จับตาเส้นทางพายุไต้ฝุ่น เซาลา ล่าสุด (31 ส.ค.66) ดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น เซาลา (SAOLA) เช้าวันนี้ (31 ส.ค.2566) เส้นทางพายุล่าสุด ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง แต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น เซาลา (SAOLA) เช้าวันนี้ (31 ส.ค.2566) เส้นทางพายุล่าสุด กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก (ทางตอนใต้เกาะไต้หวัน) คาดว่าจะเคลื่อนฝั่งประเทศจีน ในเช้าตรู่ของวันที่ 2 ก.ย.2566
โดย พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง แต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป
31 ส.ค. - 5 ก.ย.2566
บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกระจายหลายพื้นที่ เนื่องจากร่องมรสุมจะแรงขึ้นและเลื่อนลงมา พาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมที่พัดปกคลุมจะมีกำลังแรงขึ้นด้วย
จึงทำให้มีฝนกระจายเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เตรียมรับมือฝนหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้บริเวณใกล้แนวร่องมรสุมพาดผ่าน (ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ฝั่งอันดามันด้านรับมรสุม) ต้องติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ช่วงวันที่ 6-9 ก.ย.2566
ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ฝนเริ่มน้อยลงบ้าง แต่ยังมีฝนตกต่อเนื่องเกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง กลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนและด้านรับมรสุม คลื่นลม ยังมีกำลังปานกลางถึงแรง ชาวเรือ ชาวประมงต้องระมัดระวัง น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพื้นที่ที่ยังมีฝนน้อย เป็นโอกาสที่จะมีฝนเพิ่ม เตรียมรองรับน้ำฝนและกักเก็บน้้ำไว้ใช้ แต่สภาวะฝนปีนี้ยังมีเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของปีที่มีปรากฏการณ์"เอลนีโญ"ขนาดแรงในขณะนี้
และในขณะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีพายุเกิดขึ้น 3 ลูก แต่ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เพียงแต่จะช่วยดึงให้มรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ฝนที่เกิดขึ้นในระยะนี้นี้ จะมาจากมรสุมและร่องมรสุมที่พาดผ่าน
cr : กรมอุตุนิยมวิทยา