พัฒนาทุนมนุษย์ สร้าง 'Learning City' รับมือ โลกเปลี่ยน เมืองเปลี่ยน

พัฒนาทุนมนุษย์ สร้าง 'Learning City' รับมือ โลกเปลี่ยน เมืองเปลี่ยน

เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเมืองที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้ในห้องเรียนไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างเมืองให้เป็น เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ถือเป็นโจทย์สำคัญ โดยเฉพาะท้องถิ่นในการพัฒนาทุนมนุษย์ในพื้นที่ของตนเอง

Key Point : 

  • เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ถือเป็นเมืองที่สนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ
  • มีที่มาจาก องค์การยูเนสโก เล็งเห็นว่าท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
  • ทั้งนี้ การสร้าง เมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การศึกษาในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างระบบนิเวศ และเมืองให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ในบริบทของท้องถิ่นที่มีความแตกต่าง

 

เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จากความหมายของข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายว่า เป็นเมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา
  2. ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน
  3. ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
  4. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
  5. ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้
  6. สนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ปัจจุบัน มีเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 294 เมือง จาก 76 ประเทศ และประเทศไทยมีเมืองที่อยู่ในเครือข่าย 7 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดพะเยา จังหวัดสุโขทัย และเทศบาลนครหาดใหญ่

 

เมืองแห่งการเรียนรู้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เมื่อปี 2558 องค์การสหประชาชาติ จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับโลกและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ดังกล่าวให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การพัฒนาด้านการศึกษาอยู่ในเป้าหมายที่ 4 (Sustainable Development Goal 4: SDG4) เป็นการสร้างหลักประกันเรื่องคุณภาพ ความครอบคลุม และการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ

 

องค์การยูเนสโก ได้เล็งเห็นว่าท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้

 

 

 

สร้างอดีตให้เป็น ‘อนาคต’

 

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดงาน Learning City Days นิทรรศการเมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นที่ของคนทุกช่วงวัย แถลงความร่วมมือและเป้าหมายร่วมของเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยตัวแทนเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ และภาคีเครือข่าย เพื่อประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนบริบทการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในแต่ละเมืองของไทยร่วมกัน

 

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า เรื่องเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่คนมักมองข้าม เรากำลังต่อสู้กับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องแรกที่ควรทำ คือ การสร้างการเรียนรู้ ว่าประวัติศาสตร์ รากเหง้า ผู้คนคืออะไร หรือเรียกว่า Local Study สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนกับผู้คนในเมือง และหากจะทำให้ยั่งยืน ต้องทำอดีตให้เป็นอนาคต สร้างมูลค่าใหม่จากเรื่องราวในเมือง เกิดกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ เกิดการเบ่งบาน สร้างคุณค่าร่วม สร้างมูลค่าใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้คนในเมือง

 

“ในพื้นที่ของบ้านเรา Agenda หลัก คือ สุขภาพ (Health City) สิ่งแวดล้อม (Green City) การศึกษา (Education) เศรษฐกิจฐานราก (Job Creation) วัฒนธรรม (Culture) คำถาม คือ เราจะใช้เมืองแห่งการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้เมืองพาทุกคนไปทางไหน ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนการทำให้พื้นที่เข้มแข็ง กระจายความเจริญเป็นทิศทางประเทศไทย เรามีหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกในพื้นที่ให้เข้มแข็ง รวมตัวกัน เพื่อทำให้งบประมาณที่รัฐลงทุนไปสู่พี่น้องประชาชนตรงเป้าและตรงจุด การทำเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก การบูรณาการที่ดีที่สุด คือ การบูรณาการระดับพื้นที่”

 

Learning City ต้นสายของการพัฒนา

 

สำหรับ บพท. ซึ่งถือเป็นกลไกที่ใช้งานวิจัยเป็นตัวตั้งกระตุ้นการพัฒนาระบบพื้นที่ ทำงานร่วมกับหลายองค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

 

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร กล่าวว่า Learning City เป็นต้นสายของการพัฒนา หลายครั้งที่เราไปได้ยากเพราะกลไกการพัฒนาการเรียนรู้มีข้อจำกัด ทำให้เรามองเห็นถึงว่าประเทศไทยต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการศึกษา องค์ประกอบหนึ่ง ที่ต้องช่วยกัน คือ ทำให้เมืองเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

