อัปเดตเส้นทาง พายุไต้ฝุ่นโคอินุ เย็นวันนี้ (3 ต.ค.66) คาดจะอ่อนกำลังลงอีก
อัปเดตเส้นทาง พายุไต้ฝุ่นโคอินุ เย็นวันนี้ (3 ต.ค.66) มุ่งไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน และจะเคลื่อนตัวต่อไปยังด้านตะวันออกของประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง คาดจะอ่อนกำลังลงอีก
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก เย็นวันนี้ (3 ต.ค.66) พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ (KOINU)" กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ มุ่งไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน
ช่วงวันที่ 4-5 ต.ค.66 และจะเคลื่อนตัวต่อไปยังด้านตะวันออกของประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก จะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากมีมวลกาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ทำให้พายุอ่อนกำลังลงในช่วงดังกล่าว
ส่วนฝนที่จะเกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมที่ยังพาดผ่านประเทศไทย หย่อมความกดอากาศต่ำ และลมที่พัดเข้าหาพายุ ยังต้องติดตามเป็นระยะ ไม่น่ากังวล
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์พายุ และคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 10 วันข้างหน้านี้ (3 - 9 ต.ค.66 ) เพิ่มเติมดังนี้
ภาพจากแบบจำลองบรรยากาศ พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ" มีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกในขณะนี้ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ (ตราบใดที่ยังอยู่ในทะเลยังมีพลังงานและมีความชื้นเข้าไปหล่อเลี้ยง) คาดว่าจะเคลื่อนผ่านทางใต้ของเกาะไต้หวัน ช่วงวันที่ 4-5 ต.ค.66 นี้ และเคลื่อนตัวทางตะวันตก ไปยังชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีน แต่เมื่อมาปะทะกับมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาสูง (สีส้มๆ) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในช่วงนี้
พายุนี้จะเริ่มอ่อนกำลังลง ตามลำดับ และจะสลายตัวในที่สุด แต่อาจจะเหลือไว้เพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น ซึ่งพายุจะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย ขออย่าได้กังวล แต่ที่จะต้องให้ความสำคัญคือแนวร่องมรสุม(ที่พาดผ่าน (ถูกมวลอากาศเย็นเบียดลงมา) ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ปกคลุมในขณะนี้ แม้จะไม่แรงนัก แต่ก็จะทำให้ยังมีฝนในประเทศไทย
ช่วง 3 -5 ต.ค.66 มีฝนบตกหนัก ริเวณภาคกลางตอนล่าง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคอีสานตอนล่าง ส่วนฝนตกหนักถึงหนักมาก เกิดขึ้นบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน (เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร ระนอง พังงา) ต้องเฝ้าระวัง
หลังจากนั้น 6 - 10 ต.ค. ร่องมรสุมจะเริ่มสวิงกลับขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางอีกครั้ง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นได้อีกช่วง เป็นผลดีกับพื้นที่ที่ยังขาดแคลนน้ำ แต่อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในขณะนี้ได้ แต่ยังต้องติดตามและเฝ้าระวัง (ฝนที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของพายุ)