'ดร.ธรณ์' โพสต์ มันเกิดอะไรขึ้นกับโลก อะไรที่ไม่เคยเกิด ก็เกิดขึ้นได้
"ดร.ธรณ์" โพสต์ มันเกิดอะไรขึ้นกับโลก ทั้งไฟป่าถล่มฮาวาย สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตเยอรมันน้ำท่วม ไฟป่าถล่มฮาวาย เฮอริเคนมุ่งหน้าไป LA ชี้เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น เรากำลังทำสงครามกับโลกเราเอง
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 "ดร.ธรณ์" ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับโลก !
สัปดาห์ก่อนไฟป่าถล่มฮาวาย ตอนนี้เฮอริเคนกำลังมุ่งหน้าไป LA เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น
ผมแปลจากคำพูดของผู้ประกาศข่าวชาวสหรัฐ หลังจากมึนงงอยู่ครู่หนึ่ง เขาสอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ
ดร.ท่านนั้นกล่าวว่า ปรกติมันไม่น่าเกิด มันต้องไม่เกิดสิ เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลในเขต southeast pacific มันจะเย็น เนื่องจากลมสินค้าและสาเหตุอื่นๆ ทำให้น้ำเย็นผุดขึ้นมาจากที่ลึก
น้ำร้อนต้องไปกองอยู่เขต west เกิดไต้ฝุ่นพัดตูมๆ เข้าฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฯลฯ
แต่โลกแปรปรวน อีกทั้งเอลนีโญ ทำให้น้ำทะเลร้อนผิดปรกติ อากาศแถวนี้ก็ร้อนหูดับตับไหม้ (ฟีนิกซ์ ฯลฯ เคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังแล้ว)
อะไรที่ไม่เคยเกิด มันก็เกิดขึ้นได้ และนั่นหมายถึงผลกระทบที่ไม่มีระบบรองรับ
แม้เฮอริเคนอาจอ่อนแรงจนกลายเป็นพายุโซนร้อนตอนถึงแคลิฟอร์เนีย ลมอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ที่น่ากลัวคือฝนตกมากมายในจุดที่ไม่ค่อยมีฝน
เวกัสอาจน้ำท่วมฉับพลัน ดินอาจถล่มในบางพื้นที่ อะไรที่ไม่ควรเกิด เมื่อเกิดมาย่อมส่งปัญหาทั้งนั้น
เมื่อ 2 วันก่อน ฝนเพิ่งตกจนน้ำท่วมฉับพลันที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมัน หากคิดว่าเป็นสงครามกับเอเลี่ยน การเจรจาได้จบลงแล้ว การโจมตีเริ่มต้นแล้ว
ปัญหาคือ คู่ต่อสู้ของเราไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว เรากำลังทำสงครามกับโลกของเราเอง เพราะเราไปรังแกเธอก่อน เราอยากได้จนไม่คิดถึงผลเสียในอนาคต ไม่คิดถึงวันข้างหน้า สงครามครั้งนี้ ดูยังไงก็มีแต่แพ้กับแพ้ ทางออกคือเจรจาหย่าศึกให้เร็วที่สุด
ลองติดตามการประชุม COP ปลายปีนี้ ดูสิว่าคุยกันไปคุยกันมา จะส่งผลอย่างไรบ้าง หากยังไม่เกิดผลอะไร เราคงใกล้ถึงภาวะตัวใครตัวมันแล้วครับ"
ก่อนหน้านี้ "ดร.ธรณ์" ได้โพสต์ข้อความถึงกรณี โลกร้อน โดยระบุว่า กรมโลกร้อนหรือ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ตั้งอย่างเป็นทางการแล้วครับ โดยเปลี่ยนชื่อมาจาก “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม”
แค่เปลี่ยนชื่อเองหรือ ? เพื่อนธรณ์คงสงสัย แต่ตามกระบวนการประเทศไทย เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนชื่อ แล้วปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ตามกฏกระทรวง
โครงสร้าง ณ จุดเริ่มต้น คือกรมส่งเสริมเดิม อีกส่วนหนึ่งคือนำกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้ามาร่วมด้วย
ดูจากจุดนี้ กรมโลกร้อน จะมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ รณรงค์เพื่อความเข้าใจ และกำหนดนโยบายต่างๆ ของไทยให้เท่าทันนานาชาติ
เรื่องต่างๆ เช่น road map เน็ตซีโร Nationally Determined Contribution (NDC) คาร์บอนเครดิต ฯลฯ น่าจะมาอยู่ในกรมนี้ ควบคู่ไปกับการทำงานของ TGO (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)
