างดี รู้จักท่วงทำนอง จดจำเสียงที่เคยได้ยินเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อย 1 ชิ้น และจะใช้เวลาทั้งหมดอยู่กับเครื่องดนตรี
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ‘ปลายฟ้า’ ได้ทำกิจกรรม ทั้งเล่นเครื่องดนตรีเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ เบส ไวโอลีน หรือเล่นกีฬา อย่าง กอล์ฟ เทนนิส และเมื่อได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งระบบการศึกษาที่นั้นจะเปิดกว้าง ทำให้เธอได้เรียนวิชาต่างๆ ทางด้านวิชาการ และได้ทำกิจกรรมเสริม อย่าง ขณะนี้ ‘ปลายฟ้า’ศึกษาอยู่ที่ โรงเรียน Trent College จะเรียนวันละ 3 วิชา ส่วนเวลาที่เหลือจะนำมาใช้ในการเรียนดนตรี ฝึกซ้อมเปียโน และเล่นวงออเคสตร้าของโรงเรียน
ปัจจุบัน ‘ปลายฟ้า’ ได้เปิด IG และช่อง YouTube ของตนเอง โดยใช้ชื่อ Falalaartist เพื่อถ่ายทอดบทเพลง และเรื่องราวของตัวเองให้ผู้ที่ชื่นชอบฟังเพลง อีกทั้งเร็วๆ นี้จะมีผลงานการแต่งเพลงให้กับบริษัทมหาชนอีก 2 แห่ง และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ Royal Paragon Hall กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้รับโอกาสจากทีมงาน David Foster ในการบรรเลงเดี่ยวเปียโนเปิด Concert Hitman David Foster and Friends
โดย Openning Act ที่‘ปลายฟ้า’ได้เรียบเรียงเพลงของ David Foster ในรูปแบบดนตรีออเครสตรา และเล่นเปียโน รวมถึงฟลุตในแบบบรรเลงสด พร้อมไปกับดนตรีที่เรียบเรียงเสียงประสานไว้เป็น Backing track โดยเลือกเพลงของ David Foster และเรียบเรียงดนตรีใหม่ร่วมกับเครื่องดนตรีที่หลากหลายในรูปแบบ light orcrestra ที่มีทั้ง Vilolin, Cello,Tuba, เป็นต้น รวมถึงความซนแบบเด็กๆ ด้วยการใส่เสียงประสานของเอลฟ์ เป็นการเล่าเรื่องราวบทเพลงตามจินตนาการของตัวเอง
“หนูมีโอกาสได้ไปแสดงดนตรีในหลายครั้ง แต่การบรรเลงเดี่ยวเปียโนเปิด Concert Hitman David Foster and Friends และได้มีโอกาสไปนั่งชม นักแต่งเพลง ประพันธ์ดนตรี ที่มีเพลงฮิต อมตะ ก้องโลกคนหนึ่ง จนได้สมญานาม Mr. Hitman เป็นอะไรที่พิเศษและรู้สึกดีมากๆ เพราะเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของหนู และได้เห็นต้นแบบของนักแต่งเพลง นักประพันธ์ดนตรีชื่อดังระดับโลก เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากแต่งเพลง อยากแสดงดนตรีต่อไป”
ตั้งแต่อายุ 12 ปี ‘ปลายฟ้า’เริ่มแต่งเพลงมาตลอด โดยนำเรื่องราวจากประสบการณ์ของตนเอง จากคนรอบข้างมาเรียงร้อยและใส่ทำนองดนตรีตามสไตล์ของตนเอง ผ่านการฝึกฝน ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากการฟังบทเพลงที่หลากหลาย
ปลายฟ้า เล่าด้วยน้ำเสียงสดใสว่า หนูแต่งเพลงไทยและสากลมาแล้ว 6 เพลง ทั้งเป็นเพลงสำหรับร้อง อย่าง เพลงป็อบ เพลงรัก และเพลงบรรเลง โดยมีเพลงชานมไข่มุก หรือ Buble Tea เพลงที่แต่งขึ้นเพราะขำที่ไข่มุกติดคอเพื่อนจนเอามาแต่งเพลง และได้รับรางวัลชนะเลิศจาก London Young Musician Awards และ UK International Musicial Compettition และรางวัลจากการเล่นเปียโนคลาสสิกอีกหลายรายการ
“หนูทำเพลงเพราะชอบ สนุก ที่สำคัญการเรียนดนตรี เป็นเสมือนเราได้เรียนภาษา ซึ่งภาษาของดนตรีนั้นสวยงามมาก และการเรียนดนตรีทำให้หนูรู้จักตัวเอง มีสมาธิ เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ยิ่งหนูเป็นพวก Introvert มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง มีความสุขกับการอยู่คนเดียว ชอบทำอะไรตัวคนเดียว แต่หากเพื่อนชวนไปหนูก็ไปได้ แต่ถ้าให้เลือกก็ชอบอยู่บ้าน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง ทำกิจกรรมที่เราชอบมากกว่า”
เคล็ดลับการประพันธ์เพลงฉบับ ‘ปลายฟ้า’
การแต่งเพลงของ ‘ปลายฟ้า’ เริ่มง่ายมาก เพราะเริ่มจากความตั้งใจ และมองหาคอนเซปต์ที่เหมาะสมกับเพลงนั้น ก่อนจะมาใส่ดนตรี ทำนองเข้าไป ซึ่งเวลาแต่งเพลงเสร็จจะส่งให้คนใกล้ชิด หรืออาจารย์ค่อยให้คำแนะนำ อย่าง อ.ปุ้ม พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ. อยุธยา แห่งวงตาวัน ที่ปรึกษาในการแต่งเพลงของน้อง
“ตอนเด็ก ๆ หนูก็มีเกเรบ้าง ไม่อยากฝึกซ้อม อยากไปเล่นกิจกรรมอื่นๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ได้ให้กำลังใจ คอยอยู่ข้างๆ ผลักดัน และหาโอกาสให้ได้ไปฝึกซ้อมเปียโน ได้ไปแข่งขัน จนกระทั่งทำให้หนูรู้ว่าชอบอะไร ซึ่งหนูชอบดนตรีมาก หนูเล่นดนตรีได้เกือบทุกชนิด และอยากเป็นนักเปียโนพร้อมกับอยากเป็นนักประพันธ์เพลง เมื่อหนูคิดอะไรได้ หรือเห็นคำต่างๆ ที่หนูชอบ หนูก็จะจดใส่สมุดโน้ต หรือแท็ปเล็ตคอยเก็บบันทึกคำเหล่านั้น และเราก็จะนำคำเหล่านั้น มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงต่างๆ”
ปลายฟ้า เล่าด้วยว่า คุณพ่อคุณแม่ พวกเขาเป็นเด็กสายวิทย์ที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี การฟังดนตรี เขาจึงสนับสนุนหนูเรื่องดนตรี แต่เขาจะให้คำแนะนำในการแต่งเพลง หรือการเล่นดนตรีไม่ได้ หนูจึงมีครูที่คอยให้คำแนะนำ และมีการค้นคว้าหาแนวเพลงที่เราชอบ ซึ่งหนูชอบบทเพลงแนวบรรเลงยุคโรแมนติก และเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของทัน ทุกแนวเพลงจะมีเรื่องราวความเป็นมาในแต่ละยุค ที่จะสะท้อนความเป็นชีวิตของผู้คนในยุคนั้นๆ
“หนูเชื่อว่าทุกคนสามารถแต่งเพลงได้ แต่ต้องมีความอดทนและมุ่งมั่น พยายามค้นหาสไตล์เพลงที่เราชอบ และการเลียนแบบไอดอล หรือบทเพลงที่เราชอบในช่วงแรกๆ เป็นไอเดีย เพราะบทเพลงเป็นลักษณะเฉพาะตัว เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ต่อให้เราเลียนแบบแต่สุดท้ายก็จะเจอรูปแบบของเราเอง ที่สำคัญที่สุด ต้องเกิดจากความชอบ สนุก และอยากทำมันอย่างต่อเนื่อง ถ้ารู้สึกว่าอยากทำอะไรไปตลอด ไม่มีวันเบื่อ และมีความท้าทายให้เราได้พัฒนาตนเอง หนูว่าทุกคนจะทำได้ดี”
พุ่งชนเป้าหมาย มายเซตต้องชัดเจน
ทุกคนต่างมีโอกาสของตัวเอง แต่จะได้รับโอกาสมากน้อยอาจแตกต่างกัน ก่อนที่จะได้รู้จักตัวเอง ได้เดินตามความฝัน จนทำให้มันเป็นงาน เป็นอาชีพในอนาคต ‘ปลายฟ้า’ ก็มีมุมเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร เมื่อคุณพ่อคุณแม่เด็กๆ อยากให้เรียน หรือเล่นกิจกรรมอะไร เขาก็ทำตาม
ปลายฟ้า เล่าต่อว่าเธอโชคดีที่สิ่งที่พ่อแม่พยายามผลักดันเป็นสิ่งที่เธอชอบ เพราะการที่จะมาเป็นนักดนตรี เล่นเปียโนได้เก่ง ต้องฝึกซ้อม ฝึกฝนอย่างหนักมาก เมื่อก่อนต้องซ้อมทุกวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง ยิ่งช่วงไหนมีการแข่งขันต้องซ้อมหนักมากขึ้นแต่เราก็มีความสุขที่ได้ทำ เพราะเราชอบ แต่หากการผลักดันของพ่อแม่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีเป้าหมาย ความฝันได้ ฉะนั้น อยากฝากไปถึงพ่อแม่ทุกคนว่าจะสนับสนุนลูกในเรื่องใดๆ อยากให้ถามหรือสังเกตว่าสิ่งที่ส่งเสริมนั้น ลูกโอเคกับมัน ลูกชอบมันหรือไม่ เพราะบางครั้งสิ่งดีๆ ที่พ่อแม่มองและอยากมอบให้แก่ลูกอาจทำลายลูกได้
“หนูว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ร่วมกัน เพราะต่อให้หนูมีพรสวรรค์ แต่หากหนูไม่พยายามฝึกฝน ไม่แสวงหาโอกาส ก็คงไม่เดินทางได้อย่างทุกวันนี้ และความฝันในการอยากเป็นนักเปียโน นักประพันธ์เพลงคงไม่เกิดขึ้นจริง ฉะนั้น ทุกๆ ก้าวของหนูจะเป็นไปตามเป้าหมายที่หนูตั้งไว้ และต่อให้เส้นทางอาจจะยากลำบาก หรือมีอุปสรรคบ้าง หนูจะเป็นคนที่มีความอดทนและมุ่งมั่นมากๆ ไม่เคยละทิ้งเป้าหมายของตนเอง และพยายามทำไปจนสุดทาง ต้องมีมายเซตชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ หลังจากนี้ หนูอยากให้ทุกคนได้ฟังบทเพลงของหนู ได้สัมผัสความเป็นตัวหนูผ่านเนื้อร้อง และทำนอง เสียงของดนตรี” ปลายฟ้า กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับใครที่อยากติดตาม ‘ปลายฟ้า พันธเกียรติไพศาล’นักเปียโนและนักประพันธ์ อายุน้อย คนนี้สามารถรับฟังบทเพลง หรือรู้จัก สนับสนุนน้องได้ทางช่อง IG และช่อง YouTube :Falalaartist
แพทย์แนะเสริมพัฒนาความฉลาด 10 ด้านให้แก่เด็ก
ด้าน พญ.รวงฤทัย ฉิ้มสังข์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเปาโลเกษตร เปิดเผยว่า การเสริมสร้างพัฒนาการด้านความฉลาดของลูก สามารถส่งเสริมและสร้างได้ ตั้งแต่ในท้องจนถึงช่วง 3 ขวบปีแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานาทีปีทองที่ต้องใส่ใจดูแลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกรักเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ พร้อมด้วยการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอารมณ์แจ่มใส สุขภาพจิตดี และมีสติปัญญา
โดยพ่อแม่สามารถพัฒนาความฉลาด 10 ด้านที่ควรเติมเต็มให้แก่ลูก มีดังนี้
1.HQ หรือ Health Quotient ความฉลาดทางสุขภาพ
ความรู้ความสามารถในดูแลตนเอง ให้ความสำคัญถึงการมีสุขภาพดี ส่งเสริมและแนะนำให้ลูกรู้จักการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการพักผ่อนที่เพียงพอ
2.IQ หรือ Intelligence Quotient : ความฉลาดทางด้านสติปัญญา
ความสามารถในการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ ดนตรี ศิลปะ และกีฬา สามารถส่งเสริมได้ด้วยการใช้เวลาใกล้ชิด เล่นและ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ การใช้ภาษามือควบคู่เวลาสื่อสารกับลูก
3.EQ หรือ Emotional Quotient : ความฉลาดทางอารมณ์
ความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม และพร้อมรับมือได้เมื่อเผชิญกับภาวะสถานการณ์ต่างๆที่ไม่คุ้นเคย สามารถเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้ลูกได้ด้วยการ ส่งเสริมให้ลูกเล่นใช้จินตนาการ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ตอบสนองความต้องการของลูกอย่างถูกต้อง ไม่ตามใจ ไม่เข้มงวดเกินไป
4.CQ หรือ Creativity Quotient : ความคิดสร้างสรรค์
การที่ลูกมีความริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการและแนวคิดต่างๆ เช่น การประดิษฐ์ การออกแบบงานศิลปะประเภทต่างๆ สามารถส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการด้านนี้ด้วยการ ละเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ การเล่านิทาน การนำของใกล้ตัวมาทำเป็นของเล่น
5.PQ หรือ Play Quotient : ความฉลาดจากการเล่น
การที่ลูกมีความฉลาดด้านสติปัญญา อารมณ์ และด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น สามารถการกระตุ้นและส่งเสริม ได้ด้วยการที่พ่อแม่เล่นกับลูกบ่อยๆ
6.AQ หรือ Adversity Quotient : ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา
เป็นทักษะที่ลูกจะสามารถแก้ไขปัญหา มีความมานะไม่ย่อท้อเมื่อเจอปัญหา มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย สามารถส่งเสริมพัมฒนาการด้านนี้ด้วยการ ฝึกความพยายามให้ลูก เช่น การเล่นต่อเลโก้ จิ้กซอร์ การให้กำลังใจและคำชมเชย
7.TQ หรือ Thinking Quotient : ความฉลาดในการคิด
คือความสามารถที่ลูกจะคิด วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล ถูกต้อง มีวิจารณาญาณ สิ่งใดมีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถส่งเสริมได้ด้วยการ พาลูกออกไปเที่ยว อ่านหนังสือกับลูก การทำงานบ้าน การฝึกให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเอง
8.MQ หรือ Moral Quotient : ความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม
คือความฉลาดที่ลูกรักรู้จักผิดชอบ ประพฤติดี มีความซื่อสัตย์ มีความกตัญญู สามารถส่งเสริมด้วยการอบรมสั่งสอน และเรียนรู้ผ่านพฤติกรรม หรือตัวอย่างที่พ่อแม่ทำ
9.OQ หรือ Optimist Quotient : ความฉลาดด้านการมองโลกในแง่ดี
การที่ลูกมีสุขภาพจิตดี อารมณ์แจ่มใส มองโลกในแง่ดี มีความคิดเชิงบวก สามารถรับมือกับปัญหา ฝ่าฟันอุปสรรคได้โดยไม่เครียดจนเกินไป ซึ่งสามารถฝึกพัฒนาการด้านนี้ให้ด้วย การฝึกทำงานบ้าน การฝึกการล้างหน้าแปรงฟันเก็บที่นอน ปิดไฟ การถอดเสื้อผ้าลงตะกร้าด้วยตัวเอง และควรชื่นชมลูกทุกครั้ง
10.SQ หรือ Social Quotient : ความฉลาดในการเข้าสังคม
การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและหลากหลายในปัจจุบันได้ พ่อแม่สามารถฝึกทักษะด้านนี้ให้ลูกด้วยการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่างจากนิทานที่อ่านให้ลูกฟัง
9 ด้านความอัจฉริยะ ส่งเสริมสู่อาชีพที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการเช็กว่าลูกมีความอัจฉริยะด้านไหน อันนำไปสู่การส่งเสริม และเติมเต็มทักษะเหล่านั้น เพื่อให้ลูกได้เลือกอาชีพที่เหมาะสม สามารถเช็กได้ 9 ความอัจฉริยะ ดังนี้
1. อัจฉริยะด้านภาษา คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเด่น คือ มีนิสัยรักการอ่าน ติดหนังสือ ชอบเขียน ชอบพูด สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้ดี มักได้ยินเสียงของคำก้องอยู่ในหูก่อนที่จะได้อ่าน พูด หรือเขียน คิดเป็นคำพูดมากกว่าเป็นภาพ จำชื่อสถานที่ เรื่องราว รายละเอียดต่างๆ ได้ดี เจ้าบทเจ้ากลอน มีอารมณ์ขัน ชอบพูดเล่นคำ สำนวน คำผวน
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักเขียน บรรณาธิการ นักข่าว กวี นักพูด นักแปล นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ ครู และนักการเมือง
2. อัจฉริยะด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเด่น คือ ชอบทดลองแก้ปัญหา สนุกที่ได้ทำงานกับตัวเลข หรือเกมคิดเลข การคิดเลขในใจ ชอบและมีทักษาะในการใช้เหตุผล การซักถามปัญหาให้คิดเชิงเหตุผล ชอบความเป็นระบบระเบียบ และลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน สนใจข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวิทยาการต่างๆ ชอบหาเหตุผลมาหักล้างหรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้อื่น เชื่อถือเป็นสิ่งที่อธิบายได้
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักคณิตศาสตร์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ นักบัญชี นักสถิติ และแพทย์
3. อัจฉริยะด้านมิติสัมพันธ์ ลักษณะเด่น คือ ชอบวาดเขียน มีความสามารถทางศิลปะ ชอบฝันกลางวัน ชอบหลับตาคิดถึงภาพในความคิด และจินตนาการ ชอบวาดภาพ ขีดเขียนสิ่งต่างๆ ลงกระดาษ สมุดจดงาน ชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิต่างๆ ชอบบันทึกเรื่องราวในภาพถ่ายหรือภาพวาด ชอบเล่นเกมต่อภาพ หรือจิ๊กซอว์ เกมจับผิดภาพ ชอบวาดภาพในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากธรรมดา ชอบดูหนังสือที่มีภาพประกอบมากกว่าหนังสือที่มีแต่ข้อความ
อาชีพที่เหมาะสม คือ มีทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ถ้าสายวิทย์มักเป็นนักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร นักเขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก
4. อัจฉริยะด้านดนตรี ลักษณะเด่น คือ ชอบร้องรำทำเพลง ชอบเสียงต่างๆ ชอบธรรมชาติ มีความไวมากต่อเสียงที่อยู่รอบตัว เช่น เสียงกระดิ่ง น้ำหยด แยกแยะเสียงต่างๆ ได้ดี รู้จักท่วงทำนองได้ดี ชอบผิวปาก ฮัมเพลงเบาๆ ขณะทำงาน ชอบเคาะโต๊ะหรือขยับเท้าตามจังหวะเมื่อฟังเพลง สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินแม้เพียงครั้งเดียว เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อย 1 ชิ้น มักได้ยินเสียงเพลงก้องในหูตลอดเวลา
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง ดีเจ นักวิจารณ์ดนตรี วาทยกร
5. อัจฉริยะด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ลักษณะเด่น คือ ชอบการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง ชอบสัมผัสผู้อื่นเมื่อคุยด้วย มีความกระตือรือร้น ชอบเต้นรำ เล่นละคร หรือบทบาทสมมุติ ชอบทำอะไรด้วยตัวเองมากกว่าให้คนอื่นทำให้ ชอบทำมือประกอบท่าทางเมื่อพูดคุย ชอบคุยเสียงดัง ชอบเล่นเครื่องเล่นที่โลดโผน ชอบเรียนวิชาพละศึกษา งานประดิษฐ์ กิจกรรมกลางแจ้ง ชอบลงมือทำมากกว่าการอ่าน ชอบใช้ความคิดขณะออกกำลังกาย เดิน วิ่ง
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักแสดง นักเต้นรำ นักกีฬา ช่างฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ศัลยแพทย์ ทหาร
6. อัจฉริยะด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น จุดเด่ลักษณะเด่น คือ ชอบมีเพื่อน ชอบพบปะผู้คน ร่วมสังสรรค์กับผู้อื่น ชอบเป็นผู้นำ หรือมีส่วนร่วมในกลุ่ม ชอบแสดงออกให้ผู้อื่นทำตาม ช่วยเหลือผู้อื่นและประสานงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ชอบพูดชักจูงให้ผู้อื่นทำมากกว่าลงมือทำด้วยตนเอง เข้าใจผู้อื่นได้ดี สามารถอ่านกิริยาท่าทางผู้อื่นได้ มักมีเพื่อนสนิทหลายคน ชอบสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นมากกว่าอยู่คนเดียวที่บ้านในวันหยุด
อาชีพที่เหมาะสม คือ ครู ผู้ให้คำปรึกษา นักการทูต พนักงานขาย พนักงานต้อนรับ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ นักธุรกิจ นักเจรจาต่อรอง นักบริหาร ผู้จัดการ
7. อัจฉริยะด้านความเข้าใจตนเอง มีกลุ่มนี้ด้วยหรือ? จุดเด่นของคนกลุ่มนี้ คือ ชอบอยู่ตามลำพังคนเดียวเงียบๆ คิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ติดตามสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ มีแรงจูงใจสูง มีอิสระในความคิด รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ และพัฒนาความรู้สึกนึกคิดเสมอ ชอบใช้เวลาว่างในวันหยุดมากกว่าออกไปในสถานที่ที่มีคนมากๆ ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าให้คนอื่นมาคอยช่วยเหลือ
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักปรัชญา นักจิตวิทยา นักวิจัย นักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ เจ้าของกิจการ
8. อัจฉริยะด้านความเข้าใจธรรมชาติ ลักษณะเด่น คือ ชอบสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์ สนใจสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว สนใจความเป็นไปในสังคมรอบตัว ชอบศึกษาเรื่องราวมนุษย์ การดำรงชีวิต คิดถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์ รู้จักชื่อต้นไม้หลายชนิด ไวต่อความรู้สึกเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี มีความรู้เรื่องดาว จักรวาล
อาชีพที่เหมาะสม คือ เกษตรกร ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เชฟ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ นักสิ่งแวดล้อม นักธรณีวิทยา นักมานุษยวิทยา
9.อัจฉริยะการคิดใคร่ครวญ จุดเด่น คือ ช่างคิด สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต สนใจเรื่องชีวิตหลังความตาย เรื่องเหนือจริง มิติลึกลับ พยายามมองหาความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้สาขาย่อยๆ เข้าเป็นภาพใหญ่ สนใจและชื่นชมวรรณคดี เรื่องเล่า อัตชีวประวัติของคนต่างวัฒนธรรม ชอบเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม การเมือง ศาสนา และการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ
อาชีพที่เหมาะสม คือ นักคิด นักเขียน นักปรัชญา
หากทุกคนได้ค้นหาความเก่ง ความอัจฉริยะของตัวเองเจอ อาจจะได้เดินตามความชอบ ความฝันของตัวเอง ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ตรงกับความสามารถ ความสนใจ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อ้างอิง: ร้านหนังสือ SE-ED