ส่อง 'การออม-เงินฝาก' คนไทย พร้อมหรือไม่ ในวัยเกษียณ

ส่อง 'การออม-เงินฝาก' คนไทย พร้อมหรือไม่ ในวัยเกษียณ

ส่อง การออม เงินฝาก คนไทย พร้อมหรือไม่ในวัยเกษียณ ? คนไทยกว่า 112 ล้านบัญชี หรือกว่า 80% ของผู้มีเงินฝาก มีเงินในบัญชีเฉลี่ยไม่ถึง 50,000 บาท ความพร้อมด้านการเงิน เพื่อการเกษียณ มีความพร้อมต่ำกว่า 40%

Key Point : 

  • แม้ผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมการออมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าอดีต แต่มีเพียง 25% เท่านั้น ที่สามารถวางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้
  • เมื่อดูตัวเลขเงินฝากของคนไทย พบว่า กว่า 112 ล้านบัญชี หรือกว่า 80% ของผู้มีเงินฝาก มีเงินในบัญชีเฉลี่ยไม่ถึง 50,000 บาท
  • ขณะเดียวกัน ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ พบว่า ตัวเลขความพร้อมด้านการเงิน ค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40%

 

จากบทความ คนไทยพร้อมแค่ไหน เรื่องจัดการเงิน โดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ จากเว็บไซต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ยกผลสำรวจของ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยในปัจจุบันที่มีเงินออม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 77.4% ของประชากรทั้งหมด โดย 47.4% เป็นการออมระยะสั้น ส่วน 52.6% เป็นการออมระยะยาว ซึ่งมีทั้งการออมเพื่อใช้จ่ายในช่วงหลังการเกษียณ การออมเพื่อการซื้อบ้าน และการออมเพื่อการศึกษาบุตร แปลว่า คนที่คิดออมเงินเพื่อเกษียณอายุก็ยังมีจำนวนที่น้อยอยู่

 

มีเพียง 25% วางแผนเกษียณ

แม้ว่าผลสำรวจนี้จะชี้ว่าคนไทยมีพฤติกรรมการออมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าอดีต แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ มีเพียง 25% เท่านั้น ที่สามารถวางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ 34.3% มีการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณแต่ไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ 21% ได้แต่คิด แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ และ 19.7% ยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเกษียณอายุเลย แปลว่าในคน 100 คนจะมีเพียงแค่ 25 คนที่จะเกษียณอายุได้ตามแผน ในขณะที่อีก 75 คนจะเกษียณอายุไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากจริงๆ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

นอกจากนี้ สิ่งที่คนไทยกังวลเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาด้านสุขภาพ (เพราะเป็นตัวการทำลายเงินออม) จากการสำรวจพบว่า คนไทยกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ 57% และกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเดินทาง 42% แต่สิ่งที่น่ากังวลใจ คือ 74% ของกลุ่มสำรวจไม่คิดว่าการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน และยังไม่สนใจทำประกันสุขภาพ มีเพียง 24% เท่านั้นที่มีการซื้อประกันสุขภาพแล้ว

 

คนไทยมีเงินฝากเท่าไร

จากข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้รายงานสถิติเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ณ เดือน ต.ค. 2566 พบว่า บัญชีเงินฝากรวมทุกประเภทของโดยแบ่งออกเป็น 12 ระดับ ดังนี้

 

1.บัญชีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท

  • รวมทั้งหมด 112.40 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 10.25 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดรวมเงินฝาก 437,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,937 ล้านบาท จากปี 2565

 

2.บัญชีเงินฝากเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

  • จำนวนบัญชี 4.103 ล้านบัญชี ลดลง 0.13 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดรวมเงินฝาก 290,236 ล้านบาท ลดลง 8,516 ล้านบาท จากปี 2565

 

3.บัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท

  • จำนวนบัญชี 3.34 ล้านบัญชี ลดลง 0.1 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 462,364 ล้านบาท ลดลง 14,552 ล้านบาท จากปี 2565

 

4.บัญชีเงินฝากเกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท

  • จำนวนบัญชี 3.13 ล้านบัญชี ลดลง 0.08 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 993,563 ล้านบาท ลดลง 14,589 ล้านบาท จากปี 2565

 

5.บัญชีเงินฝากเกินกว่า 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 163 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 3.24 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 1 169,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30,905 ล้านบาท จากปี 2565

 

6.บัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 1.77 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 0.01 ล้านบัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 4,406,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62,251 ล้านบาท จากปี 2565

 

 

7.บัญชีเงินฝากเกิน10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 1.02 แสนบัญชี ลดลง 0.01 แสนบัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 1,533,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,072 ล้านบาท จากปี 2565

 

8.บัญชีเงินฝากเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 31,660 บัญชี เพิ่มขึ้น 793 บัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 1,107,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30,536 ล้านบาท จากปี 2565

 

9.บัญชีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 14,440 บัญชี เพิ่มขึ้น 525 บัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินรวม 1,007,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,908 ล้านบาท จากปี 2565

 

10.บัญชีเงินฝากเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 6,485 บัญชี เพิ่มขึ้น 305 บัญชี จากปี 2565
  • รวมเป็นเงิน 895,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43,463 ล้านบาท จากปี 2565

 

11.บัญชีเงินฝากเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท

  • จำนวนบัญชี 3,333 บัญชี เพิ่มขึ้น 79 บัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินฝาก 1,007,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,504 ล้านบาท จากปี 2565

 

12.บัญชีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป

  • มีจำนวน 1,504 บัญชี ลดลง 74 บัญชี จากปี 2565
  • ยอดเงินฝาก 2,347,370 ล้านบาท ลดลง 299,787 ล้านบาท จากปี 2565

 

ข้อมูลจำนวนบัญชีเงินฝากของคนไทยปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยังอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยเห็นได้จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือ จำนวนบัญชีเกือบ 90% ของทั้งหมด เป็นผู้มีเงินในบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท รวมกันทั้งหมด 437,428 ล้านบาท จำนวนบัญชีมากกว่า แต่มูลค่าน้อยกว่าผู้มีเงินในบัญชีเกิน 500 ล้านบาท แม้มีจำนวนเพียง 1,504 บัญชี คิดเป็น 0.00135% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.34 ล้านล้านบาท

 

ความพร้อมเกษียณต่ำกว่า 40%

จาก 'ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ' (NRRI) โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนไทยหลังเกษียณ พบว่า ตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ขณะที่ ความพร้อมด้านสุขภาพ มีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน

 

จากการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่า จำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน

 

ผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรก คือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมา คือ ภาครัฐ ต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร

 

รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แรงงานในระบบ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท จึงอยากให้ทุกคนออมผ่านรูปแบบใดก็ได้ ในสัดส่วน 15% ของรายได้ หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่หากสูงกว่า 30% ถือว่าดี

 

สำหรับ แรงงานนอกระบบ ขอให้มีวินัยด้านการออม อาทิ การเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงเข้าสู่การออมในกองทุน โดยขอให้ปรับพฤติกรรมใหม่ สร้างวินัยการออม ไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยง ปรับสัดส่วนการออมและความสม่ำเสมอ

 

 

อ้างอิง : ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารแห่งประเทศไทย , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย