สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา “หมอชลน่าน” นำทีมผู้บริหาร สธ. แถลงรับมือผลกระทบด้านสุขภาพ จัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาล 30 จังหวัดเสี่ยงสูงและสังกัดกรมวิชาการ รวม 2,562 ห้อง
วันนี้ (25 มกราคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวนโยบายและการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2567
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตและเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หัวใจและหลอดเลือด จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป และอาจมีอาการของโรคกำเริบได้ โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) กว่า 58 จังหวัด ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน มีมากกว่า 56 ล้านคน
รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนจาก PM2.5 อย่างมาก และได้สั่งการให้หน่วยงานทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปกป้องประชาชนจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จาก สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ในปี 2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสื่อสาร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง การจัดทำ Clean Room (ห้องปลอดฝุ่น) ในชุมชน ตั้งเป้าหมายให้มีห้องปลอดฝุ่นทุกอำเภอ และให้ทีม อสม. ลงปฏิบัติการเชิงรุกให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพประชาชนเบื้องต้น ส่วนในการรักษาพยาบาล ได้จัดบริการ คลินิกมลพิษกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 90 แห่ง เพื่อให้คำแนะนำและรักษาพยาบาลผู้ป่วย
และมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลเชิงรุก มีระบบ telemedicine หรือ สายด่วนให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และให้การดูแลประชาชนได้ทันเวลาเมื่อสถานการณ์ฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับ ผลกระทบฝุ่น PM 2.5 สามารถปรึกษาหรือรับบริการได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ หรือสอบถาม สายด่วน กรมอนามัย 1478 หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8 และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงรวม 30 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าพัก เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จำนวนทั้งหมด 2,053 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 33,000 คน ประกอบด้วย
- รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 42 แห่ง จำนวน 661 ห้อง
- รพ.ชุมชน 283 แห่ง รวม 1,392 ห้อง
- อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีห้องปลอดฝุ่นของหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จำนวน 509 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 12,000 คน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อเข้ารับบริการหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
พญ.อัจฉรา กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาแทบทุกพื้นที่ และอาจจะรุนแรงกว่า จากปรากฎการณ์เอลนิญโญที่ทำให้ฝนน้อยลง ความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้ไฟป่าเพิ่มขึ้น จากการเฝ้าระวังตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ปัจจุบัน พบค่า PM2.5 เกินมาตรฐานหรือสีส้ม ถึง 54 จังหวัด และอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ สีแดง 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร หนองคาย อ่างทอง สุโขทัย พิษณุโลก กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบค่า PM2.5 สูงสุด
โดยสถานการณ์ล่าสุด วันที่ 25 มกราคม 2567 พบว่าเกินมาตรฐานทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคเหนือ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เข้มข้นขึ้น ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่
1) ส่งเสริมการลดมลพิษ/สื่อสารสร้างความรอบรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่มีโรคประจำตัว
2) ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
3) จัดบริการ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในระบบบัญชาการเหตุการณ์ และส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้เปิดศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ ประสานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลประชาชน
นพ.ธงชัยกล่าวว่า จากฐานข้อมูล Health Data Center กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค แบ่งเป็น ผู้มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการกำเริบ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบ 279,474 ราย โรคหืดเฉียบพลัน 20,052 ราย โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 5,265 ราย และประชาชนทั่วไปที่รับสัมผัสฝุ่น PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคตาอักเสบ หรือโรคผิวหนังอักเสบ และดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคภายใต้ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1) พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังโรคจากฝุ่น PM2.5 โดยพื้นที่จัดทำข้อมูลเฝ้าระวังสุขภาพจากปริมาณฝุ่น PM2.5
2) ยกระดับการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มกิจกรรมการคัดกรองโรคจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งเชิงรับและเชิงรุก และมีการสื่อสารความเสี่ยงแก่กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ
3) สร้างความรู้ สื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง
4) ขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำ หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลดการก่อฝุ่น PM2.5 อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หมั่นเช็คสภาพรถยนต์ ใช้บริการรถสาธารณะ ไม่เผาป่า หรือเผาขยะในครัวเรือน ลดการจุดธูป เทียน
ด้าน พญ.อัมพรกล่าวว่า กรมการแพทย์ได้เปิดคลินิกมลพิษแห่งแรก ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีการสัมผัสฝุ่น และให้คำแนะนำการป้องกันการเกิดอาการซ้ำจากการสัมผัสฝุ่น รวมทั้งการดูแลรักษาทั้งระบบ Onsite และ Telemedicine และสร้างเครือข่ายคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 90 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ได้พัฒนาให้เป็นคลินิกมลพิษ Online ผ่านแอปพลิเคชัน Line ซึ่งมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ ข้อมูลความรู้ในการป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งสามารถประเมินผลกระทบสุขภาพพร้อมคำแนะนำในการดูแล บรรเทาอาการเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถลงทะเบียนพบแพทย์ในระบบ Telemedicine ได้
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานคลินิกมลพิษ ช่วงปีพ.ศ. 2565-2566 พบมีผู้ได้รับการประเมินว่าเจ็บป่วยจากการสัมผัส PM 2.5 จำนวน 1,764 ราย ส่วนใหญ่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ระบบตาและระบบผิวหนัง ไม่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล