ฝนตกหนักน้ำท่วม สถานการณ์อุทกภัย ล่าสุด 8 จังหวัด กระทบ 16,870 ครัวเรือน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ ฝนตกหนักน้ำท่วม อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ขณะที่พื้นที่จังหวัดเชียงรายจากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำจันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์ ฝนตกหนักน้ำท่วม อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และสมุทรปราการ
ขณะที่พื้นที่จังหวัดเชียงรายจากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำจันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีระดับน้ำในแม่น้ำสูงสุด (สถานีสะพานบ้านป่าตึง) อยู่ที่ 3.50 เมตร ณ เวลา 05.57 น. และน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ต.ป่าตึง และ ต.แม่จัน ตั้งแต่บริเวณถนนแม่จัน-ฝาง ถึงบริเวณตลาดนวลจันทร์ ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 25 เซนติเมตร ขณะนี้ น้ำได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สถานีสะพานบ้านป่าตึง วัดระดับได้ที่ 2.94 เมตร ณ เวลา 7.22 น. ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกอีก คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันนี้
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าฯเชียงราย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย ได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านโดยเฉพาะขนย้ายข้าวของไปไว้บนพื้นที่สูงและสำรวจความเสียหายทั้งหมด ขณะนี้น้ำได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องแะหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันเดียวกันต่อไป
ด้านนายทัต วังเมือง ปลัด อบต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า น้ำเข้าเอ่อล้นเข้าท่วมในช่วงเวลากลางคืนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแต่ก็เข้าท่วมและลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ทรัพย์สินชาวบ้านไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนเส้นทางในบางหมู่บ้านมีดินโคลนก็ใช้รถแทรกเตอร์เข้าขุดตักออก นอกจากนี้ยังมีสะพานเหล็กกว้าง 2 เมตร ของ อบต.ป่าตึง ซึ่งใช้ข้ามแม่น้ำจันพื้นที่หมู่บ้านห้วยยาโนถูกน้ำได้พักขาดซึ่งจะได้รอให้น้ำแห้งและเข้าซ่อมแซมต่อไป
ปภ. รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมใน 30 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 110 อำเภอ 414 ตำบล 2,112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,554 ครัวเรือน โดยปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และสมุทรปราการ ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงในทุกจังหวัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ช่วงระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 9 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี กาญจนบุรี ลพบุรี นครนายก สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ตราด สตูล และยะลา รวมจำนวน 110 อำเภอ 414 ตำบล 2,112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,554 ครัวเรือน
ปภ.รายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และสมุทรปราการ รวมจำนวน 23 อำเภอ 65 ตำบล 575 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 16,870 ครัวเรือน รายละเอียด ดังนี้
1.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ วังทอง เนินมะปราง และนครไทย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 347 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2.อุตรดิตถ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุตรดิตถ์ และน้ำปาด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ไม่มีประชาชนได้รับผลกระทบ ระดับน้ำลดลง
3.สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ศรีสำโรง และคีรีมาศ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 22 ตำบล 144 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,860 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
4.ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านแฮด กระทบ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 180 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5.เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เชียงคาน และท่าลี่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6.กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 55 ตำบล 362 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,917 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
7.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล 37 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,338 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
8.สมุทรปราการ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางบ่อ ผลกระทบ 1 ตำบล 8 หมู่บ้าน ไม่มีประชาชนได้รับผลกระทบ ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมน้ำท่วม สถานการณ์ระดับน้ำลดลงในทุกจังหวัด สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