‘วราวุธ’ ชู 5 เสาหลัก 25 มาตรการ แก้วิกฤติประชากร สร้างสังคมน่าอยู่
"วราวุธ" ชู 5 เสาหลัก 25 มาตรการ แก้วิกฤตประชากรไทย สร้างสังคมน่าอยู่สำหรับทุกคน ตั้งแต่เกิด สูงอายุ จนเสียชีวิต เร่งทำสมุดปกขาว ชงครม. ก่อนนำเสนอเวที UN
KEY
POINTS
- "วราวุธ" ชู 5 เสาหลัก 25 มาตรการ แก้วิกฤติประชากรไทย สร้างสังคมน่าอยู่สำหรับทุกคน ตั้งแต่เกิด สูงอายุ จนเสียชีวิต
- มาตรการ "เด็กเล็ก" ทำได้ทันที เพิ่มฐานเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปีที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จาก 2.3 ล้านคน เป็น 4 ล้านคน
- เร่งจัดทำสมุดปกขาว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 ก่อนนำเสนอเวที UN ต่อไป
วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย Workshop 5 กลุ่ม ในรูปแบบ World Café
ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน ได้ร่วมกันระดมความคิดอย่างเต็มที่ เพื่อกำหนดมาตรการสำคัญ เร่งด่วน ในการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้
1) กลุ่มวัยทำงาน
มุ่งเสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ
- พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill / Upskill) กระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน
- ส่งเสริมการออมภาคบังคับ
- ส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและครอบครัว อาทิ จัดหรือหาบริการดูแลเด็กปฐมวัย - ผู้สูงอายุช่วงกลางวัน
- สวัสดิการลาเพื่อดูแลบุตร ทำงานแบบยืดหยุ่นไม่จำกัดสถานที่
- ส่งเสริมบทบาทชายหญิงร่วมกันดูแลครอบครัว เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“วราวุธ” ชู 5 นโยบายเร่งด่วน พัฒนาครอบครัวไทย ฝ่าวิกฤติประชากร
กางแผนรัฐบาลจีน แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ-ปรับสวัสดิการผู้สูงอายุ
คนแก่ผู้สูงอายุ ขอเงินซ่อมแซมบ้านได้ 40,000 บาท เช็กที่นี่
2) กลุ่มเด็กและเยาวชน
มุ่งเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน “เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ
- การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง
- ดูแลสุขภาพกายและใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์
- จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน รับเด็กอายุน้อยลง โดยชุมชนช่วยจัดการ
- พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพตามวัย
- ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3) กลุ่มผู้สูงอายุ
มุ่งสร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ
- ส่งเสริมการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค
- ส่งเสริมการจ้างงานและขยายอายุเกษียณ
- ส่งเสริมการมี Digital Literacy
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
- ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการเดินทาง
4) กลุ่มคนพิการ
มุ่งเพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ
- เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพิ่มการจ้างงานในทุกภาคส่วน
- ส่งเสริมพลังของคนพิการ
- ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ป้องกันการพิการแต่กำเนิดและการพิการทุกช่วงวัย
- ส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ
- ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ โดยใช้หลักการ Universal Design
5) กลุ่มระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัว
มุ่งสร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ ได้แก่
- Family support services: ระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึง
- การสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย (Community for all)
- การสร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) ทุกกลุ่มเป้าหมาย
- การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน
- ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วยการหยุดทำร้ายธรรมชาติ และส่งเสริม Green Economy
"5 เสาหลัก 25 มาตรการนี้ กระทรวง พม. ถือว่าเป็น Blueprint ของไทยในการเดินไปข่างหน้า มีนโยบายมากมายไม่ว่าจะเศรษฐฏิจ การท่องเที่ยว แต่พวกเราชาว พม. เชื่อมั่นว่าหากจะเดินไปข้างหน้าได้ บ้านของเรา สังคมของเราทุกคน ตั้งแต่เกิด สูงอายุ จนเสียชีวิต จะต้องเป็นสังคมที่น่าอยู่ มั่นคง สร้างความหวังให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเจน Z และ เจน Alpha ที่จะเติบโตมาโดยเห็นสังคมไทยมีความหวัง และนำไปสู่การมีครอบครัว เพิ่มจำนวนประชากรจะเกิดขึ้น หัวใจสำคัญ คือ ในวันนี้มากกว่าการเพิ่มจำนวนประชากร คือ เปลี่ยนสังคม จากปัจจเกบุคคล ไปสู่การสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความรัก อบอุ่น"
"สำหรับมาตรการที่ กระทรวง พม. สามารถทำได้เลย คือ กรณีเด็กเล็ก เมื่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เห็นชอบเพิ่มฐานเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปีที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จาก 2.3 ล้านคน เป็นแบบถ้วนหน้าเพื่อเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี กว่า 4 ล้านคน"
แก้ปัญหาเจนฯ เดอะแบก
ขณะเดียวกัน ในอนาคตที่มีวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากขึ้น เจน Z จะกลายเป็นเจนเดอะแบกนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับการเคหะแห่งชาติ ในการจัดหาบ้านที่ดีสำหรับคนทำงานใหม่ ปรับปรุง หาสถานที่พักอาศัยที่จับต้องได้ มีคุณภาพดี รวมไปถึง การ Empower ผู้สูงอายุ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุ มีงานทำ โอกาสใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ รักษาพยายามก็จะลดลง เจนเดอะแบกจะเบาลง
เร่งจัดทำสมุดปกขาว
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการสำคัญ เร่งด่วน ทั้งหมดที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทางกระทรวง พม. จะนำไปจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567
จากนั้นจะไปเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567 ต่อไป