 

“ดังนั้น บพท. จึงกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการสร้างบุคลากรผ่านงานวิจัย สร้างนวัตกร และชวนทุกฝ่ายช่วยกัน เพราะเป็นสิ่งที่ลูกหลานต้องการจริงๆ วันนี้เวียดนามไม่หยุด ทุกคนอยากพัฒนาประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ บพท. พยายามจะช่วย คือ เป็นแหล่งพื้นที่แห่งความรู้ ร้อยงานวิจัย นวัตกรรมต่างๆ หัวใจ Learning City อยู่ที่ท้องถิ่น และเชื่อว่าบาทบาทของ Learning City ในวันนี้ทำให้เมืองมีชีวิตขึ้นมาจากร่องรอยการทำงานการใช้ข้อมูลและความรู้”

 

6 องค์ประกอบสำคัญ Learning City

 

องค์ประกอบที่สำคัญมากในการผลักดัน คือ

1. การสร้างกลไกความร่วมมือภาครัฐ ท้องถิ่น

2. สร้าง Actor ในการทำงาน

3. การทำให้เมืองมีนโยบายและแผน Learning City

4. สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมี Local Finance ที่ซับพอร์ต ลดความเหลื่อมล้ำ

5. การเรียนรู้เชิงพื้นที่ Local Study for Learning City

6. เราตามหานวัตกรรม โดยมี 3 ด้าน คือ

  • ดิจิทัล เป็นองค์ประกอบนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ทำให้ Learning City มีพลัง
  • ความสามารถจัดการการเรียนรู้
  • นวัตกรรมในการออกแบบผังเมือง

 

“หัวใจของ Learning City สิ่งแรกที่สำคัญ คือ Learning City เป็นเรื่องราว ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง สถานที่ แต่เป็นผู้คน เป็นเมืองของมนุษย์ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ คือ เราคือใคร ไปทางไหนต่อในระบบโลกใหม่ เราไม่สามารถเรียนรู้เองได้ ต้องการระบบนิเวศ เรากำลังสร้างนิเวศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ความคิดแบบเดิมอาจจะไม่ได้ ต้องหาวิธีการ นวัตกรรมใหม่ ดังนั้น นวัตกรรมการเรียนรู้จึงสำคัญมาก” รศ.ดร.ปุ่น กล่าว

 

อาชีพเปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน

 

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ในฐานะเจ้าภาพหลัก Learning City ความท้าทายที่เผชิญมี 3 เรื่อง คือ 1. เด็กเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น เราเกิดปีละประมาณ 5 หมื่นคน และเสียชีวิตกว่า 1 แสนคน เทรนด์ทุกวันนี้คนไม่ค่อยอยากมีลูก ดังนั้น Learning City อย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมสูงอายุ 2. เหตุผลที่คนเกิดน้อยลง เพราะคนคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก และอยากไปอยู่ต่างประเทศ เป็นหนึ่งความท้าทายที่ต้องเอามาวางไว้บนโต๊ะและหาทางออกร่วมกันในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

 

“และ สุดท้าย 3. ความท้าทายในด้านการจัดการศึกษา การเรียนรู้ และอาชีพในอนาคต อนาคตอาชีพจะเปลี่ยนไป กทม. มีพนักงานกวาดราว 10,000 คน และพนักงานเก็บขยะราว 9,000 คน หลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ เขาใช้ชีวิตมาทำงานนี้ในระยะเวลาช่วงหนึ่ง และทำงานอื่นอีกช่วงหนึ่ง ทำงานหลายอาชีพ การที่เราพัฒนาการศึกษาเผลอๆ จะไม่ได้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพราะมีอาชีพที่หลากหลาย นี่คือ 3 ความท้าทายที่สำคัญ การตั้งโจทย์ตรงนี้ต้องกลับมาว่า เราออกแบบการเรียนรู้อย่างไร มีพื้นที่การเรียนรู้แบบไหนที่ตอบโจทย์”

 

กทม. มุ่งดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม

 

