อัปเดต เส้นทางพายุโคอินุ (KOINU) 30 ก.ย.66 ทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุโคอินุ (KOINU) ล่าสุดทวีความรุนแรงจากพายุดีเปรสชั่นเป็นพายุโซนร้อน
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดต เส้นทางพายุโคอินุ (KOINU) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ประจำวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ล่าสุดทวีความรุนแรงจาก พายุดีเปรสชั่น เป็น พายุโซนร้อน
สถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก พายุดีเปรสชั่นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุโซนร้อนโคอินุ แล้ว โดยมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทางตะวันตกเฉียงเหนือในระยะแรก ทิศทางไปยังเกาะไต้หวัน และเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งของประเทศจีนมาทางเกาะไหหลำ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวมาถึงประเทศเวียดนามตอนบน (โคอินุ (KOINU) หมายถึง ลูกสุนัข ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น)
พายุโคอินุ (KOINU) กับประเทศไทย
ล่าสุด ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในระยะนี้ ยังต้องติดตามเป็นระยะๆทิศทางยังเปลี่ยนแปลง
ซึ่งสถานการณ์วันนี้ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือ ยังมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคอื่นๆฝนน้อยลงบ้าง แต่ยังมีฝนเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสสุม คลื่นลมบริเวณอันดามันมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง แต่อ่าวไทยมีกำลังอ่อนลงบ้าง และยังต้องติดตามพายุโซร้อนโคอินุในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเป็นระยะๆ อย่าเพึ่งตื่นตระหนกกับข่าวลือ และพายุนี้ยังเปลี่ยนแปลงทิศทางเมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค.2566
ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค.2566 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณเข้าสู่อ่าวไทยตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค.2566 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก (30 ก.ย.2566)
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา