ถอดรหัสพันธุกรรม คลายความลับโรคหัวใจ กับ 'นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ'
เปิดเส้นทางชีวิต "นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ" จากความสุขที่ได้ศึกษาร่างกายมนุษย์ตั้งแต่วัยเรียน สู่แพทย์ผู้ตรวจพันธุกรรมและโรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
ท่องไปในอวกาศดำมืด ดำดิ่งลงไปในมหาสมุทร สิ่งที่ทำให้มนุษยชาติทะเยอทะยานในการค้นหาคำตอบแห่งความลับต่างๆ ก็เพื่อก้าวพ้นขอบเขตแห่ง "ความไม่รู้" เช่นเดียวกับความซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ ที่ในปัจจุบันองค์ความรู้ทางการแพทย์ยังไม่อาจไขทุกคำตอบได้ สิ่งที่เราค้นพบในตอนนี้อาจเป็นเพียงเสี้ยวของความลับอีกมหาศาลก็เป็นได้
ความพิศวงและความต้องการหาคำตอบ ทำให้ "นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ" อายุรแพทย์หัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ และเป็นผู้ตรวจพันธุกรรมและโรคหัวใจ (Polygenic Risk Score) แห่ง โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีความสุขกับการศึกษาความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงปัจจุบัน
เทคโนโลยีวินิจฉัยโรคหัวใจ จาก 2 มิติ สู่ 3 มิติ
แม้จะใช้เวลาในการเรียนแพทย์รวมกว่า 12 ปี แต่ความสนใจศึกษาด้านอายุรศาสตร์หัวใจยังไม่จบในหลักสูตรเท่านั้น "นพ.ชาติทนง" ยังต้องการต่อยอดความรู้ในด้านนี้เพิ่มเติม
รพ.หัวใจกรุงเทพ ถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เขานึกถึงในด้านความเชี่ยวชาญในการตรวจรักษามาตรฐานสากล จึงตบเท้าเข้าเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ของที่นี่
หลังทำงานได้ 2 ปี เขาตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านอายุรกรรมหัวใจ ที่ The University of Chicago สหรัฐอเมริกา ในด้านการวินิจฉัยหัวใจโดยการใช้ภาพทั้งหมด (Cardiovascular Imaging) ไม่ว่าจะเป็นการทำเอคโคหัวใจ (Echo) หรืออัลตราซาวด์หัวใจ และการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography)
เมื่อการเรียนคือความสนุก
ย้อนกลับไปในช่วงชีวิตวัยเด็ก แม้ว่าทางครอบครัวของเขาจะไม่เคยเอ่ยปากอยากให้ลูกต้องเป็นหมอ เพื่อจะได้มีหน้าที่การงานที่ดี มีชีวิตมั่นคง ตามค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนในยุคนั้น แต่เจ้าตัวกลับอยากท้าทายความสามารถตัวเอง
เด็กหนุ่มจากจังหวัดเชียงรายที่ผลการเรียนดี ใช้วิธีการสอบเทียบจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เร็วแซงหน้าเพื่อนร่วมรุ่นไปหลายปี จึงลองนำคะแนนยื่นคณะที่เข้ายากที่สุดคณะหนึ่ง และได้ก้าวเข้าสู่ชีวิตนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
"ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ผมรู้สึกอะเมซิงกับร่างกายมนุษย์มากๆ มันทำงานอย่างไร แต่ละระบบเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด ระบบอะไรเสีย แล้วจะทำให้อะไรเสียตาม เพื่อนๆ อาจจะบ่นว่าเรียนหนัก เครียด แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ใช่การเรียน ผมยิ่งไม่รู้ ผมยิ่งชอบ ยิ่งสนุก ต้องการค้นหาคำตอบว่ามันคืออะไร"
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชีวิตการเรียนแพทย์ในปีสุดท้าย เขาจึงเริ่มสนใจศึกษาด้านอายุรศาสตร์ที่เป็นศาสตร์แห่งการรักษาแบบองค์รวม และหลังจากนั้นจึงตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเช่นเดิม ก้าวสู่การเป็นนายแพทย์เต็มตัวในวัยเพียง 22 ปี
หลังจากเรียนอายุรศาสตร์อีก 4 ปี ในช่วงปีที่ 3-4 เขาเริ่มตระหนักว่า ระบบที่สัมพันธ์กับระบบอื่นในร่างกายมากที่สุดคือหัวใจ จึงเริ่มมั่นใจว่าอยากเป็นหมอหัวใจ จึงเลือกศึกษาต่อที่สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography)
"ตอนนั้นผมสนใจด้านภาพสามมิติ ทางด้านการทำอัลตราซาวด์หัวใจ แต่ ณ วันนั้นที่เลือกเรียนที่ชิคาโก เพราะโรแบร์โต แลง เป็นคนที่เขียนหนังสือด้านภาพ 3 มิติ จึงเป็นครูของผม การเรียนที่นั่น 2 ปีเศษ ทำให้ได้ศึกษาเทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้น จากภาพ 2 มิติ เป็น 3 มิติ ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน"