ทั้งนี้ กทม. ดูแลโรงเรียนกว่า 437 แห่ง จาก 600 กว่าแห่ง แต่หากดูปริมาณนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่เราจะอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และ ส่งต่อไปมัธยมศึกษาในสังกัดอื่น ดังนั้น โจทย์ของการพัฒนาการศึกษาของกทม. คือ การออกแบบหลักสูตรไม่สามารถออกแบบด้วยตัวคนเดียวได้ และต้องมองว่าเราจะต้องส่งให้ใคร โดยร่วมกับกระทรวงศึกษา เอาโรงเรียนของกทม. 58 แห่ง เข้ามามีส่วนร่วมและตั้งโจทย์ว่าจะทำให้อาชีพ การเรียนรู้ภาษา หลักสูตรสมรรถนะดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อจะส่งต่อเด็กๆ ไปยังโรงเรียน และ มหาวิทยาลัยต่อไปได้อย่างไร

 

นอกจากนี้ ศูนย์เด็กสำคัญมาก ปัจจุบัน เด็กในชุมชน พ่อแม่ลางานได้ตามกฎหมายสูงสุดแค่ 3 เดือน แต่ศูนย์เด็กเล็กรับดูแล 2 ขวบ ดังนั้น เด็กที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่รู้จะเอาลูกไว้ที่ไหน และไม่มีคนดูแล เป็นโจทย์ที่กทม. พยายามจะผลักดันให้โรงเรียนกทม. รับเด็กให้เร็วขึ้นที่ 3 ขวบได้หรือไม่ เอาเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น ขณะที่ศูนย์เด็กที่รับตั้งแต่ 2 ขวบ สามารถรับเด็กอายุน้อยลงได้หรือไม่ หากดูแลเด็กปฐมวัยไม่ดี อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ช้า และผลิตบุคลากรที่ไม่ตอบโจทย์

 

สุดท้าย การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน กทม. มีโครงการ อาสาสมัครเทคโนโลยี หรือ อสท. เป็นกลไกในการเรียนรู้ในชุมชน ไม่ต้องรอให้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยให้ค่าตอบแทนอาสาสมัคร เพื่อดูข้อมูลการเรียนรู้ในชุมชน รวมถึงโรงเรียนฝึกอาชีพที่พยายามผลักดัน ดังนั้น บทบาทของกทม. คือ เป็นเจ้าภาพหลัก และอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย

 

“กทม. เป็นเมืองใหญ่ ความท้าทาย คือ ต้องหาพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม กทม. หลายย่านมีคาแรคเตอร์ต่างกัน ขณะที่ กทม. มีกลไกชัดเจน ไม่ว่าจะโรงเรียน โรงเรียนฝึกอาชีพ ชุมชนที่ดูแล สามารถพูดคุยกันได้ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมชัดเจน”

 

เมืองแห่งการเรียนรู้ โอกาสสร้างทุนมนุษย์อย่างเท่าเทียม

 

ผลิพร ธัญญอนันต์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสาธารณะ และระดมความร่วมมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชน 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้หากดูเยาวชนนอกระบบและแรงงานนอกระบบทั่วประเทศมีทั้งหมด 20 ล้านคน เป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ส่งผลให้มีทุนมนุษย์ไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง เป็นเหตุผลแรกที่สำคัญ จากการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไม่ว่าจะใส่เงินให้เด็กเท่าไร เด็กไม่สามารถพ้นได้จากวิกฤติทางการศึกษา

 

ที่ผ่านมา มีการทำ โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนวิกฤติทางการศึกษา เป็นโครงการเชิงวิจัยโดยช่วยเหลือเด็ก 1,000 คน พบว่ามีเพียง 32% เท่านั้นที่พ้นวิกฤติ การพ้นวิกฤติเนื่องจาก ทางโครงการให้เงินเด็ก 6,000 – 20,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน การพ้นวิกฤติไม่ได้เกิดจากเงินที่เข้าไปเติม แต่หมายถึงทำให้ครอบครัวลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ สามารถยืนหยัดและพัฒนาตัวเองมีอาชีพได้ เด็กจำนวนมากที่ยากจนหรือยากจนพิเศษ ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่า ตายาย ดังนั้น ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยืนหยัดมาได้และมีอาชีพ นั่นหมายถึง เมืองแห่งการเรียนรู้ คือ โอกาส เมืองที่สร้างทุกคนให้มีโอกาสอย่างเท่าเทียม