เราคงคาดหวังได้ว่า กิจกรรมเดิมๆ ที่ทำอยู่จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการเจรจาต่างชาติและการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหลาย
แต่อุปสรรคสำคัญคือกิจกรรมใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างมากที่เมืองไทยต้องไปข้างหน้าผมสรุปเป็นข้อๆ ให้เพื่อนธรณ์ครับ
- 1.การติดตามผลกระทบโลกร้อนต่อระบบนิเวศ
ข้อนี้สำคัญมาก ถือเป็น 1 ใน 3 หัวข้อหลักที่ UN และองค์กรอื่นๆ เน้นย้ำประเทศต่างๆ ไว้ เพราะระบบนิเวศ/ความหลากหลายทางชีวภาพคือสิ่งสำคัญสุดในการช่วยเราสู้โลกร้อน
คิดตามง่ายๆ ก็เหมือนเรากำลังป่วย คุณหมอก็พยายามช่วย แต่หมอก็ป่วย กลับไม่มีใครไปสนใจคุณหมอ กรมโลกร้อนคงไม่มีหน้าที่ดูแลป่า/ทะเล เพราะมีหน่วยงานทำโดยตรงอยู่แล้ว
แต่กรมโลกร้อนต้องเล็งประเด็นให้แม่น ตีกรอบผลกระทบโลกร้อนต่อทะเล/ป่า ติดตามสถานการณ์ แบ่งพื้นที่หนักเบา หาแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูแก้ไข ฯลฯ
ภารกิจตรวจสุขภาพคุณหมอจึงสำคัญยิ่ง รวมไปถึงการหาวิธีการต่างๆ ที่รุดไปข้างหน้าเพื่อประเมินผลกระทบให้เท่าทันและเท่าเทียมนานาชาติ ว่าง่ายๆ คืองานที่ผมเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังบ่อยๆ นั่นแหละครับ ตอนนี้มีกรมโลกร้อนแล้ว ธรณ์จึงดีใจ
- 2.สำคัญไม่แพ้กันคือการช่วยไกด์ไลน์ให้ผู้คนรับมือและปรับตัวต่อโลกร้อน
ผลกระทบจากเอลนีโญบวกโลกร้อน เกิดภาวะ double whammy แปลง่ายๆ ว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” สิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ผลดังกล่าวจะทำให้เราเดือดร้อนเป็นวงจร ตัวอย่างง่ายๆ ล่าสุด คือ อ้อย
ภาวะแห้งแล้งทำให้อ้อยโตไม่ได้ขนาด ใช้รถตัดไม่ได้ ต้องใช้คนตัด ทำให้การเผาอ้อยอาจเกิดมากขึ้น กลับมาสู่ปัญหา PM 2.5 (ฟังมาจาก facebook live สถานีวิทยุมก. เสวนาอ้อยกับภัยแล้ง) ยังมีอีกเพียบเลยที่โลกร้อนกดดันอาชีพการงาน ทับถมปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราควรติดตามและแยกแยะประเด็นชัดเจนเพื่อเตรียมรับมือและแก้ปัญหา
- 3. ข้อสุดท้าย คือ สร้างความตระหนัก
ซึ่งเป็นเรื่องเก่งของกรมส่งเสริมอยู่แล้ว แต่บริบทเปลี่ยนไป การกระตุ้นความสนใจเรื่องโลกร้อนไม่ใช่ง่าย แต่มันยาก เพราะเวลาเปลี่ยนไป ความเข้าใจของคนเปลี่ยนตาม ยุคนี้เราคงไม่ต้องมาอธิบายกันแล้วว่าโลกร้อนคืออะไร เกิดอย่างไร สิ่งที่คนอยากเห็นคือสถานการณ์ ผลกระทบ และการรับมือ/ปรับตัว การบริหารความเสี่ยง การจัดการภาวะวิกฤต ฯลฯ การทำงานแบบ proactive จะมีส่วนสำคัญยิ่ง ผมสอนนิสิต ผมเล่าเรื่องพวกนี้ให้เพื่อนธรณ์ฟังตลอด ผมทราบดีว่าผู้คนอยากรู้อยากปรับตัวมากมายแค่ไหน เราควรนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้ผู้คนสนใจและร้องว้าว ศูนย์สถานการณ์โลกร้อนต้องทันสมัย การติดโปสเตอร์อย่างเดียวตามงานอีเวนต์ต่างๆ คงไม่พอแล้ว
สำคัญคือเราต้องตามหาคอนเทนท์ ไม่ใช่แค่รายงานกิจกรรม/จัดประชุม แต่เนื้อหาต้องมี เนื้อหาในที่นี้คือการเชื่อมต่องานสำรวจวิจัย/กิจกรรมต่างๆ ไปสู่ต้นตอปัญหา เพื่อให้เห็นว่าเราทำไปทำไม ?
ขอเขียนไว้แค่นี้ก่อน ยังมีอีกหลายเรื่องเลยครับ เราค่อยๆ พูดคุยหาแนวทางกันไป แต่ดีใจนะครับ ดีใจมากที่เห็นกรมโลกร้อนอย่างเป็นทางการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ว่าจะเป็นท่านใด จะให้ความสำคัญและต่อยอดจากวันนี้ให้ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะโลกไม่รอเราแล้ว โลกเลิกร้อนแล้ว โลกเดือดแล้ว HBD กรมโลกร้อนที่ถือกำเนิดเกิดมาในวันที่โลกกำลังเดือดครับ
ภาพประกอบ - อาจารย์ธรณ์ท่ามกลางแหล่งหญ้าทะเลที่กำลังแห้งเพราะความร้อนจัดครับ