เปิด 10 วิธี เตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน ป้องกันฝุ่น PM 2.5
เปิด 10 วิธี เตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน รับมือภัยร้าย ฝุ่น PM 2.5 ดูแลตนเองและครอบครัวอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรค พร้อมแนะวิธีเลือกใช้ "หน้ากากอนามัย" ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเช็กค่าฝุ่นวันนี้ ได้ที่นี่
สถานการณ์ปัญหาเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จะเห็นได้จากช่วงนี้ ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ของเรา ถูกฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า ปกคลุมบนชั้นบรรยากาศ
จนต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากบรรดาฝุ่นที่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสโลหิต รวมไปถึงอวัยวะภายในต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคร้าย อาทิ
- โรคระบบทางเดินหายใจ
- โรคมะเร็งปอด
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดในสมอง
โดยสาเหตุหลักๆที่ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตกว่าที่คาดเนื่องจากฝุ่นเหล่านี้เป็นล้วนสารพิษอันตรายที่มีลักษณะทางกายภาพเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไร้สี ไร้กลิ่น
ซึ่งด้วยอนุภาคที่เล็กมากๆ ขนาดนี้จึงทำให้พวกมันสามารถแทรกซึมผ่านตัวกลางต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หน้ากากอนามัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
- เปิด 10 การเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัว เพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 มีดังนี้
1.) ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่
2.) สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น ที่มีประสิทธิภาพป้องกันสูงสุด เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 วิธีรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน สามารถทำได้โดยการ "สวมหน้ากาก" ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกรองโมเลกุลของฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ ซึ่งหน้ากากที่เราใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ ดังนี้
- "Surgical Masks" หรือ "หน้ากากอนามัย" ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดการปนเปื้อนของอนุภาคจากตัวผู้สวมใส่ (เช่น น้ำมูก น้ำลาย เวลาไอหรือจาม) ไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่อากาศโดยรอบและยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการกระเด็นของสารคัดหลั่งเช่น เลือด เข้าสู่บริเวณปากและจมูกของผู้สวมใส่ ได้อีกด้วย
- "Respirators" หรือ "หน้ากากกรองอากาศ" ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดการสัมผัสกับสารปนเปื้อนในอากาศขณะที่เราหายใจ ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นละออง ฝุ่นดิน แก๊ส ไอระเหย กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ซึ่งหน้ากากประเภทนี้จะมีลักษณะที่แนบกระชับกับใบหน้ามากกว่าหน้ากากอนามัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกรั่วไหลเข้ามายังบริเวณรอยต่อระหว่างหน้ากากและใบหน้าจนเกิดการปนเปื้อนนั่นเอง
การสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้หน้ากากกรองอากาศเพื่อประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยควรเลือกใช้ตั้งแต่ชนิด N95 ที่เป็นหน้ากากกรองอากาศที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เล็กถึง 0.3 ไมครอน
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ควันจากท่อไอเสีย แก๊ส และไอระเหยจากสารเคมี รับรองว่าหน้ากากชนิดนี้เอาอยู่ได้ทั้งหมด
3.) ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ
4.) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผัดบรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอทลวก บรอกโคลีลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
5.) ทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน โดยเฉพาะจุดที่สะสมฝุ่น เช่น แอร์ พัดลม มุ้งลวด เครื่องนอน และเน้นการทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ
6.) หมั่นตรวจเช็กบ้าน ปิดช่องหรือรู ตามขอบประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่ให้เข้ามาในอาคารในช่วงฝุ่นสูง
7.) วันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน
8.) สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
9.) สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
10.) ช่วยกันลดฝุ่น PM2.5 เช่น ลดการปิ้งย่างที่ใช้เตาถ่าน งดจุดธูปเทียนทั้งภายในและภายนอกอาคาร งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ รวมถึงร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง
สำหรับ ค่าฝุ่นวันนี้ ค่าฝุ่นกรุงเทพฯ (25 ม.ค. 67) เวลา 05.00 - 07.00 น. ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงาน สถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝุ่นพิษ
ตรวจวัดได้ 21.2 - 38.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) พบว่า เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 1 พื้นที่ คือ เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 38.8 มคก./ลบ.ม.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)