เช็กพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 20-29 ส.ค. 66 ไทยมีฝนกระจายเพิ่มขึ้น
เช็กพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 20-29 ส.ค. 66 ไทยมีฝนกระจายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ปริมาณฝนเป็นเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
"กรมอุตุนิยมวิทยา" รายงาน พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 20-29 ส.ค. 66 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า
ในช่วงวันที่ 20 -23 ส.ค.66 คาดว่าร่องมรสุมจะเริ่มเลื่อนลงมาพาดผ่านทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนบน ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุม ลมระดับบนเปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออก และมีกระแสลมไหลเวียนเข้าสู่ศูนย์กลาง (Cyclonic) บริเวณปลายแหลมญวน ทำให้มีฝนกระจายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ปริมาณฝนเป็นเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ในช่วงวันที่ 21 - 24 ส.ค.66 โดยบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานด้านตะวันออก ใกล้ร่องมรสุม ภาคตะวันออกและภาคใต้ ด้านรับมรสุม คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนช่วง 24 -29 ส.ค.66 มรสุมมีกำลังอ่อนลง ฝนยังมีต่อเนื่องด้านรับมรสุม ระยะนี้ยังไม่มีสัญญาณของพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นได้บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ช่วงปลายเดือน
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ กรมอุตุฯ ยังได้ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระบุว่า ในช่วงวันที่ 20 – 22 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก
ส่วนในช่วงวันที่ 23 – 26 ส.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง
ข้อควรระวัง:
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
สถานการณ์แผ่นดินไหว ในช่วง (19 - 20 ส.ค. 66) ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว
- ขนาด 2.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก
- ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา