"สวน สาน ธารณะ" แลนด์มาร์ค เมืองแห่งการเรียนรู้ ของกรุงเทพฯ

"สวน สาน ธารณะ" แลนด์มาร์ค เมืองแห่งการเรียนรู้ ของกรุงเทพฯ

พื้นที่รกร้างย่านกะดีจีน-คลองสานแห่งหนึ่ง จากอดีตพื้นที่ที่เคยไร้คุณค่า ใช้เวลากว่า 7 ปี ถูกพลิกโฉมกลายเป็น "สวน สาน ธารณะ" สาธารณะสีเขียวของชาวฝั่งธน ที่มีชื่อไม่ทางการที่คนในย่านกะดีจีน-คลองสาน เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น

"สวนสานธารณะ ย่านกะดีจีน-คลองสาน" เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นผลมาจากโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองในวาระครบรอบ 250 ปีของกรุงเทพฯ ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบนฐานความรู้ การสนับสนุนให้เมืองเดินได้-เดินดี การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จนผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาเชื่อมพื้นที่ภายในย่าน ทั้งสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่ถือเป็นสวนลอยฟ้าแห่งแรกของไทย ตลอดจนการปรับปรุงทางเดินริมน้ำกะดีจีน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่และการมีกิจกรรมทางกายของคนในชุมชน

สวนแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ ที่มีเป้าหมายสู่การเป็น "พื้นที่การเรียนรู้" ซึ่งเกิดจากความพยายามของกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่ม WE! PARK ปั้นเมือง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันปลุกปั้นขึ้น ซึ่งในเวทีงาน "TALK IN SOI เสวนาสาธารณะกระบวนการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน" หนึ่งในกิจกรรมของงานศิลป์ในซอย : แสง-สี-ศิลป์ จึงเป็นการระดมบทสรุป การถอดบทเรียนว่านอกจากเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวแล้ว สวนสานธารณะจะขยับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ อย่างไรก่อนจะเป็นโมเดลปั้น เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning city ของคนเมืองต่อไปในวันข้างหน้า

เปลี่ยนพื้นที่ร้าง เป็นพื้นที่เรียนรู้

"ครั้งแรกที่เข้ามาดูตื่นเต้นมาก เห็นขยะเต็มไปหมด แต่เรามองเห็นอะไรบางอย่าง" ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

ผศ.ดร.นิรมล เสริสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวต่อว่า การดำเนินงานระหว่าง UddC ร่วมกับ สสส. ทำให้เชื่อมโยงกลุ่มองค์กร ซึ่งเป็นอีกทรัพยากรในย่านเพื่อมาทำงานร่วมกัน จนเป็นผลจับต้องได้ในวันนี้ ซึ่งกำลังจะขับเคลื่อนเป้าหมายต่อในการพัฒนาให้สวนสานสาธารณะเป็น เมืองแห่งการเรียนรู้ต้นแบบ

ผศ.ดร.นิรมล ให้คำนิยามเมืองแห่งการเรียนรู้ว่าเป็นเมืองที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในย่าน สามารถเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ภายใน 500 เมตร ทรัพยากรพร้อม คนก็พร้อม

"เมืองแห่งการเรียนรู้ คือเมืองที่คนอยากรู้อะไร เมืองนั้นก็มีศักยภาพที่จะให้คนไปหาความรู้เองได้ โดยหากเรามองว่า ย่านคือเมืองย่อยๆ มันมีกายภาพที่มีลักษณะโดดเด่นของตนเอง มีระบบสังคม วัฒนธรรม การเมืองที่ไม่เหมือนกัน เป็นเมืองในเมืองมีความพยายามขับเคลื่อน ทำอย่างไรเชื่อมโยงเอาพื้นที่เรียนรู้ มรดกไว้ด้วยกันได้ด้วยการเดิน ในย่านนี้จึงมีโครงการสถานีเรือเพื่อทุกคน มันย้อนกลับมาทางน้ำ ช่วยเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่เข้ากันได้"

ทั้งเสริมมุมมองว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมที่สุดแล้วในเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ เพราะมีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากกว่าเมืองอื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะย่านคลองสาน จากข้อมูลในพื้นที่พบว่าเอื้อต่อการสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้เป็นอันดับสองของ กทม. เพราะมีทั้งโรงเรียน ลานกีฬา ที่เรียนพิเศษ มรดกวัฒนธรรมต่างๆ เป็นต้น รวมแล้วมากกว่า 232 แห่ง

"เรามองว่าที่อื่นอาจไม่มีคนพร้อมขนาดย่านนี้"

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม We! Park หนึ่งภาคีที่มาร่วมปั้นเมืองแห่งการเรียนรู้ กล่าวว่า สวนสานธารณะ นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบนที่ดินของเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนโดยรอบ ทั้งในมิติของการเกิดพื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคม การสนับสนุนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี และได้กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมที่ชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีต่อไป

"จริงๆ ไม่ได้มีกรอบว่า พื้นที่ร้างเป็นแค่สวนอย่างเดียว แต่เป็นอะไรก็ได้ ฉะนั้น ควรมีการทลายกรอบหลักคิดและระเบียบ เป็นความท้าทายว่าเราจะจัดการอย่างไรให้ยั่งยืน เพราะมีหลายครั้งที่มากจัดเป็นสวนแล้วไม่มีคนดูแลรักษาต่อ และทำอย่างไรการขึ้นรูปพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ที่มาจากการมีส่วนร่วมและใช้องค์ความรู้ในหลากหลายแขนง หลายศาสตร์มาก จะสามารถไปใช้กับพื้นที่ร้างอย่างอื่นได้ และยังเปลี่ยนวิธีการทำงานร่วมกับภาครัฐ เราอยากเห็นการต่อยอดจะเปลี่ยนวิธีการทำงานทำสวนสิบห้านาทีให้ยั่งยืน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงใจชุมชนมากขึ้น"

ต่อยอดสู่พื้นที่เรียนรู้ยั่งยืน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า พื้นที่สวนสานสาธารณะจึงเป็นหนึ่งในการเข้าไปจัดสภาพแวดล้อมให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง สสส. ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมในวิถีชีวิตประจำวัน ผ่านการส่งเสริมให้ผู้คนมีความรอบรู้ทางสุขภาพ ส่งเสริมค่านิยมและการสร้างบรรยากาศของความกระฉับกระเฉงให้สังคม รวมไปถึงสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

"แนวคิดที่ได้จากพื้นที่คือ 1) พื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อสุขภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 2) นโยบายสนับสนุนเอื้อให้เกิด และเป็นโมเดลขยายสู่พื้นที่อื่น 3) การสร้างการมีส่วนร่วมหรือเสียงจากประชาชน"

ปาจริยา มหากาญจนะ เปิดเผยว่า เขตคลองสานเป็นตัวอย่างที่ดีมากได้รับความร่วมมือทุกฝ่าย ในเวทีมีการแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาบนฐานความรู้จากบทบาทที่แตกต่างกัน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและวิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคชุมชน มุ่งเชื่อมการเรียนรู้สู่การขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม

"งานนี้ต้องขอบคุณวีพาร์คในการเปิดมุมมองให้กับราชการ ในการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลาย ทำให้เราได้รับทราบความต้องการแท้จริงของประชาชนหรือคนในชุมชนแทนที่จะออกแบบตามหลักวิชาการภูมิสถาปัตย์อย่างเดียว การที่ชุมชนมีส่วนร่วมทำให้เขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืน แผนในเฟสต่อไป เราพยายามคิดค้นหา ขอความร่วมมือจากเขตว่าจะหาวิธีอย่างไรต่อไป เพื่อความยั่งยืน การดูแลรักษา และการสร้างความผูกพันในพื้นที่เราจะสร้างยังไง"

บทเรียนจากพื้นที่ สู่หลักสูตรพัฒนาเมืองโดยพื้นที่

ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โปรแกรมวิจัย 15 เห็นด้วยว่าการพัฒนาควรมีรูปแบบเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ โดยเทศบาลใหญ่กระจายมอบอำนาจการตัดสินใจ และทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม ให้ชุมชนเล็กเป็นผู้ดูแล

"การเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวังคือ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์คนพื้นที่ แทนที่จะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาเป็นทำงานร่วมกัน วันนี้จากบทเรียนที่ผ่านมา เรามีหลักสูตรที่เกิดขึ้นเป็นองค์ความรู้ที่ชุมชนหรือท้องถิ่นพื้นที่อื่นสามารถนำไปต่อยอดได้มากมาย อาทิ หลักสูตรการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม การจัดการพื้นที่สาธารณะ การเรียนรู้จากฐานปฏิบัติ หากได้รับการสานต่อโดยชุมชนเอง โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นตัวหนุนเสริม ถ้ากลไกชุมชนเหนียวแน่น เข้มแข็ง กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เศรษฐกิจขับเคลื่อนบนพื้นที่จะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าเมื่อมีโมเดลที่ดี การทำในพื้นที่อื่น กระบวนการไม่ต่างกัน แต่โจทย์ที่มองต่อคือเรียนรู้ แล้วจะอิ่มท้องต่อยังไง" ศุภวัฒนากร เอ่ย

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเห็นด้วยว่า การจะทำให้ชุมชนหรือเส้นเลือดฝอยแข็งแรงจำเป็นต้องอาศัย จำเป็นมากต้องทำเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่ง กทม. มีแนวคิดเรื่อง Push and Pull คือการเปลี่ยนจากการที่รัฐมีหน้าที่ผลักดัน (Push) เป็นผู้ดึง (Pull) ประชาชนขึ้นมา ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วย นั่นคือการทำ Cloud Sourcing ดึงข้อร้องเรียน ความคิดเห็น ความต้องการประชาชนขึ้นมาเพื่อให้เป็นโจทย์ของรัฐในการนำไปทำงานแก้ปัญหาในพื้นที่

"ไม่เฉพาะข้อร้องเรียนอย่างเดียวแต่เป็นสังคมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ทุกอย่างควรจะถูกดึงขึ้นมา การจะเป็นชุมชนที่ดีได้เค้าต้องมีความเข้มแข็งบ้านจะต้องดีก่อน ไม่งั้นก่อนที่จะพูดเรื่องอื่น ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปพบปัญหามากมายของเส้นเลือดฝอย พบว่ามิติของการต่อยอด พื้นที่การเรียนรู้ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของถนนคนเดิน สร้างเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัญหาของแต่ละชุมชนที่เกิดขึ้นการเข้าไปแก้ไขปัญหาระดับชุมชน"

\"สวน สาน ธารณะ\" แลนด์มาร์ค เมืองแห่งการเรียนรู้ ของกรุงเทพฯ \"สวน สาน ธารณะ\" แลนด์มาร์ค เมืองแห่งการเรียนรู้ ของกรุงเทพฯ