จากประสบการณ์การศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ "นพ.ชาติทนง" มีทักษะที่โดดเด่นในด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ 3 มิติ หลังจบการศึกษาจึงได้นำเทคนิคเหล่านี้มาบูรณาการเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินัจฉัยแก่ผู้ป่วยที่ถือเป็นด่านแรกในการคัดกรอง โรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
ขดเกลียวพันธุกรรม รู้ทันโรคหัวใจ
เมื่อโลกก้าวสู่ยุคของการดูแลสุขภาพเชิงรุก การรักษาเมื่อมีอาการป่วยแล้วจึงอาจสายเกินไป สำหรับโรคหัวใจยังมีอีกศาสตร์เชิงป้องกันคือ การทำ Genetic Test เพื่อค้นหาจุดกำเนิดของยีนที่อาจเป็นเบื้องหลังการเกิดโรคภัยต่างๆ ได้ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลอีกหนึ่งแห่งที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจพันธุกรรมและโรคหัวใจ (Polygenic Risk Score) เป็นการตรวจทางพันธุกรรมเฉพาะรายบุคคลเพื่อวิเคราะห์ผลของยีนที่มีผลต่อการเกิดโรค
นพ.ชาติทนง กล่าวว่า การตรวจ Polygenic Risk Score สามารถค้นหาตำแหน่งของยีนที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจได้ อาทิ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคหัวใจได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค เพื่อการวางแผนดูแลสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป
"เมื่อเราคลี่ยีนของคนคนหนึ่งออกมาว่ามีจำนวนสนิป หรือจุดที่ทำให้เจอโรคมากหรือน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าเราเจอสนิปที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่ามาตรฐานก็พบว่า คนคนนั้นมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าคนทั่ว แล้วถ้าคนนั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น หันมาออกกำลังกาย คุมอาหาร ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงจนอาจไม่ป่วยได้"
นอกจากนี้ การตรวจยีนยังทำให้สามารถรู้โอกาสในการสนองตอบต่อยาแต่ละประเภทที่ทำให้การรักษาพุ่งเป้าไปได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีอีกประการที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน โดยการตรวจยีนเป็นสิ่งที่ทำเพียงครั้งเดียวแต่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต เพราะยีนไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีเงื่อนไขด้านอายุของผู้ตรวจ แต่หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วยก็สามารถมาตรวจเพื่อหาข้อบ่งชี้ได้
อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ด้านยีนยังมีข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการศึกษาด้าน human genome project ที่เกี่ยวข้องกับยีนปกติของมนุษย์จะเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของมนุษย์ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้า ทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ตรวจวินิจฉัยแบบองค์รวม
การตรวจยีนอาจดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่แน่นอนว่ามีวิธีการอื่นๆ ที่ให้ผลได้ชัดเจนในปัจจุบันสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ โดย รพ.หัวใจกรุงเทพ มีศักยภาพในการตรวจรักษาแบบองค์รวมกับทางเลือกการตรวจหลากหลายรูปแบบ ด้วยความพร้อมของทีมแพทย์ บุคลากร และเครื่องมือต่างๆ
"ผมว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้การตรวจรักษาของรพ.หัวใจกรุงเทพ มีประสิทธิภาพคือ การสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ที่ขั้นตอนไหนของการรักษาก็ตาม เราสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างดี ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สามารถพูดคุยตอบคำถามในสิ่งที่ผู้ป่วยสงสัยให้คลี่คลาย พร้อมอธิบายถึงทางเลือกต่างๆ ในการรักษาอย่างชัดเจน เพื่อหาทางรักษาร่วมกัน"
ทำให้ตลอดเส้นทาง 12 ปี ในการทำงานที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ ของ "นพ.ชาติทนง" เป็นการทำงานที่ได้ใช้องค์ความรู้เชิงป้องกัน พร้อมการตรวจวินิจฉัยแบบละเอียด รอบด้าน โดยไม่เร่งตัดสิน เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
"โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเกี่ยวข้องเยอะ องค์ความรู้วันนี้อาจเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีข้างหน้า การตรวจโรคนี้จึงเป็นความท้าทายของผมที่จะต้องมองให้ครบ รอบด้าน ต้องศึกษาข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมตลอดชีวิตการทำงาน" นพ.ชาติทนง กล่าวทิ้งท้าย