 

“เราไม่สามารถออกแบบเมือง หรือ พัฒนาประเทศโดยแยกเมืองออกเป็นส่วนๆ ได้ การที่เราสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและตลอดชีวิต น่าจะเอื้อให้ทุกคนในประเทศไทยมีโอกาส จากการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมา กศส. จึงพร้อมที่จะร่วมมือกับ บพท. และเครือข่ายอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน”

 

4 องค์ประกอบสำคัญ สร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้

 

ผลิพร กล่าวต่อไปว่า ระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ น่าจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน แต่ฐานของมัน คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนการเมือง ความหวังที่ยั่งยืนที่สุด คือ ความเข้มแข็งของท้องถิ่น โดยองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ

1.ระบบหลักประกันโอกาส การเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่ฐานข้อมูลทุนมนุษย์ระดับประเทศและระดับพื้นที่ท้องถิ่น กลไกการเชื่อมโยงเหล่านี้ ส่งต่อให้ทุกหน่วยจัดการเรียนรู้ และสวัสดิการการศึกษาเรียนรู้ที่ไม่ได้พูดถึงแค่เด็กที่อยู่ในโรงเรียนแต่หมายถึงคนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ รวมถึง ระบบแนะแนวทักษะในโลกยุคใหม่ อนาคตข้างหน้าต้องเปลี่ยนอาชีพ

2. ระบบคุ้มครองทางสังคม หมายถึงว่า เราต้อง Well-being ก่อนที่จะสามารถเข้าสู่การเรียนรู้ได้ เริ่มตั้งแต่สุขภาพกายใจ การคุ้มครองทางสังคม การปกป้องไม่ให้เด็กถูกทำร้าย ท้องอิ่ม และเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นเรื่องของการบูรณาการและท้องถิ่นจะสามารถจัดการได้รวดเร็วที่สุด

3. ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตทุกช่วงวัย พ.ร.บ. การศึกษาไปไกลมาก แม้แต่โรงเรียนก็สามารถจัดการศึกษาได้ถึง 3 รูปแบบ ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและเด็กไม่หลุดออกนอกระบบ อีกทั้งยังให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาและออกวุฒิได้เช่นกัน

4. ระบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นธรรม ทรัพยากรนอกจากงบประมาณ ยังหมายถึง คุณครูนอกระบบ ที่ไม่มีเส้นเขตแดนของโรงเรียน ทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยการกระจายอำนาจท้องถิ่น โดยประเด็นสำคัญ มากๆ คือ งบประมาณต่างๆ ที่จะสามารถจัดการได้โดยอิสรภาพ ด้วยพลังของท้องถิ่น

 

เป็นที่มาที่ว่า กศส. สนับสนุน บพท. และทุกหน่วยงานที่จะทำเรื่องนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้กับทุกคนและทุกคนคู่ควรที่จะได้สิ่งนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐต้องมีหน้าที่สนับสนุน ทั้งทรัพยากร กฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม

 

“Learning City คือ การยกระดับพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปมากกว่านี้ และทุกคนเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม คาดหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญ ขณะที่โครงการนี้สามารถรณรงค์ให้ทุกท้องถิ่นทำได้เลย เพราะทุนมนุษย์เรารอช้าไม่ได้ กศส. ในฐานะกลไกสนับสนุน เรามีกลไกทางภาษี นวัตกรรมทางการเงินที่สามารถช่วยตั้งกองทุน ขับเคลื่อน ลดหย่อนสองเท่าสำหรับผู้ที่ระดมทรัพยากร ทั้งตัวเงินและสิ่งของ อาคาร สามารถติดต่อที่ กศส. ได้”

 

TK Park พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ 300 กว่าแห่งทั่วไทย

 

สำหรับ สถาบันการเรียนรู้ TK Park ถือเป็นหน่วยงานพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ทั่วประเทศ โดยส่งต่อรูปแบบ และให้โครงสร้างพื้นฐาน คำแนะนำ การเทรนนิ่ง เพื่อให้พื้นที่อื่นดำเนินการต่อได้ ปัจจุบันขยายพื้นที่การเรียนรู้ไปกว่า 32 แห่ง ใน 25 จังหวัด และพื้นที่ย่อยมีมากกว่า 300 แห่งกระจายทั่วประเทศ เช่น ในห้องสมุดโรงเรียน ค่ายทหาร กรมราชทัณฑ์ในเรือนจำ เป็นต้น

 

กิตติรัตน์ ปิติพารนิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เผยว่า TK Park สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาด้วยตัวเอง การศึกษานอกระบบ คนที่เข้าใช้บริการ TK Park มีทุกช่วงวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ความท้าทาย คือ นโยบาย ปัจจุบันเราทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมองว่าเรื่องนี้สำคัญ ดังนั้น นโยบายที่ออกมา บางครั้งต้องเป็นนโยบายที่ครอบคลุม และเข้าใจเชิงพื้นที่

 

“Learning City เราสนับสนุนพื้นที่ในด้านของแอปพลิเคชั่น โดยมีคู่มือ วิธีการสมัคร กรณีศึกษาของเมืองต่างๆ และประเด็นที่ให้ความสำคัญ รวมถึงลงไปช่วยทำแผน เป็นเรื่องไม่ง่าย และท้าทายก็มีเยอะ ดังนั้น ฝากว่า นโยบายเป็นเรื่องสำคัญ หากข้างบนไม่ Top Down ลงมาก็เกิดยากมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายที่ชัดเจน และมีงบประมาณ อีกทั้ง มีเมืองขนาดเล็กที่อยากจะเป็น Learning City ซึ่งเชื่อว่ามีอีกหลายเมืองมีความพร้อม”

 

Learning City ตอบโจทย์ความแตกต่าง

 

ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า เมื่อพูดถึง Learning City อยากให้มองว่าความเป็นเมือง บริบทคืออะไร เวลาทำงานเป็นเครือข่ายอย่ามองในเชิงแข่งขัน ต้องมองในเชิงความร่วมมือ Learning City ต้องเกิดจากความต้องการของคนข้างใน เช่น กทม. ซึ่งแยกยากว่าใครคือคนกทม. และใครคือคนที่เข้ามาใช้พื้นที่กทม. ดังนั้น ความต้องการของคนสองกลุ่มก็ต่างกัน หรือการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของเมืองก็ต่างกัน ต้องหาจุดลงตัวและมองหาประโยชน์ของเมือง

 

“อีกเรื่องที่อยากให้เน้น คือ การมีส่วนร่วมของทุกคน หลักเกณฑ์ที่กำหนดความเป็นเมือง คือ ต้องมีความเป็นเมืองที่มีประชากรไม่น้อยกว่า 10,000 คน หรือ มากที่สุดอย่างปักกิ่ง 21 ล้านคน ดังนั้น การบริหารจัดการ Learning City ที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันมาก เวลาเป็นเมืองใหญ่บริหารจัดการยาก แต่ข้อดีของ กทม. คือ มีภาคี ขณะที่เมืองเล็กๆ ต้องจัดการอีกแบบ ในการเป็น Learning City อยากให้มองจุดความต้องการในบริบทของท่านเอง และเรียนรู้ ปรับการบริหารจัดการ พูดเป็นหลักการอาจจะดูง่าย แต่ทำจริงไม่ง่าย เพราะต้องมีกิจกรรมหลากหลายที่ตอบโจทย์แต่ละช่วงวัย”

 

ยกตัวอย่าง เม็กซิโก เขาจะมีมุมผู้สูงอายุ ที่จัดกิจกรรม ปักกิ่งก็เช่นกัน ขณะที่เด็กเล็กก็ต้องมีกิจกรรมให้เขา ดังนั้น ทิศทางของการเป็น Learning City ไม่จำเป็นต้องคล้ายคลึงกัน แต่ต้องตอบโจทย์คนในพื้นที่

 

“ตอนนี้โลกไปเร็วมาก เขาบอกว่าในปี 2050 วิธีการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มต่างๆ มีมากขึ้น สิ่งที่อยากฝาก คือ ลองคาดเดาว่า ในเมืองของท่าน ในอนาคตมีความต้องการแบบไหน ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่ต้องมองเรื่องอาชีพในอนาคต เพราะอาชีพจะทำให้เกิดความยั่งยืน หากมองออก จะทำให้เกิดแผน หรือกำหนดรูปแบบความต้องการของ Future Learning City ของท่านได้”

 

ยะลา เคลื่อนเมืองน่าอยู่

 

พงศ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนยะลาเมืองน่าอยู่ ว่า สิ่งหนึ่งของการเป็นท้องถิ่นในเรื่อง Learning City สำคัญมาก ไม่ว่าจะพัฒนาอะไรก็ตาม จะต้องเริ่มจากทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้น กระบวนการสร้างการเรียนรู้โดยยกระดับทุนมนุษย์ในพื้นที่มีความสำคัญ เราจะต้องมองในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศ เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เช่น เทศบาลมีสวนน้ำที่ให้เด็กเล่นน้ำและปกติจะมีผู้ปกครองนั่งรอ ดังนั้น จึงเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นห้องสมุดและจัดกิจกรรมให้ผู้ปกครองระหว่างรอ ในทุกพื้นที่ของท้องถิ่น เราสามารถสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

 

“ช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ กระบวนการเรียนรู้ที่เราสร้าง คือ การอยู่ร่วมกัน กระบวนการที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่วันนี้ยะลาสงบขึ้น ทิศทางของท้องถิ่นต้องผลักกระบวนการเรียนรู้เข้าไป โดยกลับมาดูที่ทุนของเรา ได้แก่ ทุนความสะอาด ทุนสิ่งแวดล้อม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุนวัฒนธรรม และสิ่งที่มองต่อคือ อะไรที่จะสร้างอาชีพ โดยทำเรื่องของวัฒนธรรมมลายู และต่อยอดสู่แฟชั่นมลายู ทำให้ยะลาเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นมลายู ภายใต้ชื่อ ปากายัน มลายู”

 

หรือแม้แต่การศึกษา เราพยายามสร้างระบบนิเวศแล้ว ก็พยายามทำให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น โดยแนะแนวเป็นรายบุคคล เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นมองในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไป คือ ในส่วนคนที่ด้อยโอกาส สิ่งเหล่านี้ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ วันนี้ เด็กที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าเรื่องของฐานะหรือเหตุการณ์ความไม่สงบ มีการดูแลเป็นพิเศษแนะแนวทั้งเด็กและผู้ปกครอง ทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้ หลุดพ้นจากความยากจน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ทำขึ้นมา

 

สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ท้องถิ่นที่พึงจะทำ และไม่ใช่ว่าต้องใช้เงินมหาศาลในการสร้างตึก เพราะทุกพื้นที่สามารถจัดกิจกรรมได้ทั้งสิ้น โดยเทศบาล ใช้พื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมมาโดยตลอด ถือเป็นการใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วยกล่อมเกลา นี่คือความเป็นท้องถิ่นที่เราพยายามสร้าง

 

ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาเด็กชุดหนึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน สร้างเป็นนวัตกร ให้เขาสร้างชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากการคิด เช่น ตัววัดความสุกของทุเรียน การทำแอปฯ ต่างๆ โดยมีห้องปฏิบัติการให้เด็ก และชวนผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพี่เลี้ยง หาคนที่เป็นนักวิชาการมาเติมเต็มเยาวชนเหล่านี้ ให้สามารถผลักดันสิ่งประดิษฐ์ของเขาไปสู่เชิงพาณิชย์

 

“ในวันนี้บทบาทท้องถิ่นมีความจำเป็นมาก ถึงแม้ยะลาเป็นเมืองเล็ก แต่ก็มีความแตกต่างกัน กระบวนการเข้าหาชุมชน ดึงเยาวชนก็มีความแตกต่างกัน ในเชิงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มีความแตกต่างที่ความเป็นท้องถิ่น เราจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ที่จะสามารถมองเห็นปัญหาและโอกาส ในการสร้างเยาวชนเหล่านี้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของเมือง” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว