จิตแพทย์จี้แก้ด่วน ‘ปัญหาอาวุธปืน’ ต้องสะสางกฎหมายควบคุม

จิตแพทย์จี้แก้ด่วน ‘ปัญหาอาวุธปืน’ ต้องสะสางกฎหมายควบคุม

จิตแพทย์จี้แก้ด่วน ‘ปัญหาอาวุธปืน’ ก่อนซ้ำรอยอเมริกา ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธปืนได้  เสนอ 3 ประเด็นหลัก ต้องสะสางอย่างจริงจัง  พ.ร.บ.อาวุธปืนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หลังพบมีการถือครอง 12 ล้านกระบอก  

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุความรุนแรงที่ห้างพารากอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3  นับจากเหตุกราดยิงที่ นครราชสีมา และ ยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งหากมองย้อนไปจะพบว่า มักมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แทบทุกปี    แม้จะต่างกรรมต่างวาระ  แต่ก็เป็นสัญญานว่าจะต้องแก้ไขเชิงระบบเพื่อป้องกัน  มากกว่ามามุ่งไปกับแต่ละเหตุการณ์  โดยปัญหาอาวุธปืน ควรเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธปืนได้ 
ชง 3 ข้อแก้ปัญหาอาวุธปืน

        แนวการแก้ไข คือ 1.พ.ร.บ.อาวุธปืนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องสะสางอย่างจริงจัง  เนื่องจากมีมานานแล้ว โดยมี รัฐบาลและรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไข ไม่ใช่เน้น การตรวจนับถือครองที่พบว่ามีถึง 12 ล้านกระบอก โดย  พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีมานาน ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

2. บริการสุขภาพจิตที่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้น ซึ่งมักนำไปสู่ความรุนแรง  ควรต้องมีงบประมาณและแผนงานสนับสนุนให้เกิดบริการและกำลังคนอย่างจริงจัง

      3. หน่วยงานที่มีผู้ถืออาวุธ ก็ต้องจัดการเชิงระบบในการดูแลบุคคลากร  ไม่ใช่แค่เข้มงวดการอนุมัติการครอบครองอาวุธปืนใหม่  ซึ่งแก้ไขอะไรได้ไม่มาก

        นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า นิยามของพฤติกรรมเลียนแบบ จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน  ซึ่งการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนมีผลกับการเลียนแบบ และการจดจำ ทำให้คนที่มีพฤติกรรม หรือ มีความสุ่มเสี่ยงทางจิต อาจก่อเหตุในลักษณะนี้ได้ และสังคมควรลดลงและยุติความเกลียดชังกับครอบครัวผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ย ประวัติครอบครัว เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นเหยื่อในระบบของสังคมนี้ และยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ไทยพลเรือนครอบครองปืนสูง

      ขณะที่ มีข้อมูลจาก องค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา (เอสเอเอส)  ระบุว่า  ในระดับสากล ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50 ในแง่ของการครอบครองปืนของพลเรือนต่อหัว มีสัดส่วนปืน 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน เมื่อเทียบกับสหรัฐ ที่มีสัดส่วนของพลเรือนที่ครอบครองปืน 120 กระบอกต่อประชากร 100 คน

      ส่วนในระดับภูมิภาคอาเซียน ปืนที่พลเรือนในไทยถือครองและจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย มีจำนวนกว่า 10.3 ล้านกระบอก หรือเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากรทุก 100 คน แต่มีปืนเถื่อนอีก 6.2 ล้านกระบอก ซึ่งถือว่าการครอบครองอาวุธปืนถูกกฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

        และสถาบันเพื่อการวัดและประเมินสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) หรือไอเอชเอ็มอี มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานผลวิจัยเรื่องภาระโรคของโลก (global burden of disease) เมื่อปี 2562 ว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน โดยเป็นรองจากฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน