5 นิสัยไม่น่ารักของ 'น้องหมา' ที่เจ้าของต้องกุมขมับ
มวล. เผยผลวิจัย 5 อันดับแรก ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ 'น้องหมา' ไทย ที่พบได้มากกว่า 80% พร้อมแนวทางแก้ไข ลดความเครียด ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ส่งเสริมน้องหมาให้แข็งแรง สุขภาพดี
ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการเลี้ยงสุนัขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่หากสุนัขถูกเลี้ยงดูแบบไม่ถูกต้อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้น้องหมาเกิดปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ เช่น การทิ้งน้องหมา การทำทารุณกรรมสัตว์ คนถูกกัด และอุบัติเหตุจากการเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญความรู้เกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมน้องหมาในประเทศไทยนั้นยังขาดแคลน
ทีมวิจัยพฤติกรรมสัตว์และความสัมพันธ์กับมนุษย์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน หัวหน้าสถานวิจัยฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สพ.ญ.วรกาญจน์ บุญเหาะ และทีมงานนักวิจัยจึงได้ทำวิจัยสำรวจพฤติกรรมของสุนัขและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผ่านเจ้าของสุนัขทั่วประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ มีสุนัขที่ถูกประเมินพฤติกรรมกว่า 2,000 ตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 ไอเท็มสุดหรูสำหรับ 'สัตว์เลี้ยงไฮโซ'
- นอนกับ ‘หมา-แมว’ หลับสบาย หรือ ทำลายคุณภาพการนอน
- เปิดเทรนด์คนรักสัตว์เลี้ยง ทำไม?..ทาสแมวมาแรง! จ่อแซงน้องหมา
5 พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของน้องหมา
โดยผลการวิจัยพบว่า ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่พบได้มากกว่า 80% ของสุนัขที่เลี้ยงในประเทศไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
1) พฤติกรรมตื่นเต้นมากเกินไป เช่น การกระโดดใส่เจ้าของ เอาเล็บข่วนที่ขาเจ้าของ ส่งเสียงดังเมื่อดีใจหรือตื่นเต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นได้กับสุนัขทำหมันแล้ว อายุน้อย อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้น และกินอาหารดิบ
2) พฤติกรรมติดเจ้าของหรือการเรียกร้องความสนใจ มักเกิดขึ้นได้กับสุนัขเด็ก การให้อาหารต่อวันบ่อย และยังไม่ได้ทำหมัน
3) พฤติกรรมชอบวิ่งไล่ พฤติกรรมนี้อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนและการทำร้ายกันได้
4) พฤติกรรมก้าวร้าว (ดุ) โดยผลการวิจัยพบตัวผู้ก้าวร้าวกว่าตัวเมีย สุนัขตัวเล็กมักมีความก้าวร้าวมากกว่าตัวใหญ่ ถึงแม้สายพันธุ์อาจมีผลต่อความก้าวร้าวบ้างแต่การดูแลเลี้ยงดูมีผลมากกว่า
และ 5) พฤติกรรมหวาดกลัว เช่น กลัวเสียงดัง กลัวคนหรือสัตว์แปลกหน้า พบมากในสุนัขพันธุ์เล็ก สุนัขอายุมาก เพศเมีย
วิจัย ลดพฤติกรรมไม่น่ารัก
รองศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน กล่าวว่า ทีมงานนักวิจัยได้ร่วมกันทำการทดลองเพื่อหาวิธีป้องกันและลดปัญหาพฤติกรรมดังกล่าว โดยผลการทดลองพบว่า การให้อาหารสุนัขด้วยของเล่นที่ใส่อาหาร จะช่วยลดความเครียดของน้องหมา ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะพฤติกรรมตื่นเต้นและยังเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายของน้องหมาทำให้มีสุขภาพดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่เจ้าของสุนัขอยู่ด้วยขณะให้อาหาร การมีเวลาเล่นกับสุนัข การพาไปเดินเล่น การฝึกสุนัขโดยให้รางวัลและไม่ลงโทษ สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขและเจ้าของด้วย ก็จะช่วยป้องกันการเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้
“ขณะนี้ทางทีมวิจัยฯได้ออกแบบของเล่นใส่อาหารสุนัขทำมาจากยางพารา กลิ่นวนิลา ซึ่งผ่านการทดลองวิจัยแล้วว่ามีความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นที่ชื่นชอบของน้องหมา เพื่อช่วยในการขัดฟัน ออกกำลังกาย และยังมีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ” รองศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.เติมพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากสุนัขของท่านมีปัญหาทางพฤติกรรมสามารถปรึกษาออนไลน์ ได้ที่ Facebook “คนน่ารักสัตว์เลี้ยงนิสัยดี” หรือนัดมาตรวจรักษาได้ที่ คลินิกจิตเวชสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์เล็ก ม.วลัยลักษณ์ ที่เพจ โรงพยาบาลสัตว์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ม.วลัยลักษณ์ เพื่อทำการประเมินสุขภาพจิตสัตว์เลี้ยงก่อนพบคุณหมอ สอบถามเพิ่มเติมที่โทร. 075-673902 , 075-673904