เทียบสิทธิที่ได้-สิทธิที่ต้องการ คนมีลูก ยังสวนทาง

เทียบสิทธิที่ได้-สิทธิที่ต้องการ คนมีลูก ยังสวนทาง

ส่องสิทธิปัจจุบันที่รัฐจัดให้เฉพาะคนมีลูกเท่านั้น แต่อาจยังไม่เพียงพอ-ไม่ตอบโจทย์ เมื่อผลสำรวจล่าสุดเกิน 50 % อยากมีลูก แต่ติดอยู่ที่ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก

Keypoints:

  •  จำนวนเด็กเกิดใหม่ของคนไทยลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คน ในปี 2566
  •     ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินร้อยละ 50 อยากมีลูก แต่สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากมีลูกมากที่สุด คือ ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน
  •   มาตรการที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนเพื่อให้คนมีลูก และสิทธิในปัจจุบันที่คนมีลูกได้รับ รวมถึง แนวทางแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยของประเทศไทย

     เป็นที่ทราบดีว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติประชากร อัตราเกิดใหม่ต่ำกว่าอัตราตาย  สุ่มเสี่ยงกระทบทุกมิติ สังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อ GDP และความมั่นคงของประเทศในภาพรวม  แม้ที่ผ่านมา มีความพยายามออกแนวทางต่างๆมากมายเพื่อส่งเสริมให้คนมีลูกมาขึ้น แต่ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ 
เทียบสิทธิที่ได้-สิทธิที่ต้องการ คนมีลูก ยังสวนทาง

เด็กเกิดใหม่ต่ำลงต่อเนื่อง 

      ในปี 2566 ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คน ในปี 2566

          ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และในปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 30 ทำให้ในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน อายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้

          ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า”  ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการมีลูกในปัจจุบัน
อยากมีลูกแต่ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย
      ผลการสำรวจที่น่าสนใจ เมื่อสอบถามผู้ที่ยังไม่มีลูก (จำนวน 759 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.89  อยากมี รองลงมา ร้อยละ 44.00 ไม่อยากมี และร้อยละ 2.11 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

     เมื่อสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูก (จำนวน 334 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.32 ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 37.72 ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก ร้อยละ 33.23 ต้องการชีวิตอิสระ

       ร้อยละ 17.66 กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ร้อยละ 13.77 อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ร้อยละ 5.39 สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี ร้อยละ 2.10 กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย และร้อยละ 0.90 กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

มาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนมีลูก

        เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 65.19 สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก รองลงมา ร้อยละ 63.66 รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี ร้อยละ 30.00 ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ร้อยละ 29.47 เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก ร้อยละ 21.91 มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด
            ร้อยละ 19.92 อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 17.18 พัฒนาและอุดหนุนการเงิน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ร้อยละ 9.85 มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก ร้อยละ 7.48 เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก ร้อยละ 5.50 รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น ร้อยละ 4.89 รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย ร้อยละ 2.75 รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ และร้อยละ 0.76 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 
  สิทธิที่คนมีลูกได้รับในปัจจุบัน 
     เมื่อรู้ถึงมาตรการที่คนไทยต้องการให้รัฐสนับสนุนเพื่อให้คนมีลูกแล้ว มาลองดูว่าปัจจุบันคนที่มีลูกได้รับสิทธิอะไรอยู่แล้ว

  •        ผู้ประกันตน ม.33 และ 39 และ 40 (ทางเลือกที่ 3) ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม (แรกเกิด - 6 ปี) เดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนครั้งละไม่เกิน 3 คน  และ 200 บาท (สำหรับมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3)  อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน
  •       ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจ-ฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรจากการมีลูกได้ ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ ในอัตราเหมาจ่าย 5 ครั้ง รวม 1,500 บาท  ค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน แต่หากมีบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธินี้
  • ข้าราชการมีสิทธิลาคลอดบุตรได้ 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนและมีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
  • ลูกจ้างประจำ มีสิทธิลาได้ 90 วันและมีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องโดยรับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำการและรวมอยู่ในวันลากิจส่วนตัว 45 วันทำการ
  • พนักงานราชการ มีสิทธิลาได้ 90 วัน ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลาคลอดบุตรจากส่วนราชการ 45 วันทำการและอีก 45 วัน ได้รับจากประกันสังคม 
    เทียบสิทธิที่ได้-สิทธิที่ต้องการ คนมีลูก ยังสวนทาง
  • เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจากรัฐ(แรกเกิด-6ปี)ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี โดยจะช่วยเหลือเป็นเงินให้กับผู้ปกครองจำนวน 600 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี 
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบเงินสงเคราะห์ให้กับ ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและเดือดร้อนด้านการเงินจนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท/คน/เดือน หากมีลูก 2 คนขึ้นไปหรือมีสิทธิได้เงินสูงสุด 3,000 บาท/เดือน
  • สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่หากเป็นลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 61 หรือหลังจากนี้ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 60,000 บาท และค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท

   แนวทางแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย 

        ในการขับเคลื่อนแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยในประเทศไทย  กรมอนามัยได้ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มาอย่างต่อเนื่อง

       อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี การเพิ่มสิทธิการลาในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ มาตรการ work from home การยืดหยุ่นเวลางาน การลาคลอดได้ 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง สิทธิการรักษาและสิทธิการลาเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก การใช้ AI เข้ามาทดแทนการใช้มนุษย์ในสาขาที่มีความขาดแคลน การเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้น การส่งเสริมการออมสำหรับการเกษียณ และการส่งเสริมการสร้างอาชีพรอง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน กิจกรรมส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร

     แม้กระทั่งมีข้อเสนอเรื่อง การให้ความสำคัญกับทุกการเกิดในประเทศ หรือการนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รับมือกับปัญหาได้เร็วกว่า

      และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้กำหนดให้การผลักดันให้เรื่อง”ส่งเสริมการมีบุตร” บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ เป็น 1 ในQuick Win ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่จะต้องกำหนดได้เสร็จภายใน 100 วัน