กรมวิชาการเกษตร รุกเป้าทศวรรษที่ 6 ภาระกิจวิจัยกู้ภัยโลกร้อน
กรมวิชาการเกษตร ยกทัพผลงานวิจัย โชว์ นิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6”วางเป้าตลาดนำการวิจัยรับมือสภาพอากาศโลกเปลี่ยน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ ว่า
ในช่วง 4 ปีที่ทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้ได้รู้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตสินค้าที่ดีมาก และสินค้าเหล่านั้นเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ปัญหาภาคการเกษตร ยังมีไม่จบสิ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่แต่ละองค์กรขาดการประสานงาน หรือยังมีลักษณะการทำงานแบบเบ้าขนมครก ตัวใครตัวมัน
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาการบริหารงานในความรับผิดชอบจึงมองภาพรวมเป็นหลัก อย่างกรณีของกรมวิชาการเกษตร ได้ตัดสินใจยกเลิก และห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เมื่อมีประกาศออกไปและมีผลทางกฎหมาย ก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ ที่ดีคือความปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร การส่งออกผักและผลไม้ก็มีมากขึ้น
ทำให้ต้องก่อสร้างศูนย์บริการส่งออกสินค้าแบบครบวงจร ที่สนามบินสุวรรณภูมิมารองรับ ซึ่งสะดวกต่อเกษตรกรที่ต้องการส่งออกทางอากาศ ในจำนวนที่ไม่มากนัก เป็นที่พอใจของผู้โดยสารมาก เพระไม่ต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง
“กรมวิชาการเกษตรมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง พัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรและสหกรณ์ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และมีหน้าที่ในการส่งเสริมงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อนำมาต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”
รวมทั้งมีส่วนช่วยให้เกษตรกรต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย อาทิ การส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศมูลค่า 2 แสนล้านบาท 2 ปี ซ้อน การเพิ่มศักยภาพการส่งออกผักและผลไม้ทางรถไฟ ไทย - ลาว - จีน และทางอากาศโดยจัดตั้งศูนย์บริการตรวจศัตรูพืชเพื่อการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ พัฒนางานวิจัยในรูปแบบตลาดนำ – การวิจัยสู่เกษตรมูลค่าสูง ตลอดจนคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคง ตลาดสินค้าเกษตรไทย
โดยดำเนินการโครงการนำร่องด้านคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจภายใต้ชื่อ “DOA Green Together” ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล (ทุเรียน และมะม่วง)
การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่กรมวิชาการเกษตรจะได้เผยแพร่ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่นตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษของการดำเนินงาน และทิศทางการดำเนินงานในทศวรรษที่ 6 เชื่อมั่นว่ากรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมที่จะนำพาเกษตรกรไทย และการผลิตสินค้าเกษตร ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลได้ และเชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนไทยและทั่วโลกว่า ผลงานและความสำเร็จของกรมวิชาการเกษตร ในฐานะผู้พัฒนาและส่งเสริมงานวิจัย พัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างคุณค่างานวิจัยให้เติบโต เข้มแข็งและยั่งยืนได้ และจะสามารถเติบโตและก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจัดงานนิทรรศการครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของกรมวิชาการเกษตร โดยมีส่วนจัดแสดงผลงานวิจัยค้นคว้าที่ประสบความสำเร็จ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดและประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยดังกล่าว ต่อสายตาคนไทยทั่วประเทศและต่างชาติทั่วโลก โดยภายในงาน มีการจัดส่วนแสดง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ Milestone ประวัติกรมวิชาการเกษตร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมากว่า 5 ทศวรรษ กว่าจะมาเป็นกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ในการเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีทางการเกษตรด้านต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2. นิทรรศการโชว์ผลงานวิจัยดีเด่น โดยตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรไทยได้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ผ่านงานวิจัยต่างๆ ที่จะ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงการการวางมาตรการการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ
3. บูธกิจกรรมร่วมสนุกภายใต้คอนเซ็ปต์ “DIY Growth : Growth & Share” กิจกรรมที่จะชวนให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ และถ่ายภาพอวดลงโซเชียลมีเดีย และเฝ้ามองการเติบโตไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาบนเวทีที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย”