เปิดกฎหมาย เมื่อ'เด็กเยาวชน' ทำผิด ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องรับโทษ
เด็กเยาวชนกระทำความผิด ควรได้รับโทษเท่าผู้ใหญ่ เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อเหตุการณ์ที่สยามพารากอน นักวิชาการกฎหมายฉายภาพกระบวนการยุติธรรมและมาตรการลงโทษกรณีเด็กทำความผิด ไม่ได้แปลว่าไม่ดำเนินการใดๆ ขณะที่นักจิตวิทยาแนะแนวทางร่วมกัน “หยุดความรุนแรง”
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 20 เรื่อง “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน” โดยณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตามกฎหมายเด็กคือผู้ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีและเยาวชนคือผู้ที่มีอายุเกิน 15 ปี -18 ปี ซึ่งในส่วนของการกระทำความผิดทางอาญา บุคคลที่ได้กระทำความผิดต้องมีการรับผิดทางอาญา
โดยในประมวลกฎหมายอาญา ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้เยาว์ ก็จะมีลักษณะเฉพาะเป็นผู้อ่อนอายุและมีวุฒิภาวะที่น้อย มีข้อจำกัดในการคิดวิจารณญาณ ประมวลกฎหมายอาญามีการกำหนดเป็นเหตุยกเว้นโทษและลดหย่อนโทษตามช่วงอายุ เป็นหลักการสากลทั่วโลก
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็ก
“การที่กระบวนการของเด็กเยาวชนต้องแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะมีเป้าประสงค์มาจากฐานความคิดที่ว่า เด็กเป็นทรัพยากรมีค่าที่สุดของมนุษยชาติ เด็กมีปัจจัยพึ่งพิงครอบครัว และหลายด้านของสังคม และมีกระบวนการตัดสินใจมีปัจจัยหลายอย่างในการทำความผิด รวมถึง กระบวนการคิด วิจารณญาณไม่รอบคอบไม่สมบูรณ์ กระบวนการยุตธรรมจึงต้องแยกจากผู้ใหญ่เพื่อเยียวยา ฟื้นฟูพฤตินิสัย เป็นการดึงให้เด็กที่กระทำความผิดได้รับการคุ้มครอง จากครอบครัวและสังคม ส่วนกระบวนการลงโทษก็จะใช้กระบวนการเฉพาะที่เหมาะสมกับสภากของเด็ก เพื่อที่จะแก้ไข ฟื้นฟู ร่างกาย จิตใจ จิตสังคม ให้กลับเป็นคนดีคืนสู่สังคมและไม่กระทำความผิดซ้ำอีก”ณัฏฐพรกล่าว
สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน มีหลักการแนวคิด คือ ไม่ควบคุมโดยไม่จำเป็น ระยะเวลาจึงจะสั้นมาก เพื่อให้เด็กไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนาน โดยเมื่อมีการจับกุม ภายใน 24 ชั่วโมง ในการสอบถามเบื้องต้นเด็กที่กระทำความผิดและต้องแจ้งการจับกุมต่อผู้อำนวยการสถานพินิจ เมื่อครบ 24 ชั่วโมง ผอ.สถานพินิจฯก็จะนำเด็กไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อตรวจสอบการจับ จากนั้นจะมีระยะเวลา 30 วันในการควบคุมตัว
ซึ่งช่วงนี้ ศาลอาจกำหนดมาตรการที่เหมาะสม อาจจะให้เข้ารับการบำบัดรักษา รับคำปรึกษา หรือทำกิจกรรมบำบัด และถ้าการดำเนินการสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จอาจผัดฟ้อง และภายใน 30-60 วัน จะมีการฟ้องคดี ซึ่งจะมีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในช่วงควบคุมตัวก่อนที่จะมีการฟ้องคดีว่า ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษขั้นสูงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ถือว่าเป็นคดีที่ไม่ร้ายแรงมาก ไม่มีความอุกฉกรรจ์มาก ศาลสามารถใช้มาตรการพิเศษได้ เช่น ทำแผนบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมว่าเด็กทำตามเงื่อนไขได้หรือไม่ เด็กรู้สำนึกผิดหรือไม่
ในชั้นหลังฟ้อง การยื่นฟ้องจะมีการสืบพยาน นำพยานหลักฐานเข้าสู่ศาล และศาลสามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานพินิจ ทำการสืบหาประวัติรอบด้านสำหรับเด็ก 360 องศา ทั้งการศึกษา สภาพครอบครัว สังคม นิสัย เพื่อประกอบการพิจารณาให้ศาลเข้าใจที่มาที่ไป เข้าใจมูลเหตุแรงจูงใจ ซึ่งในชั้นพิจารณาอาจจะมีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ในกรณีเป็นคดีที่มีอัตราโทษขั้นสูงไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น หรือศาลเห็นว่าควรมีมาตรการอื่น แทนคำพิพากาษลงโทษเด็กแทนได้เป็นดุลพินิจของศาลและตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด
คำพิพากษา 4 ประการ
และถ้าไม่สามารถเข้ามาตรการพิเศษดังกล่าวได้ ศาลก็จะมีคำพิพากษา แบ่งเป็น 4 ประการ ได้แก่ ยกฟ้อง/ปล่อยตัวในกรณีที่ศาลเห็นว่าเด็กเยาวชนไม่ได้กระทำความผิด ,กรณีที่ความผิดก็จะส่งฝึกอบรม ฟื้นฟูพฤตินิสัย ซึ่งมีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพ คล้ายลักษณะการจำคุกแต่จะไม่เรียกจำคุกเพราะไม่นำโทษผู้ใหญ่มาใช้สำหรับเด็ก ,รอกำหนดโทษ และวิธีการสำหรับเด็กอายุเกิน 12 ปีไม่เกิน 15 ปี ก็จะมีมาตรการสำหรับเด็ก ได้แก่ 1.ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก บิดา มารดาหรือผู้ปกครองเด็ก
2.การมอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดา ผู้ปกครอง,มาตรการในการป้องกันไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ไม่เกิน 3 ปี ,กำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น และ3.มอบตัวเด็กไปโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรมหรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
เงื่อนไขเด็กต้องสำนึกผิด
“เงื่อนไขมาตรการพิเศษที่จะดึงเด็กออกจากกระบวนการยุติธรรทางอาญา ทางชั้นศาลให้ได้มากที่สุด กำหนดเงื่อนไขที่สำคัญคือ เด็กต้องสำนึกผิด ต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำคืออะไร ส่งผลร้ายต่อผู้อื่นแค่ไหน และต้องเป็นอัตราโทษขั้นสูงที่ไม่เกิน 20ปี ดังนั้น ถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์อัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ไม่สามารถใช้มาตรการพิเศษได้ ก็จะนำไปสู่การมีคำพิพากษา ตามวิธีการเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้ และถ้ามีปัญหาสุขภาพจิตจะต้องเข้ารับการรักษาให้หายก่อนนำเข้าสู่กระบวนการ”ณัฏฐพรกล่าว
ไม่เปิดเผยข้อมูล-ไม่ให้แสง
ณัฏฐพร กล่าวด้วยว่า ในเชิงกฎหมาย การดำเนินคดีเด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญคือกระบวนการทุกอย่างต้องเป็นความลับ ไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลเด็กและครอบครัว เพราะการจะทำให้เด็กกลับเป็นคนดีได้ ต้องไม่ไปตีตราว่าเป็นจำเลย เป็นอาชญากรติดตัว และครอบครัวจะเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กไปต่อได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเปิดเผยข้อมูลเด็กทั้งหมด โลกของเด็กก็จะแตกสลายและไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้ จึงต้องไม่ตีตรา รักษาความลับ ห้ามบันทึกภาพและเสียง ห้ามแพร่ภาพ ข้อมูลเพื่อไม่ให้รู้ว่าเด็กเยาวชนนั้นคือใคร ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในห้องพิจารณาคดี ห้ามเผยแพร่คำพิพากษาต่างๆที่ออกมา เพื่อเก็บข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ
“ผลที่จะเกิดขึ้นหากไม่ตีตรา คือ เด็กกลับเป็นคนดีได้ โดยไม่ถูกสลักหน้าผากเป็นอาชญากร และไม่ให้แสงในการทำความผิดแล้วจะได้รับการจับตามอง เพราะฉะนั้น การปิดข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ ไม่ให้การกระทำความผิดของเขาได้รับความสนใจจากสังคม”ณัฏฐพรกล่าว
เด็กควรรับโทษเท่าผู้ใหญ่หรือไม่
ข้อถกเถียงของสังคมเด็กเยาวชนทำผิดโทษควรเท่าผู้ใหญ่หรือไม่ ณัฏฐพร กล่าวว่า ในส่วนของเด็กและเยาวชน โดยในเด็กวัยปฐม อายุไม่เกิน 12 ปี ลักษณะการคิดตัดสินใจยังมีข้อจำกัด อาจจะยังไม่รู้ความด้วยว่าสิ่งที่ทำคืออะไร สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นแค่ไหน และอาจไม่รู้ด้วยว่าสิ่งที่ทำเป็นการกระทำความผิด จะรู้ก็ต่อเมื่อมีพ่อแม่ หรือครูมาบอก ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ส่วนเด็กอายุ 12-15 ปี เป็นวัยมัธยมต้น วัยรุ่นตอนต้น พัฒนาการสมองส่วนของการคิดตัดสินใจ กระบวนการคิด วิเคราะห์ คิดอย่างรอบคอบ มีวุฒิภาวะยังไม่สมบูรณ์ แต่สมองส่วนอารมณ์มีผลมากที่จะกระทำเลือดร้อน การตัดสินใจด้วยความวู่วาม ซึ่งกฎหมายออกแบบ 2 กลุ่มนี้มีความเข้มข้นต่างกัน
ต้องไม่เสริมแรงจูงใจ
ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า ไม่ควรมีการเผยแพร่ชื่อ ภาพ มูลเหตุจูงใจ เรื่องราวส่วนตัว ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นเด็ก แต่อาจเป็นตัวกระตุ้น เพราะเราไม่รู้ว่ามูลเหตุจูงใจมาจากอะไร ซึ่งบางคนการที่ได้รับความสนใจ การเปลี่ยนจากฉันเป็นใครสักคนที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นคนที่สังคมโฟกัส บางทีส่งผลต่อแรงจูงใจของบางคนโดยไม่รู้ตัว เราไม่รู้ว่าใครที่ต้องการภาพนี้บ้าง และจากสถิติจริง การ Copy Cat หรือพฤติกรรมเลียนแบบมีจริง
รวมถึง ข้อความไม่ควรสื่อในเชิงเก่ง เจ๋ง เท่ พิเศษจะเป็นการเสริมแรงจูงใจทางบวก และไม่ควรสื่อข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเหตุที่เกิดขึ้นกับครั้งที่ผ่านๆมา เช่น ครั้งนี้เท่าไหร่ ครั้งก่อนเท่าไหร่ มากหรือน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้อยากทำอะไรที่มากกว่า โดยไม่ได้พิจารณาว่าส่งผลลบกับใคร
แนวทางช่วยกันหยุดความรุนแรง
ผศ.ณัฐสุดา กล่าวว่า ถ้าไม่อยากให้ความรุนแรงยกระดับ จะต้องไม่โอเคกับทุกความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงมีหลายแบบ ได้แก่ 1.ความรุนแรงทางกายภาพ เช่น เด็กผลักกัน เด็กตีกัน ครูตีเด็ก 2.ความรุนแรงทางวาจา ในโลกออนไลน์ใช้คำพูดด่าทอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นแล้วเราได้บอกหรือไม่ว่าการใช้คำเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร ได้มีการยับยั้งหรือไม่ และ3.ความรุนแรงที่กระทำต่อตัวเอง
ความรุนแรงไม่ได้อยู่ดีๆวันดีคืนดีผุดขึ้นมาเป็นต้นไม้ใหญ่ พฤติกรรมรุนแรงและส่งผลเสียหาย ต้องมีที่มาที่ไป แต่จะไม่มี 1 คำตอบเดียว ไม่ได้มีสาเหตุเดียว การจะบอกว่าเป็นเพราะเกม การเลี้ยงดู หรืออื่นๆอย่างเดียวไม่ใช่ แต่เป็นหลายปัจจัยรวมกัน
“เมื่อไหร่ที่เรากระเทือนจากเหตุความรุนแรง แล้วผลักออกข้างนอกจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าถามว่าตัวเราทำอะไรได้ เชื่อว่าสักวันจะเปลี่ยนแปลงได้ ในการดูแลคนรอบตัว และอย่ารู้สึกว่าทำไม่ได้”ผศ.ณัฐสุดากล่าว
สิ่งที่สังคมทำร่วมกันได้ คือ
1.เริ่มสังเกตการใช้ความรุนแรงของเด็กๆ หรือของคนที่ดูแล ถ้าเด็กมีการกระทำรุนแรงกันและกัน ไม่ควรปล่อยไว้ ต้องบอกให้เขารู้
2.รับฟัง มีงานวิจัยที่ทำในไทยด้วยการสัมภาษณ์เด็กมัธยมที่เคยถูกไซเบอร์บูลลี่ สิ่งสำคัญที่ช่วยได้เมื่อรู้สึกว่าถูกกระทำ คือเมื่อสื่อสารแล้วมีคนรับฟัง ไม่ได้มองเป็นเรื่องเล็กน้อย การตอบสนองต่อความรุนแรงจึงผันไปเป็นการตอบสนองอย่างเหมาะสม มีการสื่อสาร มีการแสวงหาการช่วยเหลือ
3.คนใกล้ชิดควรสังเกตกิจกรรมบางอย่างที่เด็กทำแล้ว อาจเป็นการใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่สื่อถึงความรุนแรงหรือมีสัญญาณบอกบางอย่างที่ต้องจับสัญญาณนั้นให้ได้ แล้วสอนอย่างเหมาะสม จะช่วยได้
“การจะหยุดความรุนแรงในบ้านเราได้ คือ การมีผู้ใหญ่ที่รับฟัง เริ่มจากการความเข้าใจที่มีให้กับคนใกล้ตัวเรา และส่วนตัวมีภาพหวังว่าถ้าครอบครัว โรงเรียน เป็นมาตรฐานเดียวกันว่าไม่โอเคกับความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งกาย วาจาหรืออะไรก็ตาม น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งทุกวันนี้เพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้กันพอสมควร ”ผศ.ณัฐสุดากล่าว