พม. เร่งแก้วิกฤติ เด็กเกิดน้อย เตรียมรับ 'สังคมสูงวัย' 5 มิติ
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. เดินหน้าแก้วิกฤติ เด็กเกิดน้อย เตรียมรับสังคมสูงวัย ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และ เทคโนโลยี ส่งเสริม Aging in place ผู้สูงอายุสามารถอยู่ที่บ้านได้นานที่สุดจนระยะท้าย
KEY
POINTS
- คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super - aged Society)” คือ มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ
- กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. เตรียมรับสังคมสูงวัย ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และ เทคโนโลยี
- ส่งเสริม Aging in place ผู้สูงอายุสามารถอยู่ที่บ้านได้นานที่สุดจนระยะท้าย สร้างเครือข่ายดูแลในชุมชน ดึงภูมิปัญญา ต่อยอดอาชีพ เพิ่มคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete - aged Society) คือ มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super - aged Society)” คือ มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ
ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือน ธ.ค.66 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุแยกรายภาค ได้แก่
- ภาคกลาง มีผู้สูงอายุ 5,201,324 คน คิดเป็นร้อยละ 39.82
- ภาคตะวันออกเฉียง 4,131,668 คน คิดเป็นร้อยละ 31.62
- ภาคเหนือ 2,112,408 คน คิดเป็นร้อยละ 16.17
- ภาคใต้ 1,619,529 คน คิดเป็นร้อยละ 12.39
จังหวัดที่มีผู้สูงอายุสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
- ลำปาง (ร้อยละ 26.20)
- แพร่ (ร้อยละ 25.75)
- ลำพูน(ร้อยละ 25.67)
ขณะที่ จังหวัดที่มีผู้สูงอายุต่ำสุด 3 อันดับท้าย คือ
- นราธิวาส (ร้อยละ 12.23)
- ปัตตานี (ร้อยละ 12.56)
- ยะลา (ร้อยละ 12.80)
ส่วน กทม. มีผู้สูงอายุร้อยละ 21.62 เป็นลำดับที่ 16
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารเวลา (Time bank) 'ออม' ไว้ใช้ในยามชรา
- ไทยก้าวสู่ 'สังคมสูงวัย' ระดับสุดยอด กระทบตลาดแรงงาน
- สังคมสูงวัย ‘กับดัก’ ฉุดเศรษฐกิจ
สูงวัยเพิ่มกว่า 1 ล้านคน
“แรมรุ้ง วรวัธ” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การมีผู้สูงอายุมาก เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะมีเรื่องของประชากรซึ่งอยู่ในภาวะพึ่งพิงวัยแรงงาน ดังนั้น จึงต้องปรับวิธีการว่าจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร
“พอพูดถึงโครงสร้างประชากรไทย ผู้สูงอายุมากไปตามจำนวนประชากรที่เกิดมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่มีปัญหา คือ เรามีประชากรเกิดใหม่น้อยลงมาก โดยปีที่ผ่านมา เด็กเกิดใหม่เพียง 5.4 แสนคน กลายเป็นว่า วัยเด็กน้อยลงมาก และผู้สูงอายุที่พึ่งพิงวัยแรงงานก็จะมากขึ้นตามลำดับเป็นมิติเรื่องของโครงสร้าง”
ความท้าทายเมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยน คือ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 9 แสนคน ในแต่ละปี ขณะที่เด็กเกิดใหม่เพียง 5 แสนคน และ ปี 2567 – 2568 จะเป็นปีที่ประชากรสูงอายุเพิ่มมากถึงปีละ 1 ล้านคน เนื่องจากย้อนกลับไป 60 ปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนการมีบุตร
5 ความท้าทาย สังคมสูงวัย
อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวต่อไปว่า พอพูดถึงโครงสร้างประชากร ข้อท้าทายหนึ่ง คือ ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จนถึงไม่มีรายได้ กว่า 5.3 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ไปจดทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ บางรายมีหนี้สิน และไม่มีเงินออม มิติตรงนี้เป็นข้อที่น่าห่วงใยพอสมควร
ถัดมา คือ ด้านสังคม ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัด หรือแยกครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 12% ผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันเอง 24% อยู่ในภาวะที่ขาดผู้ดูแล นอกนั้นยังมีผู้สูงอายุที่ถูกผลกระทบจากความรุนแรงของคนในครอบครัว ทำร้าย หรือกระทั่งเอาผู้สูงอายุไปทิ้ง ทั้งที่โรงพยาบาล หรือไว้ที่บ้านดั้งเดิมแล้วไม่กลับมาดูแล
ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดสังคม ยังออกไปเข้าสังคม เข้าวัด ทำบุญ กว่า 95% ถัดมา กลุ่มติดบ้าน ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ในบ้าน แต่ออกจากบ้านไปไม่ได้ ต้องมีคนพาไป กลุ่มนี้จะมีภาวะที่อาจจะถอยไปเป็นคนติดเตียงได้ หรือ กลับมาติดสังคมได้ หากมีระบบเข้าไปดูแลดีๆ สุดท้าย กลุ่มติดเตียง ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในมิติสุขภาพ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการดูแล
นอกจากนี้ ยังมีภาวะสมองเสื่อม จากการประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้สูงอายุสมองเสื่อมกว่า 7.7 แสนคน รวมถึงมีภาวะเหงา ซึมเศร้า จากที่เคยทำงานเริ่มรู้สึกไร้คุณค่า โดยคนที่มีภาวะนี้เกือบ 1 ล้านคน อีกทั้ง ยังมีข้อมูลส่วนหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุมีความพิการ สุขภาพถดถอย จนกระทั่งเคลื่อนไหวลำบาก จนถูกประเมินว่าพิการ
ด้านสภาพแวดล้อม บ้านมีสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่ไม่มั่นคง เช่น บางคนไม่มีเตียง มีโอกาสล้ม เวียนศีรษะขณะลุกยืน หรือพลัดตกหกล้มในบ้าน รวมถึง ห้องน้ำที่ยังเป็นส้วมซึม ไม่มีราวจับ พื้นเปียก อาจทำให้หกล้ม ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ติดเตียงได้
ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “โลกออนไลน์” ผู้สูงอายุบางครั้งรู้ไม่เท่าทันสื่อ ถูกหลอกให้ซื้อของไม่มีคุณภาพ ทำบุญ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก อีกส่วน คือ “นวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ” บ้านเรายังไม่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการนวัตกรรม
เตรียมพร้อมทุกกลุ่ม รับสูงวัย
ทั้งนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเลขานุการในการขับเคลื่อนแผนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ เริ่มจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุชัดเจนว่า ต้องมีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ รวมถึงการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และส่งต่อไปยังแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายกระทรวง พบว่า การขับเคลื่อนหรือทำงานเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ต้องทำงาน 2 ส่วน คือ กลุ่มที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี และ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นแผนบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวง
สำหรับ “กลุ่มที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี” เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในช่วงวัย 25 – 59 ปี ให้ความรู้ อบรม เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การทำงาน ยกระดับภูมิปัญญาขึ้นมาเป็นอาชีพ และกองทุนผู้สูงอายุเข้าไปสนับสนุน
ขณะที่ “กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป” ทำงานกับ 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่ม Active Aging กลุ่มที่มีพลัง สนับสนุนให้มีพื้นที่ที่อยู่ในชุมชน ในการออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมที่กรมกิจการผู้สูงอายุทำงานในพื้นที่กับท้องถิ่นเพื่อที่จะให้มีโครงสร้างอาคาร ให้ผู้สูงอายุมาทำกิจกรรม มีกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น สุขภาพ การถ่ายทอดภูมิปัญหา ให้ความรู้ การรู้เท่าทันสื่อ กฎหมาย เตรียมความพร้อมก่อนที่จะจากไป เช่น เรื่องของมรดก การวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองในระยะท้าย รวมถึง ผู้สูงวัยมีความเป็นจิตอาสา เป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม
ถัดมา 2. กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน มีการยกระดับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เสริมความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องผู้สูงอายุ โดยมีการอบรมอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ เข้าไปทำหน้าที่จิตอาสา ในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะที่สามารถดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง และดูว่าลูกหลานสามารถดูแลได้หรือไม่ หรือต้องมีกลไกชุมชนเข้ามาสนับสนุน
สุดท้าย 3. กลุ่มติดเตียง เน้นในเรื่องของการสงเคราะห์ เช่น หากอยู่ในสภาวะยากลำบาก ยากจน ไม่มีใครดูแล จะมีการสนับสนุนสงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่าย และมีผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเข้ามาสนับสนุนการนำสวัสดิการต่างๆ ให้ผู้สูงอายุและครอบครัว โดยในปีนี้ มีโครงการใหม่เรื่องของ “ครอบครัวอุปถัมภ์” โดยสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกหลาน หรือสมาชิกในชุมชน ที่พอจะดูแลผู้สูงอายุได้แต่ไม่มีรายได้ กรมฯ จะสนับสนุนตรงนี้ นอกจากนี้ เมื่อถึงระยะท้าย หากเสียชีวิต แต่ยากจน จะมีการสนับสนุนค่าจัดการศพ ไม่ว่าจะศาสนาใด
ดูแลระยะยาว 5 มิติ
อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระยะยาว ในการดูแลผู้สูงอายุให้ยั่งยืน อย่างแรก คือ ต้องทำให้ชุมชน มีความพร้อมมากที่สุดในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยากจะใช้บั้นปลายที่บ้านตัวเอง จึงมีโครงการ Aging in place ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ที่บ้านได้นานที่สุดจนระยะท้าย
ขณะเดียวกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน นำร่อง 12 จังหวัด รับสมัครคนที่อยู่ในชุมชนที่มีใจอยากจะดูแลผู้สูงอายุเข้าอบรมรอบแรก 40 คน เพื่อจะเป็น “นักบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” และจะเริ่มอบรมในเดือนมีนาคม 2567 โดยเดินหน้าทำงานครอบคลุมทั้ง 5 มิติสูงวัย ดังนี้
มิติสุขภาพ กรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าไปเสริมในเรื่องการทำงาน เช่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านผู้สูงอายุ กว่า 55,000 กว่าคน , หลักสูตรมาตรฐานดูแลผู้สูงอายุ 18 ชั่วโมง , อบรม Care Giver 48,000 กว่าคน และยกระดับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้เป็น Day care นำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี และตรัง และจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต
มิติสังคม เน้นให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่ในการทำกิจกรรม ได้แก่ โรงเรียนผู้สูงอายุ ปัจจุบัน มี 2,400 กว่าแห่ง และมีนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุมากกว่า 1.7 แสนคน , ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2,064 แห่ง และขยายเพิ่มทุกปี รวมถึง อาสาสมัครธนาคารเวลา , ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านไม่ได้ ครอบครัวไม่ดูแล หรือใช้ความรุนแรง ดูแลไม่เป็น ต้องนำผู้สูงอายุเข้ามาดูแลภายในศูนย์ฯ
มิติเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เครือข่ายไปจ้างงานผู้สูงอายุ หรือ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ยังมีภูมิปัญญา ยกระดับภูมิปัญญาตัวเอง โดยล่าสุด มีการสำรวจ Soft power ที่มาจากภูมิปัญญาผู้สูงอายุ รวบรวมได้มากกว่า 700 ประเภท อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนด้านเงินทุนในการประกอบอาชีพ ใช้เงินกองทุนผู้สูงอายุ กู้ยืมได้คนละ 30,000 บาท ไม่มีดอกเบี้ย และดูแลเรื่องโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือหากรวมกลุ่มกันจะสามารถกู้ยืมได้ไม่เกิน 100,000 แสนบาท ที่ผ่านมา มีการสนับสนุนไปกว่า 1.3 แสนราย และมีกลุ่มอาชีพที่ประสบความสำเร็จหลากหลายกลุ่ม
มิติเรื่องของสภาพแวดล้อม ปรับสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัย เช่น ทางลาด ราวจับ ซ่อมหลังคา ปรับเตียงให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชน สนับสนุนอุปกรณ์ในการช่วยเดิน และอบรมคนที่มีทักษะเรื่องช่างชุมชน ให้เป็นช่างชุมชนกว่า 1,138 ราย ช่วยซ่อมบ้านไปแล้วกว่า 34,272 หลัง
มิตินวัตกรรมเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทำหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ และ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยถูกหลอกทางออนไลน์